ในที่สุด กระทรวงสาธารณสุขก็จับมือกับกระทรวงยุติธรรม ลงนามบันทึกข้อตกลง ยกเลิกพืชกัญชา กระท่อมออกจากยาเสพติด
โดยอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการพิจารณายกเลิกพืชกัญชาและพืชกระท่อมจากยาเสพติด
อนุทินกล่าว การลงนามความร่วมมือทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นการยกเลิกพืชกัญชาและพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในมิติต่างๆ ให้สามารถใช้ประโยชน์ในการรักษาทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม
ต่อยอดภูมิปัญญาและความรู้ปราชญ์ชาวบ้าน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้ประชาชนได้ ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้เกิดสินค้าใหม่เพื่อสุขภาพที่มีมูลค่าทางธุรกิจ เศรษฐกิจ สร้างรายได้ใหม่ให้คนไทย
ใบกระท่อมและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
- นำมาใช้เป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง ปวดมวนท้อง บางพื้นที่ระบุว่าสามารถบรรเทาโรคเบาหวานได้ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ระงับอาการปวด ทำให้นอนหลับ ระงับประสาท
- ใช้บำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้
- ไม่มีปัญหาเรื่องอาการอยากได้ยา จึงไม่มีกรณีผู้ติดกระท่อมก่อเหตุร้ายหรือพัวพันกับอาชญากรรม
- เดิม ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ชนิดเดียวกับกัญชา ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 มาตรา 7
- แหล่งที่พบ บางจังหวัดในภาคกลาง เช่น ปทุมธานี
- พบมากในภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และตอนบนของมาเลเซีย
กัญชาและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
- ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการได้รับเคมีบำบัด
- เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์
- ลดอาการทั้งปวดเรื้อรังและเฉียบพลัน บรรเทาอาการปวดทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้
- ลดอาการปลอกประสาทเสื่อม
- ช่วยคุมอาการลมชัก ช่วยลดความดันในตาของผู้ป่วยต้อหิน
- ป้องกันและรักษาอาการสมองฝ่อ คลายความวิตกกังวล
- รักษามะเร็ง
ที่มา – ทำเนียบรัฐบาล, ใบกระท่อม สรรพคุณทางยาก ประโยชน์และโทษ, กัญชากับการรักษาโรค
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา