อยากลงทุนให้แวะมา! Thanachart Next ธนาคารไร้เงินสด เน้นปรึกษาการเงิน

ในสภาวะที่เงินฝากไม่จูงใจ การวางแผนชีวิตและการลงทุนกลายเป็นทั้งทางออกและความจำเป็น แถมยังควบคู่ไปกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไวเพราะเทคโนโลยี วันนี้จะพาไปดูอีกก้าวของ ธนาคารธนชาต ที่เพิ่งเปิดสาขารูปแบบใหม่ที่พารากอน โดยใช้ชื่อว่า “Thanachart Next” มุ่งสร้างสาขาให้รับระบบดิจิทัล มีตู้และเคาน์เตอร์เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ส่วนพนักงานก็ปั้นให้เป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน

เคาน์เตอร์ Thanachart Next พารากอน

มุ่งดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สร้างพื้นที่ให้คำปรึกษาน่าสนใจ

การมุ่งเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นสิ่งที่ธนาคารธนชาตทำมาก่อนหน้านี้แล้ว ดูได้จากธนาคารธนชาตสาขาเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ชั้น 4 ที่เรียกว่า Thanachart express เป็นการอำนวยความสะดวกลูกค้าที่ต้องการความคล่องตัวในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้ให้บริการอัตโนมัติ ไม่มีเคาน์เตอร์ และเป็นสาขาแรกที่ไม่มีเงินสด (Cashless Branch)

Thanachart express ที่ เอ็มบีเค เซ็นเตอร์

ส่วนสาขาล่าสุด Thanachart Next ที่พารากอนเป็นรูปแบบคล้ายกันกับ Thanachart express แต่จะเพิ่มบริการครบวงจรมากขึ้นคือ ยังมีเคาน์เตอร์และตู้ให้บริการอัตโนมัติ ที่เสริมเข้ามาและน่าสนใจคือ “พื้นที่เฉพาะ” สำหรับลูกค้าที่สนใจด้านการเงิน การลงทุน เงินฝากและกองทุนต่างๆ โดยมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบ ต้องการให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการรู้สึกเป็นห้องประชุมในบ้านตนเอง เพราะจะมีการให้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพผลัดเปลี่ยนกันมา อย่างเช่น ที่ปรึกษาด้านการเงินจากบลจ. หรือ บล. บริษัทหลักทรัพย์ และที่สำคัญบริการให้คำปรึกษาด้านการเงินทั้งหมดนี้ฟรีค่าใช้จ่าย

พื้นที่ให้คำปรึกษาการเงิน การลงทุน

ยุทธศาสตร์ Thanachart Next ตีตลาดเขตเมืองได้เท่านั้น

นาย สนอง คุ้มนุช รองกรรมการผู้จัดการสายเครือข่ายลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา ธนาคารธนชาตปิดสาขาไป 23 สาขา เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของลูกค้า ที่ใช้บริการผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารลดลง และในปี 2560 ก็ยังมีแนวโน้มลดลงไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่หันไปใช้ digital banking เพิ่มมากขึ้น ธนาคารจึงปรับรูปแบบให้สอดคล้องทันตามกัน แต่ทั้งนี้ การเปลี่ยนรูปแบบสาขาไปเป็นแบบใดนั้น ได้พิจารณาจากความต้องการของลูกค้าในพื้นที่เป็นหลัก

มี Tablet ไว้ดูหุ้น และศึกษาข้อมูล

การเปิด Thanachart Next สาขาแรกที่พารากอนจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะลูกค้าที่มาพารากอนส่วนใหญ่จะไม่ใช่ลูกค้าประเภทมาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ แต่มาซื้อของและทานอาหาร เพราะฉะนั้นความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้คือความรวดเร็วในการใช้บริการซึ่งมีตู้ให้บริการอัตโนมัติรองรับอยู่แล้ว และแน่นอนว่าลูกค้าที่มาใช้บริการที่พารากอนเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มที่มีความต้องการลงทุนสูง โดยในส่วนนี้ Thanachart Next รองรับไว้เรียบร้อยแล้ว

ส่วนเรื่องการขยายสาขาไปยังพื้นที่ต่างๆ ยังไม่มีความแน่ชัด เพราะการให้บริการแบบ Thanachart Next จะอยู่ได้เพียงในเขตเมือง หรืออย่างมากก็จะตั้งอยู่ในหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะลูกค้าในเขตชานเมืองอีกมากยังถือว่าเงินสดคือความปลอดภัยที่ไว้ใจได้ แต่แนวโน้มการใช้บริการ digital banking ก็เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลได้เข้ามาส่งเสริมด้วย

ตู้ e-banking

ธนาคารไร้เงินสด แต่ไม่ไร้พนักงาน ทักษะคือสิ่งสำคัญ

นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความท้าทายน่าจะมาตกอยู่ที่ “พนักงานแบงค์” เนื่องจากการฝากเงินถอนเงินในอนาคตจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติทั้งหมด ดังนั้นที่ทางของพนักงานแบงค์จึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากปรับตัว สร้างเสริมทักษะให้มากขึ้น โดยเฉพาะทักษะการให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการเงิน การลงทุน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา