เปิดแผนธุรกิจ ไทยรุ่ง ผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตรถยนต์แบรนด์ดัง และการทำตลาดรถ SPV ของตัวเอง

บมจ. ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ หรือ ไทยรุ่ง ทำธุรกิจในไทยมาตั้งแต่ปี 1967 เริ่มต้นด้วยธุรกิจรับผลิตชิ้นส่วน และดัดแปลงรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังทำอยู่

แต่ที่โดดเด่น และเป็นที่รู้จังในคนทั่วไปมากที่สุดก็คงไม่พ้นรถยนต์ที่ติดแบรนด์ TR ยิ่งคนที่อายุ 30 ปลาย ๆ ขึ้นไปก็น่าจะคุ้นเคยดีกับกระบะอีซูซุต่อแคปหลัง ถึงตอนนี้ยังมีรถแบบนี้ขายอยู่แต่จะเน้นที่รถในแบบ SPV แทน

ว่าแต่ก่อตั้งธุรกิจมานานขนาดนี้ ปัจจุบัน ไทยรุ่ง เดินหน้าธุรกิจอย่างไร มีรายได้มากน้อยแค่ไหน และตัวรถยนต์แบบ SPV คืออะไร ทีมงาน Brand Inside ชวนมาหาคำตอบด้วยกันครับ

ไทยรุ่ง

ไทยรุ่ง ผู้เป็นทุกอย่างให้กับการผลิตรถยนต์

บมจ. ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมา 55 ปี หรือเกินครึ่งทศวรรษแล้ว โดยปัจจุบันบริษัทวางตัวเป็นผู้รับผลิตรถยนต์ครบวงจร ไล่ตั้งแต่การออกแบบ และพัฒนา, การผลิตชิ้นส่วน, การประกอบ จนถึงบริการหลังการขาย ผ่านบริษัทในเครือ 7 บริษัทที่มีทั้งเป็นเจ้าของ 100% และพาร์ตเนอร์กับคู่ค้าจากญี่ปุ่น

แต่หากเจาะไปที่การทำธุรกิจของ ไทยรุ่ง จะสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

  • ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนให้แบรนด์รถยนต์เพื่อใช้ในไทย และส่งออกต่างประเทศ
  • ธุรกิจประกอบรถยนต์ และพ่นสีให้แบรนด์รถยนต์ที่ขายในไทย และส่งออกต่างประเทศ
  • ธุรกิจผลิตรถยนต์ SPV หรือ Special Purpose Vehicle ภายใต้แบรนด์ TR และบริการหลังการขาย

ไทยรุ่ง

สำหรับใครที่งง ๆ ว่า SPV คือรถยนต์แบบไหน ถ้าอธิบายง่าย ๆ ก็คือรถยนต์ที่มีคุณสมบัติพิเศษเหมาะสมกับการใช้งานบางสถานการณ์ เช่น รถยนต์กันกระสุน, รถยนต์เพื่อใช้ในกรมตำรวจแห่งชาติ หรือรถยนต์เพื่อใช้ในกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น โดยรถยนต์เหล่านี้ ไทยรุ่ง มีทั้งขายในไทย และส่งออกต่างประเทศ เช่นกัน

นอกจากนี้ ไทยรุ่ง ยังวิจัย และพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ครอบคลุมการใช้งานระยะไกล และระยะใกล้ กล่าวคืออยู่ระหว่างสร้างรถบัสไฟฟ้า หรือ e-Minibus ตอบโจทย์ผู้ให้บริการในสถานการณ์ที่น้ำมันเชื้อเพลิงราคาสูง และเป็นผู้ผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า หรือ e-Tuktuk รายใหญ่ที่สุดของไทยให้กับ Muvmi โดยสิ้นปี 2022 จะมีทั้งหมด 700 คัน

ไทยรุ่ง

รายได้ฟื้นตัวกลับมาหลังวิกฤติโรคโควิด-19 ดีขึ้น

สำหรับยอดขาย ไทยรุ่ง ในไตรมาส 1 ปี 2565 เติบโตถึง 37% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็น 664 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 132% เป็ 72 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคเริ่มกลับมา ทำให้คู่ค้าเริ่มกลับมาจ้างบริษัทผลิต และให้บริการต่าง ๆ อีกครั้ง

แม้ว่าภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศไทยยังเผชิญปัญหาแรงงาน และชิปขาดแคลนอยู่ รวมถึงนับตั้งแต่กลุ่ม GM เจ้าของแบรนด์ Chevrolet ออกจากตลาดในประเทศไทยเมื่อปี 2563 ทำให้ลูกค้าหลักของบริษัทหายไปหนึ่งราย แต่ด้วยการปรับโครงสร้าง และควบคุมต้นทุนทำให้ภาพรวมกิจการต่าง ๆ ของบริษัทเริ่มดีขึ้นอีกครั้ง

ไทยรุ่ง

หากแบ่งยอดขายตามธุรกิจในไตรมาส 1 ปี 2565 จะพบว่า

  • ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนมียอดขาย 355 ล้านบาท คิดเป็น 53% ของยอดขายรวม
  • ธุรกิจประกอบรถยนต์ และพ่นสีมียอดขาย 279 ล้านบาท คิดเป็น 42% ของยอดขายรวม
  • ธุรกิจขายรถยนต์ SPV มียอดขาย 30 ล้านบา คิดเป็น 5% ของยอดขายรวม

ในทางกลับกัน ไทยรุ่ง พยายามกระจายความเสี่ยงในเรื่องยอดขายผ่านการทำตลาดรับผลิตชิ้นส่วนของกลุ่มเครื่องจักรอุตสาหกรรมมากขึ้น ผ่านการที่ตลาดนี้เติบโตจากโครงสร้างก่อสร้าง และการเกษตร แต่ในไตรมาส 1 ปี 2565 ยอดขายจากกลุ่มนี้ยังคิดเป็น 29% เป็นรองชิ้นส่วนรถยนต์ที่สูงถึง 71% ของยอดขาย

ไทยรุ่ง

อนาคตของ ไทยรุ่ง กับการทำรถยนต์ไฟฟ้า

ส่วนแผนธุรกิจในปี 2565 ของ ไทยรุ่ง จะเน้นไปที่การทำตลาดเครื่องจักรอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเติบโตดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่มากกว่านั้นคือการหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ ทั้งผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิม และรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเป็นคู่ค้าด้านการประกอบรถยนต์ในประเทศไทย

แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ ไทยรุ่ง ต้องยกระดับโรงงานด้วยเทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน และการควบคุมต้นทุนการผลิตให้ดีกว่าเดิม เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการผลิต และกระจายสินค้าปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดย ไทยรุ่ง ตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 2565 เติบโต 25% จากปี 2564

ด้านรถยนต์ที่ ไทยรุ่ง ทำตลาดปัจจุบันมี 1 รุ่นคือ TR Transformer แบ่งเป็น 3 รุ่นย่อยคือ

  • TR Transformer II 5 ที่นั่ง ราคา 1.57-1.90 ล้านบาท
  • TR Transformer Max 9 ที่นั่ง ราคา 1.61-1.98 ล้านบาท
  • TR Transformer Maxi 11 ที่นั่ง ราคา 1.61-1.98 ล้านบาท

ไทยรุ่ง

ทุกรุ่นใช้เครื่องยนต์ของ Toyota และออกแบบ พร้อมดัดแปลงโครงสร้างโดย ไทยรุ่ง มีให้เลือกทั้งรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 4 ล้อ ซึ่งในประเทศไทยไม่ค่อยมีรถยนต์ที่ออกแบบเฉพาะทางแบบนี้มากนัก และถือเป็นอีกความภูมิใจเล็ก ๆ ของคนไทยที่อย่างน้อยก็มีรถยนต์แบรนด์ไทยจริง ๆ (แม้ใส้ในจะไม่ใช่) เหมือนกับเวียดนาม และมาเลเซียบ้าง

อ้างอิง // เอกสารบริษัทพบนักลงทุน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา