หมดยุคเฟื่องฟูสื่อทีวี: 5 ปีสุดท้าย ใครจะต่อสัมปทานบ้าง

สัมภาษณ์พิเศษ ดร.นิพนธ์ ตั้งแสงประทีป หมดยุคเฟื่องฟูสื่อทีวี: 5 ปีสุดท้าย ใครจะต่อสัมปทานบ้าง แล้วเรียน‘นิเทศศาสตร์’ ยังจำเป็นอยู่ไหม

อุตสาหกรรมทีวี(รอด)แค่บางช่อง คนทำสื่อต้องปรับตัวหนัก

ท่ามกลางการปลดพนักงานข่าวในวงการทีวีจำนวนมากมายหลายช่อง ทำให้หลายคนจับตามองอุตสาหกรรมทีวีที่กำลังจะเข้าสู่ 5 ปีสุดท้ายของการประมูลทีวีดิจิทัลในรอบแรกและรอบต่อไป รวมถึงอนาคตวงการสื่อว่าจะมีทิศทางอย่างไร 

brand inside สัมภาษณ์  “ดร.นันท์วิสิทธิ์ ตั้งแสงประทีป” อาจารย์ประจำหลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือที่คนในวงการวิชาชีพสื่อมวลชนรู้จักกันในชื่อ “นิพนธ์ ตั้งแสงประทีป”

ทีวีดิจิทัลรอบแรกละลายทรัพย์ เหลือ 5 ปีสุดท้าย เริ่มตัดเนื้อร้ายทิ้ง

ปัจจุบันผู้ประกอบกิจการที่ประมูลช่องทีวีดิจิทัล เหลือเวลาอีกประมาณ 5 ปีก่อนจะหมดสัมปทาน ซึ่งตลอดระยะเวลา10 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบกิจการแต่ละช่องก็เห็นกันแล้วว่ารายได้ กำไร และขาดทุนเป็นอย่างไร 

นี่คือปัจจัยสำคัญที่จะใช้ในการตัดสินใจว่าจะไปต่อหรือไม่ 

ต้องยอมรับว่า ทีวีหลายช่องผู้ประกอบกิจการก็ประมูลมาด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ประกอบกิจการที่มีธุรกิจอื่นของตัวเองที่มีการโฆษณาสินค้าในธุรกิจของตัวเอง นอกเหนือจากการหารายได้จากโฆษณาทางตรง ก็จะถูกประเมินออกมาเป็นค่าโฆษณาที่เคยต้องเสียไปกับสื่ออื่นๆ

ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายอาจมีรายได้ทางตรงจากเม็ดเงินโฆษณาเพียงอย่างเดียว ดังนั้นผู้ประกอบการแต่ละช่องน่าจะมีการประเมินการได้รายได้จากระยะเวลาที่เหลือแล้ว จึงตัดสินใจลดจำนวนคนเลิกจ้างอย่างสถานการณ์ที่เห็นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา 

ประเมิน: ช่องที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนจะไปต่อ แต่ตัวแปรคือ ‘ค่าเช่าสัมปทานรอบใหม่’

ดร.นันท์วิสิทธิ์ มองว่า ผู้ประกอบกิจการที่มีช่องเป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินธุรกิจ 100% เช่นช่อง 3, ช่อง 7, ช่อง 9 จะต้องมีสัมปทานต่อเนื่อง ก็แปลว่าไปต่อ 100%

ส่วนกลุ่มที่มีเป้าหมายชัดเจนและสามารถผลิตเนื้อหาของตัวเองได้ เช่น ช่องเวิร์คพอยท์ หรือโมโน ทั้งสองช่องเข้าค่ายน่าจะไปต่อเช่นกัน 

แต่สำหรับช่องที่มีธุรกิจเดิมเช่นเคยเป็น Content Provider น่าจะเลือกที่คงเหลือไว้เพียงช่องเดียว 

ในขณะที่เจ้าของธุรกิจอื่น เช่น เจ้าของโรงพยาบาล มีโอกาสสูงที่จะไม่ไปต่อ เนื่องจากที่ผ่านมาหลงทางกับการทุ่มเม็ดเงินไปค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกับเนื้อหาประเภทกลุ่มข่าว หรือช่องที่น้ำเมาเข้ามาถือหุ้นภายหลัง ก็อยู่ในกลุ่มที่จะไม่ไปต่อเช่นกัน 

ส่วนช่องที่ประกาศตัวเป็น ‘ช่องข่าว’ อย่างช่องสีเขียว ที่ใช้วิธีกู้เงินมาลงทุน 100% แทนการใช้เงินกงสีแม้จะประกาศไปต่อ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าผลกำไรที่ได้กับกิจการสื่อเดิมคือ ‘สื่อสิ่งพิมพ์’ จะไปในทิศทางใด 

เช่นเดียวกับค่ายมหาชนที่น่าจะไปต่อเพราะมีธุรกิจสื่อหลายหัวรวมอยู่ในเครือเดียวกันจากการเป็นเจ้าพ่อเทคโอเวอร์ 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะเป็นตัวแปรสำคัญคือ ค่าสัมปทานในรอบใหม่ที่ไม่น่าจะสูงเท่ากับในครั้งแรก แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับกสทช. ด้วยที่จะเป็นตัวแปรในการตัดสินใจ

นายห้างถูกหลอกว่าข่าวต้นทุนต่ำ แต่ท้ายสุดดึงเม็ดเงินโฆษณาไม่ได้ ถ้าไม่มีเซเลป

แต่ละช่องสื่อที่ถูกกสทช. กำหนดให้ต้องมีเนื้อหาข่าวและสาระ ทำให้ตลอดการเปิดสัมปทานมา 10 ปี ต้องลงทุนกับข่าวไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจที่ไม่คุ้นเคยในสนามนี้ 

มีคำพูดที่เชื่อต่อๆ กันมาว่า “ข่าวเป็นการลงทุนที่ต้นทุนต่ำ แต่สามารถสร้างเม็ดเงินได้สูง เพราะก็แค่เอาข่าวมาเล่า” จนถึงวันนี้เรียกได้ว่า บรรดานายห้างที่ไม่รู้เรื่องถูกหลอกกันหมด 

โดยเฉพาะในช่วงเริ่มแรกของทีวีดิจิทัล หลายช่องได้ระดมผู้ประกาศข่าวและนักข่าว มาเป็นผู้อำนวยการข่าว ผู้อำนวยการช่อง มีการลงทุนสูงเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ แต่สุดท้ายค้นพบความจริงว่า ไม่สามารถดึงเม็ดเงินได้อย่างที่ตั้งใจ โดยนายห้างเจ้าของกลุ่มทุนไม่รู้ว่า ข่าวจะสามารถดึงคนได้ เพราะตัวแปรที่สำคัญคือต้องมี “เซเลป”

อย่างที่เรารู้ดี ผลลัพธ์ที่เห็นในปัจจุบันที่ข่าวหลายช่องเลือกใช้วิธีการจัดสรรให้บริษัทผู้ผลิตร่วมที่มีเซเลปและขยายเวลาให้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น รายการข่าวในช่อง 3 , ช่อง 7, ช่อง 8 ขณะที่บางช่องที่ประกาศตัวเป็นช่องข่าวก็จะแย่งซื้อผู้ประกาศเซเลปคนดังโดยทุ่มเงินเดือนหลักหลายแสนเช่น ช่องสีเขียว หรือช่องมหาชน ที่ดึงผู้ประกาศจากช่องสื่อสาธารณะ หลังผิดหวังจากการดึงผู้ประกาศจากหลายช่อง

เจ้าของสินค้าหันไปซื้อโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ คนข่าวถูกเลิกจ้างเพราะไม่ทำเงิน

อีกเหตุผลสำคัญที่เม็ดเงินโฆษณาของทีวีหลายช่องหดหายและไม่ได้ทำกำไรอย่างที่คิด นอกจากเจ้าของช่องหรือผู้ร่วมผลิตที่ยังยึดวิธีการเดิมๆ คือการขายโฆษณาผ่านเอเจนซี่ ที่นำตัวเลขเรตติ้งไปขายกับเจ้าของสินค้า 

แต่เจ้าของสินค้าเริ่มให้ความสนใจกับสื่อออนไลน์มากกว่า เพราะมีตัวเลขการันตีที่เห็นชัดเจน ไม่ใช่แบบทีวีที่เป็นตัวเลขแบบสุ่ม 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ รายการข่าวดังหลายรายการ เริ่มลดราคาเวลาโฆษณาลงมากกว่าร้อยละ 50 ทำให้ที่ผ่านมาหลายช่องที่ทุ่มทุนไปกับรายการข่าว ท้ายที่สุดต้องเริ่มทยอยปลดพนักงานข่าวออก 

ผลสุดท้ายเลยกลายเป็นว่า ช่องไหนมีออนไลน์ก็จะเน้นออนไลน์มากขึ้น และลดพนักงานที่อยู่ในส่วนทีวีที่ไม่จำเป็นออก 

คณะนิเทศศาสตร์ยังจำเป็นแต่ต้องปรับตัวและให้มากกว่าทักษะพื้นฐาน

ปัจจุบันคณะนิเทศศาสตร์ไม่ว่ามหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชนต้องยอมรับว่าจำนวนนักศึกษาน้อยลงกว่ายุคที่เฟื่องฟู โดยเฉพาะในสายงานสื่อมวลชน 

สิ่งที่สังเกตได้ชัดคือ ในตลาดของสื่อมวลชนมีคนต้องออกจากสนามไปจำนวนมาก และหันไปทำงานอื่น การสอนนิเทศศาสตร์ในยุคปัจจุบัน สาขาที่เป็นที่นิยมจึงไม่ใช่สายงานข่าวหรือวารสารศาสตร์อีกต่อไป แต่เป็นสายงานอื่นๆ เช่น ฟิล์ม ละคร การแสดง เป็นต้น

ขณะที่เนื้อหาการสอนจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับตลาด เช่น การสอนทักษะด้านดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อพุ่งตรงไปยังตำแหน่งงานมากขึ้นและตอบสนองต่อตลาด 

แม้ความรู้หลายเรื่องจะสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องเข้ามาเรียนในระดับปริญญาตรี แต่ความต่างที่ทุกมหาวิทยาลัยกำลังแข่งขันกันในสายงานดังกล่าวคือ การมีผู้มีประสบการณ์จริงมาเป็นผู้สอนที่จะให้สิ่งที่มากกว่าทักษะพื้นฐานไม่ใช่ทฤษฎีหรือแนวคิด  

สรุปแล้ว ตลาดต้องการ Content Creator ไม่ใช่ นักข่าว

สื่อออนไลน์ที่เข้ามาแทนที่สื่อกระแสหลักในช่วงมากกว่าสิบปีที่ผ่านมา ทำให้คนที่ทำงานสายสื่อต้องปรับตัวด้วยเหตุผลที่สื่อออนไลน์ต้องการคนที่มีทักษะมากขึ้นและหลายด้านในคนเดียว 

จึงเกิดคำว่า Content Creator ที่หมายถึง คนที่สามารถครีเอทเนื้อหา สร้างสรรค์เนื้อหา พร้อมนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ได้ หรือยิ่งไปกว่านั้นคือ ดีไซน์งานประกอบคอนเทนต์ เช่น อินโฟกราฟิก หรืออื่นๆ ได้จะยิ่งดี 

ยุคนี้ ไม่ใช่แค่คนผลิตเนื้อหา หรือรายงานเนื้อหา ที่เรียกกันว่า ‘นักข่าว’ แบบสมัยก่อนที่จะอยู่รอดอีกต่อไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดรับกับสิ่งที่คณะนิเทศศาสตร์จำเป็นต้องปรับตัวให้รองรับตลาดสื่อออนไลน์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

ท้ายที่สุด วงการสื่อจะยังคงอยู่ แต่ทางรอดของคนทำสื่อต่างหากที่สำคัญ ยิ่งตลาดมีความต้องการเฉพาะทางและหลากหลายมากขึ้น คนที่ต้องการเข้ามาสู่วงการหรือตลาดก็จำเป็นจะต้องมีทักษะและความคิดสร้างสรรค์ที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมนี้มากขึ้น 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา