แรงงานไทยเป็นหนี้สูงสุดในรอบ 10 ปี สาเหตุสำคัญ “รายได้ลดลง ค่าครองชีพสูงขึ้น”

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจกลุ่มแรงานไทย จำนวน 1,194 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่ามีค่าแรงต่ำกว่า 15,000 บาท ต่อเดือน และมีภาระหนี้สิน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากรายได้ที่ลดลงกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยว่าภาวะหนี้สินของแรงงานไทยสูงที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 เฉลี่ยแล้วแรงงานไทยเป็นหนี้ตกประมาณ 137,000 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.95% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

โดยแรงงานไทยแต่เดิมนั้นมีการออมเงิน 10% ของรายได้แต่ละเดือน แต่ปัจจุบันมีการออมลดลงเหลือแค่ 8.3% ของรายได้แต่ละเดือน

หนี้เพิ่มขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

โดยผลสำรวจ 96% ของจำนวนตัวอย่างที่สำรวจพบว่ายังมีภาระหนี้ โดยสาเหตุของการก่อหนี้ส่วนใหญ่คือ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งมีสัดส่วน 36.1% รองลงมาคือก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ก่อหนี้เพื่อลงทุน ก่อหนี้เพื่อซื้อบ้าน ก่อหนี้เพื่อรักษาพยาบาล และท้ายสุดคือก่อหนี้เพื่อกู้

สำหรับแหล่งที่มาของหนี้ กู้หนี้ในระบบมีสัดส่วน 65.4% มีดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 10.4% ต่อปี และนอกระบบ 34.6% ซึ่งดอกเบี้ยจะแพงกว่า ซึ่งอยู่ประมาณ 20.1% ต่อเดือน

เรื่องของการใช้หนี้

การใช้หนี้โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ประมาณเดือนละ 5,326 บาท แต่เมื่อได้ถามคำถามต่อไปว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาเคยมีการผิดนัดชำระหนี้ไหม 85.4% ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ตอบว่าเคยผิดนัดชำระหนี้

สาเหตุของการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ตอบแบบสอบถามนี้คือปัญหารายได้ที่ลดลง ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้สินมากขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ที่มาหนังสือพิมพ์บ้านเมือง, PPTV, หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ