บทความโดย ศรัณย์ โรจนโสทร
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี Hyperloop และแนวทางการพัฒนาประเทศไทย เพื่อก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ภายใต้หัวข้อ “Hyperloop and Path Skipping Development Strategy” ถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้งานในประเทศไทย มองเห็นอะไรใน Hyperloop และโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยในการนำมาใช้งาน
ทำไมรถไฟความเร็วสูง ถึงช้าเกินไปแล้ว และควรก้าวข้ามไป Hyperloop แทน นี่คือเนื้อหาการบรรยายจากงาน Blognone Tomorrow 2019 รายละเอียดมีดังต่อไปนี้
Path Skipping คือทางออก
ธนาธรพูดถึง ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีเพียง 13 ประเทศที่สามารถพัฒนาไปเป็นประเทศรายได้สูง ส่วนหนึ่งเป็นประเทศในสหภาพยุโรป ส่วนหนึ่งค้นพบทรัพยากรสำคัญในประเทศ และอีกกว่าครึ่งเป็นประเทศในเอเชียตะวันออก โดยแต่ละประเทศก็มีกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศเป็นของตัวเอง
ในประเทศที่มีรายได้สูงเมื่อมีการผลิตสินค้าจำนวนมาก ก็จะเกิดการย้ายฐานผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึมซับเทคโนโลยี แต่ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเองและยังคงผลิตสินค้ามูลค่าที่ต่ำ
ตัวอย่างประเทศในทวีปเอเชียที่สามารถหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง และสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เช่น สิงคโปร์, ฮ่องกง และ เกาหลีใต้
ทิศทางการพัฒนาประเทศมี 3 ทาง
- Path Following strategy การพัฒนาตามลำดับชั้น
- Path Skipping Strategy การพัฒนาแบบกระโดดข้าม
- Path Creating Strategy การพัฒนาแบบสร้างใหม่
ประเทศส่วนใหญ่เลือกพัฒนาตามลำดับชั้นคือ การผลิตเสื้อผ้า ตามด้วยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไปสู่สินค้าดิจิทัล แต่ก็ยังนำเข้าเทคโนโลยี และไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สำหรับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง และยังไม่มีกลยุทธ์ที่จะนำพาให้ประเทศก้าวออกไปได้
การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี
ธนาธรยกตัวอย่าง เคสของ Thai Summit ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี
1.การเข้าใจเทคโนโลยีและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ – Thai Summit เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน Supply ของรถยนต์โดยมุ่งพัฒนาให้วัสดุเบาขึ้น แข็งแรงขึ้น ซึ่งเป็นการนำเสนอ Solution ที่ลูกค้าต้องการ
2.อนาคตในการทำงานคือระบบอัตโนมัติ – ในโรงงานของ Thai Summit มีการนำเครื่องจักรอัตโนมัติและเทคโนโลยีมาลดต้นทุน ลดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต
3.การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ – การให้ความสำคัญกับคนก่อนที่จะสร้างสิ่งต่างๆ ทั้งให้ความปลอดภัย ความรู้ ทักษะ โดยการสร้างศูนย์เรียนรู้และศูนย์ทดสอบที่ดีที่สุดในประเทศไทย
Hyperloop ไม่ได้เป็นเพียงรูปแบบการเดินทาง
ธนาธรมองว่า กลยุทธ์แบบ Path Skipping เท่านั้นที่จะพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง มองข้ามการพัฒนารถไฟความเร็วสูง แทนที่จะปล่อยเม็ดเงินไปให้บริษัทจีนหรือญี่ปุ่นเปลี่ยนมาลงทุนในการสร้างอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน Hyperloop เป็นประเทศแรกๆ
โดยการลงทุนใน R&D Hyperloop จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ สิ่งสำคัญคือ กล้าคิด กล้าลงทุนหรือไม่ ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุดจะไม่เกิดขึ้นจริง ความรู้ที่ได้ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีอื่นๆ ได้อีก ในการที่จะเกิดประเทศอย่างเกาหลีใต้หรือไต้หวันได้จะต้องเกิดการ Disruption ของเทคโนโลยีที่ไม่สมบูรณ์ นั่นคือสิ่งที่จะเกิดโอกาสใหม่ๆ ให้รายใหม่ก้าวขึ้นมาพัฒนาให้สมบูรณ์
ผลประโยชน์จากโครงการ Hyperloop
- ประมาณการณ์ผลประโยชน์เชิงเศรษฐศาสตร์ 971,495 ล้านบาท
- ประมาณการณ์ผลประโยชน์ต่อ GDP ประเทศไทย เพิ่ม 713,685 ล้านบาท
- การจ้างงานเพิ่มขึ้น 183,780 ตำแหน่งงาน
- ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็น Transportation Hub ของ Inland AEC โดยวางพิษณุโลกเป็นศูนย์กลาง
Ecosystem เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
- คนต้องกล้า การมีสวัสดิการที่ดี จะทำให้คนกล้าที่จะลงทุน กล้าที่จะคิดถึงโอกาสในระยะยาว
- โอกาสต้องเปิด การเปิดรับสิ่งใหม่ๆ การยอมรับความหลากหลาย และการแข่งขันจะทำให้เกิดโอกาสสำหรับผู้ที่กล้าคิด กล้าทำ
- รัฐต้องพร้อมปรับตัว รัฐที่ไม่ฟังเสียงประชาชน รัฐที่ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงจะทำให้สังคมเสียต้นทุนมหาศาลที่ต้องแข่งขันกับโลกที่หมุนเร็ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา