ไทวัสดุเปิดความสำเร็จ 14 ปีนับแต่ก่อตั้งบริษัทด้วยการดำเนินธุรกิจแบบ Low-Cost Business Model ที่มีต้นทุนต่ำและเน้นความเรียบง่าย มองการขายทุกช่องทางแบบไร้รอยต่อเป็นคีย์หลักในกลยุทธ์ 5 ปี
เส้นทางธุรกิจ 14 ปีกับ Low-Cost Business Model
สุทธิสาร จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ในเครือเซ็นทรัลรีเทล เล่าให้ฟังถึงผลประกอบการของธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้านภายใต้แบรนด์ไทวัสดุและบีเอ็นบี โฮม ว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ดีที่สุดของไทวัสดุเลยก็ว่าได้ เพราะทำยอดขายได้กว่า 40,000 ล้านบาท เติบโต 11% ต่อปี ขยายสาขารวม 14 สาขา ทำให้ปัจจุบันมีทั้งหมด 90 สาขาใน 47 จังหวัด โดยใช้งบการลงทุน 7,000 ล้านบาท
ไทวัสดุเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ปี 2010 โดยเปิดสาขาแรกที่บางบัวทอง ในตอนนั้นเป็นร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างรายเล็กที่สุดในตลาด จนในปี 2018 ได้ขยายสาขารวมทั้งหมด 40 แห่งภายใน 8 ปี ต่อมาในปี 2020 เกิดโควิด-19 สถานที่หลายแห่งถูกปิดลงเพื่อหยุดการแพร่เชื้อ บริษัทเลยได้โอกาสในการพัฒนาการขายแบบ Omnichannel ไม่ว่าจะเป็นการซื้อทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันไลน์
ช่องทางการขายออนไลน์เติบโตมากในช่วงปี 2020-2023 ทำให้ยอดขายแตะ 1,400 ล้านบาทในเวลา 4 ปี อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 145% มีลูกค้าที่ช็อปปิ้งทางออนไลน์มากกว่า 5,000 คนต่อเดือน ยอดการซื้อเฉลี่ยต่อออเดอร์เพิ่มขึ้น 12% เทียบกับปีก่อนหน้า จำนวนลูกค้าที่ซื้อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (Omnichannel Customers) ก็เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเช่นกัน
สุทธิสาร จิราธิวัฒน์ เล่าให้ฟังว่า การที่ยอดขายแตะ 40,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาสำคัญกับการพูดคุยกับซัพพลายเออร์ในต่างประเทศ เพราะเมื่อบอกว่ายอดขายถึง 1 พันล้านเหรียญก็จะทำให้ซัพพลายเออร์หันมาสนใจและได้สินค้าที่ดีมาขาย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำภายใต้แนวคิด Low-Cost Business Model คือ
- มีพนักงานจำกัด ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป เพราะการจ้างพนักงานมากเกินไปเป็นภาระของบริษัทที่จะทำให้ต้องขึ้นราคาสินค้าและทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ
- ออกแบบร้านให้เรียบง่ายที่สุด ไม่ได้มีการตกแต่งที่สวยงาม แต่จัดร้านเป็นระเบียบ มีประสิทธิภาพ แข็งแรง ปลอดภัย หาของง่าย ร้านเป็นลักษณะโกดังแต่สะอาด ทำให้ลูกค้าเห็นแล้วไม่ได้อยากซื้อของที่ไม่จำเป็น
- ซื้อและจัดหาสินค้าในปริมาณมาก เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำ สุดท้ายที่ได้คือราคาที่ดีที่สุดและคุณภาพที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ การทำ Low-Cost Business Model ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด สิ่งที่ไทวัสดุต้องมาคิดต่อคือการตัดค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ ที่ต้องไปจ้างให้คนอื่นทำให้ สิ่งที่ไทวัสดุทำเองแทนที่จะจ้างบริษัทภายนอกเลยมีอยู่ 3 ด้านด้วยกัน คือ
- ด้านปฏิบัติการหรือ In-House Operations อย่างการขนส่งสินค้าด้วยตัวเอง ไทวัสดุตัดสินใจว่าจะมีรถขนส่งของตัวเองมากกว่าครึ่ง ส่วนที่เหลือเป็นของบริษัทที่จ้างมาจะได้สามารถเปรียบเทียบราคากับตลาดได้และควบคุมต้นทุนรถขนส่งสินค้าได้ด้วย
- ด้านการออกแบบร้าน ที่ใช้บุคลากรของไทวัสดุเอง ทำให้ง่ายและสะดวก หากจะเปลี่ยนแบบก็เปลี่ยนได้ทันที ราคาถูกลง ผู้ออกแบบก็เข้าใจธุรกิจของบริษัทได้ดี ทำให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว
- ด้านการจัดการ IT ไม่ต้องพึ่งพาบริษัทด้าน IT ที่ต้องใช้เวลาไปกับโปรเจคอื่น ๆ ก่อน พอมีคนของตัวเองก็สามารถทำงานอย่างยืดหยุ่นได้ คิดแล้วทำได้เลย ยกตัวอย่างเช่น โครงการ E-Tax ของรัฐบาลเมื่อ 2 ปีก่อนที่ไทวัสดุพัฒนาระบบได้ทันในช่วงเวลาที่รัฐบาลแจ้งก่อนล่วงหน้า 1 เดือน
อีกอย่างหนึ่งที่เป็นหัวใจหลักที่ไทวัสดุยึดถือ คือ การให้บริการหน้าร้านและช่องทางออนไลน์ผ่านทุกแพลตฟอร์มทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชัน และคอลเซ็นเตอร์ ผ่านคอนเซ็ปต์ “Phygital” ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างประสบการณ์ที่เหมือนกันไม่ว่าจะใช้บริการผ่านทางช่องทางไหน
หลักการของ Phygital ของไทวัสดุ คือ การขายในสาขาและช่องทางออนไลน์จะมีราคาเดียวกัน โปรโมชันเดียวกัน คูปองส่วนลดสามารถใช้ทางใดก็ได้ มีช่องทางชำระเงินหลากหลาย และสุดท้ายคือสามารถใช้บัตร The 1 สะสมคะแนนได้
สุดท้าย คือ การทำความเข้าใจลูกค้าที่เป็นอีกกลยุทธ์ของไทวัสดุ ในช่วงที่ผ่านมาเกิดสงครามหลายแห่งในโลก ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ไทวัสดุเลยได้นำกลุ่มสินค้าโซลาร์เซลล์เข้ามาขาย นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มโซนเฟอร์นิเจอร์ ของแตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศ จักรยานที่รวมทั้งจักรยานไฟฟ้า รวมถึงการสร้าง Contruction Showroom ที่จัดแสดงสินค้าที่เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ ให้เลือกซื้อได้ง่ายขึ้นพร้อมข้อมูลเชิงลึก
แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2028 ไทยวัสดุตั้งเป้าว่าจะเป็นร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างแบบ Omnichannel อันดับ 1 (No.1 Omnichannel DIY Home Retailer) โดยจะมียอดขาย 70,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 12% มากกว่าการเติบโตของตลาด
กลยุทธ์ที่จะดำเนินการตามเป้าหมายมีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน
Hybrid Format หรือ White Format เป็นการนำร้านไทวัสดุและบีเอ็นบี โฮมเข้ามาไว้ในที่เดียวกัน เพื่อจะได้เป็นบริการครบวงจรทั้งวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์แต่งบ้าน โดยได้เริ่มเปิดตัวหน้าร้านลักษณะนี้ตั้งแต่ปี 2021 ทำให้ผู้รับเหมาและลูกค้าที่เป็น Home Owner ซื้อทุกอย่างได้ภายในร้านเดียว ร้านโมเดลใหม่นี้ช่วยเพิ่มยอดขายได้ 30% ทำให้ตั้งแต่ปีนี้จะค่อย ๆ ขยายไปทั่วประเทศ โดยในปี 2023 มี 9 สาขา ปีนี้จะเปิด 7 สาขา ทำให้ร้าน Hybrid มีทั้งหมด 16 สาขา
พัฒนาบริการทางออนไลน์ ไทวัสดุได้อัปเดตราคาเหล็กออนไลน์รายวันที่สั่งซื้อได้ทันที นอกจากนี้ลูกค้าและผู้รับเหมายังสามารถเลือกเฉดสีได้ผ่านทางออนไลน์ และให้บริการคำนวณผ้าม่านสั่งตัดได้
คาดว่าการพัฒนาบริการทางออนไลน์จะช่วยเพิ่มยอดขายในช่องทางออนไลน์ได้อย่างน้อย 5,000 ล้านบาทภายในปี 2028 ผ่านการพัฒนาฟีเจอร์บนโทรศัพท์มือถือ ยกระดับการขนส่งให้เร็วขึ้น โดยจะจัดส่งสินค้าภายใน 2 ชั่วโมงเป็นการจัดส่งด่วน การจัดส่งสินค้าในวันนั้นหรือวันถัดไป
เสริมซัพพลายเชนด้วยการใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า ตั้งเป้าใช้รถบรรทุกพ่วงพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดให้ได้ ในปี 2028 ส่วนในปีนี้จะเพิ่มจาก 11 คันเป็น 80 คัน ถือว่าเป็น 1 ใน 3 ของทั้งหมด ไทวัสดุคาดว่าการเปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้าจะช่วยลดปล่อยคาร์บอนได้ 7,000 ตัน
การทำธุรกิจกับความยั่งยืน
ในส่วนของความยั่งยืน สุทธิสาร จิราธิวัฒน์กล่าวว่า จะดำเนินธุรกิจให้เป็นธุรกิจฮาร์ดไลน์สีเขียวด้วยกลยุทธ์ CRC’s “ReNew” ผ่าน 4 ข้อหลัก
- Reduce Greenhouse Gases ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการติดตั้งโซลาเซลล์ทุกสาขา ทัั้งหมดติดตั้งไปแล้ว 75 สาขา ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าไป 40% ในปีนี้จะติดตั้งเพิ่มอีก 15 แห่ง ทำให้ลดคาร์บอนได้ทั้งหมดเทียบกับการปลูกต้นไม้ 2.5 ล้านต้น
- Navigate Society Well-being ด้านสังคมร่วมมือกับโรงพยาบาลและชุมชนต่าง ๆ มีพนักงานคอลเซนเตอร์เป็นผู้ด้อยโอกาสมากกว่า 100 คนและคาดว่าจะเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ จากปัจจุบันที่มี 11 โครงการ ครอบคลุม 9 จังหวัด
- Eco-Friendly Product and Packaging สินค้าที่นำมาขายเป็น Eco Product มากขึ้น ตอนนี้มีสัดส่วน 10% ของสินค้าทั้งหมด
- Waste Management การจัดการขยะด้วยการ Reduce, Reuse และ Recycle โดยสามารถลดขยะได้ทั้งหมด 1,117 ตันในปี 2023
สุทธิสาร จิราธิวัฒน์ เล่าว่า ไทวัสดุยังยึดการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดการเป็นเจ้าแรกในตลาดเสมอเพื่อที่จะได้สามารถเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมได้ ส่วนเรื่องสถานการณ์การบริโภคของไทยในไตรมาสแรก มองเศรษฐกิจไม่ได้โตดีมากนัก ยังคงมีผลกระทบจากโควิดและความไม่แน่นอนจากสงครามในยุโรปและตะวันออกกลาง ทำให้มีผลกระทบด้านต้นทุนพลังงานที่กระทบต่อความกังวลในการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ส่วนไตรมาสสองเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นจากในเดือนเมษายน ถ้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตสำเร็จ ในไตรมาส 3-4 น่าจะเห็นการใช้จ่ายในเรื่องอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง เพราะงั้นเห็นสัญญาณว่าจะดีกว่าไตรมาส 3-4 ของปีที่แล้ว
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา