คณะกรรมการค่าจ้างได้ปรับขึ้นค่าแรงอีกครั้ง โดยมองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ ในเรื่องของเงินเฟ้อ อัตราความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ได้อย่างสมดุล โดยค่าแรงที่ขึ้นครั้งนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 5 บาท สูงสุดที่ 6 บาท
สุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง มีวาระสำคัญคือการพิจารณากรอบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยมติครั้งนี้ได้ปรับค่าจ้างใน 9 จังหวัด ขึ้นอีก 6 บาท ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต นนทบุรี นครปฐม ปราจีนบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร ขณะที่จังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากนี้มีการปรับขึ้น 5 บาท
โดยถ้าเรียงจากจังหวัดที่มีค่าแรงมากที่สุดจะประกอบไปด้วย
- ค่าจ้าง 336 บาท มี 2 จังหวัด คือ ชลบุรี และภูเก็ต
- ค่าจ้าง 335 บาท มี 1 จังหวัด คือ ระยอง
- ค่าจ้าง 331 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
- ค่าจ้าง 330 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา
- ค่าจ้าง 325 บาท มี 14 จังหวัด คือ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี
- ค่าจ้าง 324 บาท มี 1 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี
- ค่าจ้าง 323 บาท มี 6 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม
- ค่าจ้าง 320 บาท มี 21 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุงพิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พะเยา ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์
- ค่าจ้าง 315 บาท มี 22 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อุทัยธานี และอำนาจเจริญ
- ค่าจ้าง 313 บาท มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
ในการประชุมครั้งนี้มีที่ปรึกษา ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายรัฐบาลจากตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ ไปจนถึงตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมเข้าร่วมประชุมด้วย สำหรับการขึ้นค่าแรงครั้งนี้นั้นคณะกรรมการค่าจ้างมองว่า อัตราที่ปรับขึ้นนี้เป็นระดับที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้ว ในเรื่องของเงินเฟ้อ อัตราความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ได้อย่างสมดุล
มุมมองของ บริษัท หลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มองว่าจากกรอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้นั้นน้อยกว่าคาดการณ์ของตลาดก่อนหน้านี้ที่ 20-30 บาท หรือคิดเป็นการเพิ่มเพียง 1.5-2% และส่วนใหญ่ผู้ประกอบการให้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว จึงไม่ได้กระทบกับต้นทุนทั้งของกลุ่มค้าปลีก รับเหมา ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์มากนัก และในทางตรงข้าม ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอาจช่วยพยุงกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงได้บ้าง ซึ่งจะเป็นผลบวกกับกลุ่มค้าปลีกในระยะถัดไป
ที่มา – ข่าวสดออนไลน์, ไทยพีบีเอส
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา