แม้ปัญหา น้ำท่วม จากปรากฏการณ์ธรรมชาติ อาจจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะจากปัจจัยสภาพอากาศหรือโครงสร้างของตัวเมือง เช่น ความสูงจากระดับน้ำทะเลหรือตำแหน่งที่ตั้งที่ติดแม่น้ำหรือทะเล แต่กรณีของกรุงเทพ ที่หากนับจากภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราก็ยังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอยู่ตลอด ประหนึ่งภาครัฐไม่มีการเรียนรู้และออกมาตรการป้องกันหรือบรรเทาใดๆ ออกมา
กรุงลอนดอนเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดเคสหนึ่ง ในการป้องกันน้ำท่วมจากปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง เนื่องจากตัวเมืองมีแม่น้ำเทมส์ (Thames River) พาดผาดกลางเมืองเหมือนกรุงเทพ และเคยเผชิญปัญหาน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูงเหมือนกัน ซึ่งภาครัฐได้ตัดสินใจสร้าง Thames Barrier หรือผนังกั้นแม่น้ำเทมส์ ซึ่งช่วยป้องกันตัวเมืองลอนดอนชั้นในไม่ให้ถูกน้ำท่วมมาได้หลายครั้ง
จากวิกฤติสู่การป้องกัน
กรุงลอนดอนในอดีตประสบปัญหาน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูงมาหลายครั้ง เนื่องจากมีพื้นที่ติดทะเล และมีแม่น้ำเทมส์ตัดผ่านกลางเมือง เช่นในปี 1663 และ 1928 ก่อนที่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 1953 จะเผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่จากพายุที่พัดถล่ม ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงถึง 4.7 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้น้ำจากแม่น้ำเทมส์เข้าท่วมกรุงลอนดอนกินพื้นที่กว่า 600 ตารางกิโลเมตร จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 307 ราย
วิกฤติครั้งนั้นทำให้รัฐบาลเริ่มตระหนักว่าแนวคันกั้นน้ำตามชายฝั่งและตามแนวแม่น้ำเทมส์เริ่มไม่เพียงพอ ไม่สามารถป้องกันได้ในระยะยาว แถมกระทบภาพวิวทิวทัศน์ของแม่น้ำ รัฐบาลท้องถิ่นกรุงลอนดอนเลยตัดสินใจผ่านกฎหมายป้องกันน้ำท่วม (Flood Protection Act) ในปี 1972 และกลายมาเป็นแนวประตูกั้นน้ำแบบเปิดปิดได้ หรือ Thames Barrier ที่ใช้งบประมาณราว 7 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบเป็นมูลค่าเงินในปัจจุบัน
Thames Barrier แนวป้องกันที่เห็นผลและมีประสิทธิภาพ
Thames Barrier เริ่มสร้างเมื่อราวปี 1974 ใช้เวลา 8 ปีจึงเสร็จสิ้นในปี 1982 และเริ่มใช้งานเมื่อปี 1983 ด้วยตอม่อรูปลักษณ์ทรงโดมขนาดใหญ่สูง 20 เมตร ทำหน้าที่เป็นกลไกระบบไฮดรอลิกสำหรับเปิดปิดประตู 10 ประตูที่มีความสูง 15 เมตร แต่ละประตูหนัก 3,000 ตัน วางตัวตามแนวกว้างของแม่น้ำเทมส์เป็นระยะทาง 520 เมตร ในย่านวูลวิช (Woolwich) ทางตอนใต้ของกรุงลอนดอน เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ตอนกลางของกรุงลอนดอน ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ คิดเป็นพื้นที่ราว 125 ตารางกิโลเมตร
แต่ละประตูจะใช้เวลาประมาณ 10 นาทีในการปิดและทั้งแนวกำแพงกั้นน้ำจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งเพื่อปิดสนิท และจะกลับมาเปิดอีกครั้งเมื่อระดับน้ำเหนือประตู (ต้นแม่น้ำ) และหลังประตู (ปลายแม่น้ำติดทะเล) อยู่ในระดับเท่ากัน โดยประตูสามารถเปิดแบบแง้ม เพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้สามารถระบายจากฝั่งหนึ่งไปอีกหนึ่งได้ด้วย
และเมื่อไม่ได้ใช้งาน ตัวประตูจะถูกจะวางเอาตัวเอาไว้ที่ก้นแม่น้ำ เพื่อให้เรือสามารถสัญจรผ่านได้อย่างสะดวก
Thames Barrier กลายเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลกต่อจาก Oosterscheldekering ที่เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็ค Delta Works ป้องกันน้ำท่วมของเนเธอร์แลนด์
ตลอดระยะเวลา 38 ปีที่ถูกใช้งานมา Thames Barrier ถูกเปิดปิดเพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงลอนดอนชั้นในและพื้นที่สำคัญมาแล้วกว่า 200 ครั้งนับตั้งแต่เริ่มเปิดใช้งาน
บางปีประตูกั้นน้ำก็ไม่ถูกปิดเลย แต่หนึ่งในช่วงที่ Thames Barrier ถูกใช้งานหนักและมีประสิทธิภาพที่สุดคือราวปลายปี 2013 ถึงต้นปี 2014 ที่มีฝนตกหนัก และระดับน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้มีการปิดประตูกั้นน้ำกว่า 28 ครั้ง ภายในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งนับเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 จาก 150 ครั้งที่มีการเปิดปิดประตู ตั้งแต่เริ่มเปิดใช้งานจนถึงต้นปี 2014
Thames Barrier เดิมถูกออกแบบมาให้ป้องกันน้ำท่วมระดับมหาวิกฤติได้ถึงราวปี 2030 แต่การคาดการณ์ล่าสุดจากการวิเคราะห์ปริมาณน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีจากภาวะโลกร้อน ก็คาดว่า Thames Barrier น่าจะช่วยป้องกันกรุงลอนดอนจากน้ำท่วมไปได้ถึงราวปี 2060-2070
นอกจากนี้ช่วงที่่ผานมา รัฐบาลท้องถิ่นกรุงลอนดอนก็มีการวิจัยและพัฒนามาตรการป้องกันน้ำท่วมอื่นๆ ร่วมด้วยมาตลอด อย่างโครงการ Thames Estuary 2100 ในปี 2010 ที่จะมีการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม ประตูกั้นน้ำหรือโครงสร้างอื่นๆ ที่ช่วยป้องกันน้ำท่วมจากแม่น้ำเทมส์กว่า 480 โครงการย่อย
กรุงลอนดอนเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยี การวางแผนและระบบขึ้นมาป้องกันและบรรเทาปัญหา ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยสำคัญคือวิสัยทัศน์และความจริงจังในการแก้ปัญหาของภาครัฐ ที่ออกมาเป็นรูปธรรมและได้ผลจริง ไม่ใช่แค่การเตือนให้ยกของขึ้นที่สูง แล้วบอกว่า ก็เตือนแล้ว ทำอะไรไม่ได้
อ้างอิง – Gov.uk (1, 2), Institute of Civil Engineer, BBC (1,2)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา