Demo Day ของ DVA b0 ที่จบไป แม้จะเป็นเสมือน batch ทดลอง (เพราะยังไม่ใช่ครั้งที่ 1) แต่ Digital Ventures (DV) ก็จัดหนักจัดเต็ม ดึง VC จากทั่วโลก และได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างมาก
ก่อนจะว่าถึงผลการประกวดและข้อมูลหลังการประกวด “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการบริหารของ DV ได้เปิดเผยถึงก้าวต่อไปของ DV ที่บอกได้ว่าไม่ธรรมดา…
DVb1 ชวน ปตท. ลุยระดับอาเซียน สร้างการ exit
ธนา บอกว่า DV ไม่เคยทำ startup มาก่อน นี่คือครั้งแรก DVA b0 จึงเป็นการทดลองแบบลงมือทำจริง มีพันธมิตร VC ต่างประเทศมาร่วม เพื่อสร้างเวทีที่จะส่งเสริม Startup ไทย ให้เติบโตและไปถึงระดับโลกให้ได้
เพราะเป้าหมายของ DVA คือ สร้าง startup ที่ exit ได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งได้เรียนรู้ว่า ตลาดไทยเล็กเกินไป ทำให้ใช้เวลานานกว่าจะ exit ได้ ทางที่เร็วกว่าคือ DV ต้องสร้างพันธมิตรเป็น VC จากทั่วโลกให้มาร่วมงาน มารับรู้ และตัดสินใจลงทุน เพื่อนำ startup ไทยออกไปนอกประเทศ
และจะมองแค่ startup ไทยไม่ได้ ดังนั้น DVA b1 จะเพิ่มขนาดเป็นระดับภูมิภาคอาเซียน อย่างน้อยต้องมี startup จากเวียดนามและอินโดนีเซีย มาร่วมแข่งขันด้วย โดยที่จำนวนทีมจะไม่ต่างจากเดิม แสดงว่าทีนั่งของ startup ไทยจะน้อยลง
“startup ไทยต้องเรียนรู้ว่า ในเวทีการแข่งขันไม่มีแต้มต่อ ดังนั้นถ้า DVA b1 มี 10 ทีมเท่าเดิม อาจจะมีทีมไทยแค่ 2-3 ทีมที่เข้ารอบ ที่เหลือจะเป็นทีมจากต่างประเทศ เพราะโลกธุรกิจต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา”
การจะทำ DVA b1 ระดับภูมิภาคทาง DV ได้ชวน ปตท. (PTT) มาจัดงานร่วมกัน ถือเป็นความร่วมมือที่จะสร้าง impact ครั้งสำคัญ ที่เกิดจากการร่วมมือของ 2 องค์กรใหญ่จาก 2 อุตสาหกรรม และอาจมีองค์กรที่ 3 เข้ามาร่วมอีกด้วย
ดึง “อรพงศ์ เทียนเงิน” บิ๊กไมโครซอฟท์ ไทย นั่งประธานกรรมการบริหาร DV
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญของ DV โดย ธนา บอกว่าได้ลงมานั่งตำแหน่ง กรรมการบริหาร ของ DV (และรักษาการ CMO ของ SCB) โดยทาง SCB ได้ดึง อรพงศ์ เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย มาทำหน้าที่ ประธานกรรมการบริหาร ของ DV แทน โดยจะมีผลเป็นทางการ 1 พ.ค. นี้
มีการยืนยันว่า อรพงศ์ จะเข้ามาทำโปรเจ็กใหญ่ ที่ถือเป็น big move ของ SCB ในครึ่งปีหลังด้วย
ธนา บอกว่า การทำหน้าที่ กรรมการบริหาร แต่ยังดูแล DV อยู่บ้างแต่ส่วนใหญ่ค่อนข้างลงตัว จากนี้งานจะขยายเป้าหมายขึ้น เช่น หาพันธมิตร VC เพิ่มทั่วโลก, ขยาย DVA อาเซียน, คิดค้นบริการใหม่ หรือเข้าไปลงทุนใน startup ที่น่าสนใจทั่วโลก ซึ่งทุกฝ่ายมี MD ที่ดูแลรับผิดชอบอยู่แล้ว
ส่วนตัวจะขยับมาช่วยงานที่ SCB มากขึ้น โดยเฉพาะการ transformation องค์กรเพื่อให้ SCB เป็น The Most Admired Bank ตามนโยบายของ CEO
SCB ลงทุนทั้ง 10 startup ที่เข้ารอบ พร้อมหนุนผู้ชนะ
สำหรับการลงทุนใน startup ธนา บอกว่า ทั้ง 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบมา ตลอดเวลาในโครงการจะมีการประเมินผลตลอด ซึ่ง SCB (ในนาม DV) มีการลงทุนใน startup ทั้ง 10 ทีมมากน้อยแตกต่างกันไป และเตรียมสนับสนุนที่ชนะการประกวดเต็มที่
ทีมชนะการประกวด OneStockHome แพลตฟอร์มด้านงานก่อสร้าง จัดซื้อวัสดุก่อสร้างได้สะดวกยิ่งขึ้น มีความง่าย ปลอดภัย เพราะมีการรับประกันการสั่งซื้อ เงินรางวัล 250,000 ดอลลาร์ โดย OneStockHome เป็นพันธมิตรกับ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่
อันดับที่ 2 SeekSter แพลตฟอร์มตลาดออนไลน์สำหรับบริการต่างๆ เงินรางวัล 150,000 ดอลลาร์ ซึ่ง Seekster เป็นพันธมิตรกับ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท้ เช่นเดียวกัน มีโอกาสเข้าถึงลูกบ้านจำนวนหลายพันครอบครัว
อันดับที่ 3 FLOWACCOUNT ระบบบัญชีออนไลน์ ใช้งานง่ายสำหรับธุรกิจ เงินรางวัล 75,000 ดอลลาร์ เป็นหนึ่งใน startup ขวัญใจสำหรับธุรกิจ sme ช่วยให้เรื่องบัญชีง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีรางวัล Popular Vote เปิดให้ผู้เข้าร่วมงานลงคะแนน ทีมที่ได้รางวัลคือ ETRAN สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ารับจ้าง โดยมีแผนร่วมมือกับ BTS เพื่อให้บริการ ได้เงินรางวัล 100,000 บาท
ขณะที่ทีมอื่นๆ ถือเป็น startup ที่น่าสนใจและมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจ เช่น CONVO LAB บริการแชทบอท, KYC-CHAIN บล็อกเชนยกระดับธุรกรรมการเงิน, PeerPower แพลตฟอร์มสินเชื่อระหว่างบุคคล, PetInsure บริการประกันภัยสัตว์เลี้ยงออนไลน์, PLIZZ ระบบบัญชีออนไลน์, Refinn บริการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย รีไฟแนนซ์ออนไลน์
จบงานนี้ SCB ยังมอบเงินสนับสนุนให้ startup ทั้ง 10 ทีมเพิ่มอีกทีมละ 1 ล้านบาท
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา