หมดยุคบริการแชร์จักรยานผ่านแอปพลิเคชัน หรือที่เรียกว่า Bike-sharing เมื่อการทุ่มตลาดใช้เงินลงทุนจำนวนมากไปกับการสร้างฐานผู้ใช้ ลดราคา แย่งส่วนแบ่งการตลาด ไม่ได้ทำให้ธุรกิจ Bike-sharing อยู่รอดอย่างแท้จริง
เมื่อราวๆ 5 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในบริการที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน คือ บริการ Bike-sharing ซึ่งก็คือบริการแชร์จักรยานให้เช่าผ่านแอปพลิเคชัน มีจุดเด่นคือจักรยานที่ให้เช่านี้จะจอดอยู่ทุกที่ของเมือง ผู้เช่าอยากเช่าขี่ไปที่ไหนก็ได้ และเมื่อใช้เสร็จแล้วจะจอดทิ้งไว้ที่ไหนก็ได้เช่นกัน โดยที่ตัวจักรยานจะมี GPS ติดตั้งอยู่ เพื่อเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ
Bike-sharing บริการที่เคยเป็นดาวรุ่งในประเทศจีน
โดยบริการ Bike-sharing ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศจีน หนีไม่พ้น Ofo และ Mobike ที่เป็นบริษัทที่ได้รับการลงทุนจาก Alibaba และ Tencent ตามลำดับ โดยในปี 2018 ทั้งสองบริษัทนี้เคยครองส่วนแบ่งการตลาดบริการ Bike-sharing รวมกันกว่า 95%
ทั้ง Ofo และ Mobike กลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพระดับ Unicorn อย่างรวดเร็ว คือ มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายการให้บริการไปยัง 200 เมือง ใน 20 ประเทศทั่วโลก
แต่แทนที่ Ofo และ Mobike ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดรวมกัน 95% กลับไม่ได้ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจมากนัก จนในที่สุดบริการ Bike-sharing ในประเทศจีน เริ่มเสื่อมความนิยมลงไปเรื่อยๆ จนถึงวันนี้อาจเรียกได้ว่า “หมดยุค” ของบริการ Bike-sharing เลยก็ว่าได้
ในยุครุ่งเรื่องของบริการ Bike-sharing มีจักรยานที่ใช้ให้บริการกว่า 23 ล้านคัน จาก 77 บริษัท ทั่วประเทศจีน เฉพาะที่ปักกิ่งเมืองเดียวมีจักรยานไปแล้ว 2.4 ล้านคัน ในปี 2017 แต่ในปีที่แล้วลดลงเหลือเพียง 9 แสนคันเท่านั้น
จักรยานที่เคยทำหน้าที่เป็น Bike-sharing จำนวนมากถูกกองสุมกันหลายร้อยหลานพันคัน จนกลายเป็น “สุสานจักรยาน” ในเมือง ทิ้งไว้เป็นภาระให้ผู้เสียภาษีต้องจัดการกับจักรยานราว 25 ล้านคันทั่วประเทศจีน
จากบริการดาวรุ่ง สู่สุสานจักรยาน เกิดอะไรขึ้นกับ Bike-sharing
ตำตอบง่ายๆ ว่าทำไมบริการ Bike-sharing จากดาวรุ่ง จึงกลายสภาพเป็นเพียงสุสานจักรยานหลายล้านคันทั่วประเทศ เกิดจากการทำธุรกิจที่ไม่มีความยั่งยืน เผาเงินสดจำนวนมากเพียงเพื่อต้องการสร้างฐานลูกค้า
มีการคาดการณ์กันว่าในช่วงที่ Bike-sharing รุ่งเรือง บริษัทใหญ่ๆ ของจีน ทุ่มเงินลงทุนในบริษัท Bike-sharing รวมกันกว่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.35 แสนล้านบาทต่อปี
Mobike ได้รับเงินลงทุนจาก Tencent บริษัทเกมยักษ์ใหญ่ของจีน รวมถึง Ctrip แพลตฟอร์มการท่องเที่ยว และ Foxconn บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ส่วน Ofo ซึ่งเป็นคู่แข่งก็ได้รับเงินลงทุนจาก Xiaomi เจ้าพ่อโทรศัพท์สมาร์ทโฟน Didi Chuxing ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ Bike-sharing เช่นเดียวกัน รวมถึงยักษ์ใหญ่ในวงการ E-Commerce อย่าง Alibaba
เมื่อมีเงินลงทุนจำนวนมากที่ได้จากยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent และ Alibaba ทั้ง Ofo และ Mobike จึงทำสงครามราคาใส่กัน เพื่อสร้างส่วนแบ่งการตลาด โดยครั้งหนึ่งทั้งสองบริษัทเคยทำราคาบริการ Bike-sharing Subcription เพียงเดือนละ 1 หยวน หรือประมาณ 4.6 บาทเท่านั้น ก่อนจะปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 20 หยวนต่อเดือน หรือประมาณ 92 บาท เมื่อปี 2018 (ไม่รวมกับค่าบริการที่คิดแยกต่างหาก)
อย่างไรก็ตามการได้รับเงินลงทุนมหาศาลเพื่อทุ่มตลาด สร้างฐานผู้ใช้บริการจำนวนมาก คงไม่ใช่การทำธุรกิจที่ยั่งยืน จนในที่สุดตลาด Bike-sharing จึง “แตก” ในปี 2017
หนึ่งในนักลงทุนของ Mobike เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2018 ว่า “ผู้ใช้งานได้ประโยชน์จากการใช้จักรยาน Bike-sharing แบบฟรีๆ แต่มันก็เป็นสิ่งที่มาแล้วก็ไป ไม่มีความยั่งยืน”
นอกจากการทำสงครามราคาโดยใช้เงินลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำให้รูปแบบของธุรกิจ Bike-sharing ไม่มีความยั่งยืนแล้ว ปัญหาอีกหนึ่งอย่างของบริการประเภทนี้คือ การไม่มีที่จอดจักรยานที่แน่นอน ผู้ใช้งานอยากจะเช่าจักรยานที่ไหนก็ได้ เมื่อใช้เสร็จแล้วอยากจะจอดจักรยานทิ้งไว้ที่ไหนก็ได้ แม้ในมุมของผู้ใช้งานจะมีความสะดวก เพราะไม่ต้องนำจักรยานไปคืนที่จุดจอด แถมหาจักรยานก็ง่าย หาได้ทุกที่ทั่วเมือง
แต่ในความจริงแล้วความสะดวกในอีกมุมหนึ่งกลายเป็นความไม่เป็นระเบียบของเมือง ที่เต็มไปด้วยภาพจักรยานจอดทิ้งไว้อย่างไม่เป็นระเบียบ เบียดบังการใช้พื้นที่สาธารณะ จนในที่สุดหน่วยงานรัฐบาลจึงเริ่มใช้มาตรการจัดระเบียบกับบรรดาจักรยาน Bike-sharing อย่างจริงจัง
จนในท้ายที่สุดแล้วความกัดดันจึงตกอยู่ที่นักลงทุน ที่ต้องการถอดเงินที่ใช้ลงทุนออก ทำให้บริษัท Bike-sharing หลายแห่งเริ่มมองหาความเป็นไปได้ที่จะควบรวมกิจการเพื่อรักษาความอยู่รอดตั้งแต่ช่วงปี 2017 เป็นต้นมา
โดยทั้ง Mobike และ Ofo ต่างเคยคิดที่จะควบรวมกิจการกัน แต่ด้วยโครงสร้างทางการเกินที่ซับซ้อนของทั้งสองบริษัท จึงทำให้การควบรวมกิจการไม่เคยเกิดขึ้น
สุดท้าย Mobike และ Ofo ก็ไปไม่รอดในประเทศจีน
ปัจจุบัน Mobike ถูกซื้อไปโดย Meituan แพลตฟอร์มที่ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่การสั่งอาหาร รีวิว และโปรโมชันออนไลน์ไปเมื่อปี 2018 และเพิ่งจะยกเลิกการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันของตัวเอง และ WeChat ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยผู้ใช้งานจะสามารถใช้บริการของ Mobike ได้ จากทางแอปพลิเคชัน Meituan เท่านั้น
ส่วนทางด้าน Ofo ดูจะมีการอาการหนักยิ่งกว่า เพราะตอนนี้ไม่ได้ให้บริการ Bike-sharing อีกต่อไปแล้ว แต่หันไปทำแอปพลิเคชันสำหรับช็อปปิ้งแทน โดยผู้ใช้งานที่ยังมีเงินที่เติมไว้ในบัญชีของ Ofo จะได้รับเครดิตเงินคืนเพื่อใช้ในการช็อปปิ้งเป็นการทดแทน
ทุนใหญ่ของจีน ยังไม่เลิกสงครามราคา แม้จะไม่ยั่งยืน
ในกรณีของบริการ Bike-sharing ในประเทศจีนสามารถเป็นบทเรียนให้กับการทำธุรกิจของบริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่ได้อย่างชัดเจนว่า รูปแบบการทำธุรกิจที่ยั่งยืน และความสามารถในการทำกำไรเป็นสิ่งสำคัญ
แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าบริษัทสัญชาติจีนหลายแห่ง อาจไม่ได้เห็นบทเรียนของการทำสงครามราคา เพื่อสร้างส่วนแบ่งการตลาดและฐานผู้ใช้งานจำนวนมากเสมอไป เพราะกระแสความนิยมของ E-Commerce ในช่วงนี้ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดบริการซื้อของสดจากซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ ซึ่งหลายแห่งมีการทำสงครามราคาอย่างรุนแรง บางครั้งผู้ใช้งานใหม่จ่ายเพียง 0.1 หยวน หรือไม่ถึง 50 สตางค์เลยด้วยซ้ำ
ที่มา – SCMP, yicaiglobal
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา