เท่าพิภพ ถกสุราก้าวหน้า ดีลไม่ลับกับ ต๊อดปิติ แห่ง “บุญรอด”

เท่าพิภพ ถกนโยบายสุราก้าวหน้า ดีลไม่ลับกับ ต๊อดปิติ แห่ง “บุญรอด” ชี้รัฐออกกฎเองและบังคับใช้เอง-พร้อมลั่น “นี่มันประเทศอะไรวะเนี่ย”

กระแสนโยบายสุราก้าวหน้ากลายเป็นที่พูดถึงมาตลอดตั้งแต่พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงจำนวนมากจากประชาชน กระทั่งกลายประเด็น “สุราก้าวหน้า” เป็นกระแสช่วงข้ามวันเมื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ออกรายการข่าวเช้าของ สรยุทธ และพูดถึงสุราพื้นบ้านหลากหลายยี่ห้อ ส่งผลให้สุราพื้นบ้านในหลายพื้นที่ไม่พอจำหน่าย

ไม่เพียงเท่านั้น วันนี้(7 มิ.ย.2566) นาย เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ผู้ขับเคลื่อนนโยบายสุราก้าวหน้า ได้เข้าพบปะพูดคุยกับผู้บริหารบริษัท บุญรอด พร้อมถกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จำหน่ายในเมืองไทย 

โดย นาย เท่าพิภพโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า 

หากท่านได้ติดตามผมมาก่อน จะเห็นว่าในการดำเนินนโยบาย #สุราก้าวหน้า ผมมีความพยายามที่จะวางตัวเป็นคนกลางระหว่าง กลุ่มรณรงค์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอลฮอล์ และกลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผมเริ่มตะเวนพบปะตัวแทนของทั้งสองฝั่งอยู่บ่อยครั้ง หรือก่อนหน้านี้ก็ได้มีการพูดคุยของเหล่า brewer เพื่อหาข้อสรุป “ตรงกลาง” ของสายพานธุรกิจ #สุรา #คราฟท์เบียร์ #ไวน์ #สุราแช่ และครั้งนี้ ก็เป็นคิวของ #บุญรอด เป็นเพราะผมจะได้ทราบว่าเขาคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ กฎของบ้านเก่าหลังนี้

ซึ่งเนื้อหาการพูดคุยสรุปได้ดังนี้

บทสนทนาเริ่มขึ้นถึงเรื่องของหน่วยงานบางหน่วยงานทันที หน่วยงานที่ออกกฎมาด้วยตัวเองและตั้งให้ตัวเองเป็นผู้บังคับใช้กฎนั้น หลังจากสิ้นสุดการกล่าวถึงนั้น เราต่างสบถออกมาพร้อมเพรียงกันว่า “นี่มันประเทศอะไรวะเนี่ย” เพราะมันเป็นเรื่องแปลกมาก ๆ ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน

การพูดคุยจุดประสงค์คือการแลกเปลี่ยนจากมุมมองที่ต่างกัน โดยที่ทั้งคู่มาเพื่อจะรับฟังและโต้แย้งกันด้วยเหตุผล เพราะเราทั้งคู่เริ่มเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อาจเป็นเพราะพวกเราไม่ใช้กำแพง แต่คือกังหันลม ที่พร้อมโอบรับความเปลี่ยนแปลง

การบริหารหลังบ้าน จากมุมมองนักธุรกิจอย่างพี่ต๊อด เขามองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนเป็นอันดับแรก ๆ ถ้าหากมีไอเดียดีแค่ไหน ถ้าคนทำไม่ทำ ค่าก็เท่าเดิม

ต่อมาเรื่องผลิตภัณฑ์ของ SME เรามองตรงกันว่าควรมีการควบคุมคุณภาพ ด้วยกฎเกณฑ์ที่จำเป็นและไม่ยากจนเกินไป แต่ต้องสามารถบังคับใช้ได้จริง เพื่อควบคุม “ความปลอดภัย” ของผลิตภัณฑ์ เพราะนั่นคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้บริโภคควรได้รับ

ต่อมาในระดับผู้บริโภค ปัญหาที่คนธรรมดาไม่ได้มีผลประโยชน์โดนฟ้อง เพราะเผยแพร่สิ่งที่ตนเองชอบและให้ความสนใจ ซึ่งมันควรเป็นสิทธิของบุคคลนั้น ๆ มากกว่า

สุดท้ายนี้ผมขอเปรียบพี่ต๊อด เป็นหนึ่งในผู้อาศัยที่อยู่บ้านหลังนี้มานานตั้งแต่รุ่นพ่อ และรับรู้ถึงปัญหามาอย่างยาวนาน

พี่ต๊อดจึงเป็น “หนึ่งคน” ที่สามารถชี้จุดปัญหาใหญ่ ๆ ในวงการนี้ได้เป็นอย่างดีและสมควรที่เราจะต้องรับฟัง

ผมก็คือผู้รับเหมา ที่หวังจะมาปรับปรุงบ้านเก่าหลังนี้ให้ทันสมัยขึ้น เหมาะสมกับการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและมีวุฒิภาวะ การที่ผมได้มาถามข้อมูลจากผู้ที่เคยอาศัยอยู่มาก่อน ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่จะเข้าใจถึงปัญหาต่าง ๆ ภายในบ้านที่สมควรได้รับการปรับปรุงหลังนี้

ที่ผมเลือกที่จะเดินเข้าไปหาที่ต๊อดและบุญรอดในวันนี้ เพราะผมอยากแสดงให้เห็นว่า ผมไม่ได้ตั้งใจมาเพื่อทุบบ้านหลังนี้ทิ้ง แต่ไม้เก่าผุพัง ถึงเวลารื้อ เราก็ต้องทำ รีบปรับเปลี่ยนเป็นวัสดุอย่างอื่น ก่อนที่มดปลวดจะกัดกินจนบ้านนี้ไม่เหลืออะไร

เพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ผมอยากจะขอยืนยันว่าบทสนทนาระหว่างเราในวันนี้ ไม่มีคำว่า “ขอ” ออกจากปากใครสักครั้ง เพราะจุดประสงค์ในการพูดคุยครั้งนี้ ไม่มีสิ่งที่เราต้องร้องขอกันเลย และคำพูดที่ถูกใช้มากที่สุดคือ “ผมเจอแบบนี้ คุณเจอมาแบบไหน? เพื่อนผมเจอมาแบบนี้ เพื่อนคุณเจอมาแบบไหน?” ซะมากกว่า โดยผมยืนยันได้ว่าพวกเราไม่ได้มีผลประโยชน์ ใต้โต๊ะ มอบให้แก่กันแต่อย่างใด แต่สิ่งที่มอบให้กันคือมุมมองของแต่ละคนเสียมากกว่า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา