ออมเงินแบบไทย “แชร์-หวย-ปล่อยกู้-เก็บเงินผ่านลูก-ออมบุญเพื่อชาติหน้า”

ตอนเด็กออมเงินถ้าไม่หยอดกระปุกก็ฝากพ่อแม่ไว้ พอโตมาวิธีการออมมีหลายแบบแล้วถ้าออมเงินแบบไทยๆ เขาออมผ่านอะไรกันบ้าง?

ล่าสุด ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปบรรยายในงาน “คุยกัน Money” หัวข้อ “พฤติกรรมการเงินแบบไทยๆ จากมุมมองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ทั้งสนุกและได้สาระ” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เข้าใจคนไทยมากขึ้น

เงินมีหน้าที่อะไรในชีวิตเราบ้าง?

อาจารย์ธานี บอกว่า เริ่มแรกเราต้องดีว่าเงินส่วนในวิถีชีวิตเราอย่างไร ซึ่งหน้าที่ของเงิน แบ่งเป็น 3 อย่าง ได้แก่

  1. สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (exchange value)
  2. ทำหน้าที่บอกสถานะ (sign value) คือส่งสัญญาณว่าเราอยู่ในระดับขั้นไหนของสังคม
  3. บริหารความเสี่ยงและผลตอบแทนทั้งเพื่อปัจจุบันและอนาคต เช่น ถ้าเก็บเงินในวันนี้ที่ยังหนุ่ม พอแก่ลงก็ใช้เงินนั้น และเพื่อให้มีเงินพอใช้ ก็ต้องหาทางเพิ่มผลตอบแทนจากเงินที่มีอยู่ด้วย

“ความเสี่ยงในชีวิตหลายอย่างจัดการด้วยเงินได้ แต่หลายอย่างก็มีวิธีอื่นในการจัดการ เวลาที่เราพูดถึงความเสี่ยงในชีวิต ถ้าพูดในมุมการเงินล้วนๆ อะไรเป็นตัวบริหารจัดการ คือการออม ท่านออมไว้ยามฉุกเฉิน ยามชรา เพื่อซื้อของต่างๆ เป็นการออมที่เป็นทางการเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง คำถามคือการออมเป็นอย่างเดียวในชีวิตที่เราใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงหรือไม่?”

ภาพจาก shutterstock

ออมผ่านความสัมพันธ์ลูก-พี่น้อง-ญาติ-ครอบครัว

คนไทยเราไม่ได้ออมเงินตรงๆ เพื่อเป้าหมายต่างๆ ในชีวิตเท่านั้น ถ้ามองในชนบทที่เป็นสังคมไทย พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการส่งลูกเรียนให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะเขาจะให้ลูกกลับมาดูแลตอนแก่ จะเห็นว่านี่เป็นรูปแบบการออมเพื่อเกษียณสำหรับเขา ซึ่งถ้ามีลูกคนเดียวแล้วกลัวว่าลูกจะไม่เลี้ยง เขาก็ต้องมีลูกหลายคนเพื่อกระจายความเสี่ยง

อย่างที่ 2 ออมผ่านครอบครัวเครือญาติ ถ้าเรามีเรื่องฉุกเฉินต้องใช้เงิน แต่ไม่มีเงินออม ส่วนใหญ่เลือกจะยืมญาติพี่น้องครอบครัว ยิ่งครอบครัวใหญ่ ระบบประกันนี้จะทำหน้าที่ดีมากขึ้น เพราะถ้าเราทะเลาะกับบางคน แต่พี่น้องเยอะก็ยังมีคนอื่นที่ช่วยเหลือ

แต่ถ้าต่อไปสังคมเราเปลี่ยนมาเป็นปัจเจกมากขึ้น เป็นสังคมเมืองมากขึ้น อย่างในสหรัฐ อัตราการออมด้วยตนเอง และออมในระบบ เช่น เงินฝาก อื่นๆ จะมากขึ้นเพราะเราต้องพึ่งพาตัวเอง 

ออมเพื่อเป็นคนดี อาจไม่พอสำหรับยุคนี้

จากเพลง “เด็กเอ๋ยเด็กดี” มีข้อนึงที่บอกว่า เด็กดีต้องประหยัดอดออมอยู่เสมอ แสดงว่าที่เป็นการสอนให้การออมเป็นหน้าที่ของคนดี เป็นคุณธรรม แต่ไม่ได้เหตุผลว่าทำไมต้องออมเงิน ดังนั้นหากในความดีไม่ทำงานในสังคมยุคใหม่ แล้วเด็กจะออมไหม?

“เมื่อเราไม่ได้สอนเด็กให้ออมไว้ใช้ฉุกเฉิน เจ็บป่วย ฯลฯ เมื่อเราถามเด็กว่าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นเขาจะทำยังไง เคยมีงานวิจัยผลก็คือ เด็กเขาไม่รู้สึกว่าต้องเก็บอะไรไว้ เพราะพ่อแม่คือผู้ให้กู้รายสุดท้ายที่ไม่ต้องคืนก็ได้ เขามีตัวช่วยอยู่”

ออมเงินเพื่อชาติหน้าที่ดีกว่า

คนไทยส่วนใหญ่ไม่สบายใจ เจอเรื่องร้าย หรือกำลังจะเจอความเสี่ยง เช่น เดินทาง ฯลฯ มักเลือกไปทำบุญเพื่อลดความเสี่ยงในชีวิต ซึ่งการทำบุญ ไหว้พระ สะเดาะเคราะห์ ไปหาร่างทรงเป็นตลาดที่ใหญ่มาก เพราะอย่างแรกเราได้ความสบายใจ และขอได้ทุกอย่าง (อยากขอพรด้านไหนยังมีองค์ที่ขอพรเฉพาะเรื่องด้วย)

ดังนั้นการที่เราเอาเงินไปทำบุญ จะกลายเป็นการลงความเสี่ยงในชีวิต เหมือนเราซื้ออนาคตจากการทำบุญ เป็นสัญญาที่เราหวังจะได้จากการทำบุญ ซึ่งบางทีก็ขอให้ได้ผลในชาตินี้รวมไปถึงชาติหน้า

“ทำไมชาติหน้าสำคัญเพราะเขาไม่มีความหวังมากนักในชาตินี้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะโครงสร้างการเลื่อนชนชั้นในสังคมไทย โอกาสต่างๆมันต่างกัน”

ส่วนเรื่องที่เห็นกันบ่อยอย่าง การบนบาน เป็นเรื่องทุนนิยมมากเพราะบนว่าถ้าถูกรางวัลที่ 1 จะเอาไข่ 100 ฟองมาถวาย ต้นทุนต่ำมาก ผลตอบแทนสูงมาก 

เหตุผลสุดท้ายใกล้ตัวเรามาก คือคนไทยต้องการอยากรวยโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะไทยอยู่บนวัฒนธรรมของการเหมือนกันสอดคล้องกัน (conformity) คือคนที่อยู่ในชุมชนร่วมกันด้วยความเหมือนกัน ดังนั้นไม่ว่าอยู่ที่ไหนถ้าเราจะทำอะไรแปลกใหม่ ต้องได้ผลดี ถ้าผลลัพธ์ไม่ดีจะมีคนซ้ำเติม เช่น รอบบ้านปลูกข้าว เราจะปลูกกล้วยหอม ถ้ารวยก็ดีไป ถ้าจนลงรอบบ้านก็มาคุยว่า บอกแล้ว ให้ปลูกข้าวเหมือนเดิม (หรือลาออกไปทำธุรกิจ ถ้าไม่ดีคนจะว่าทำไมไม่ทำงานบริษัทต่อไป)

เลยทำให้ “หวย” เป็นความหวังในชีวิตที่สามารถรวยได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนค่านิยมที่เป็นอยู่ เราสามารถอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข เพราะโครงสร้างแบบนี้ทำให้ผลสำรวจออกมาว่าถึงไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงแต่คนของเราก็ยังมีความสุข

ออมลงทุนแบบบ้านๆ ปล่อยกู้ หวย แชร์

สุดท้ายแล้วเราเห็นการออมมีหลายรูปแบบ การลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนแบบไทยๆ ก็มีหลากหลาย เช่น หวย การปล่อยกู้ เล่นแชร์ หรือการซื้อขายสินค้าเฉพาะ ฯลฯ ซึ่งเป็นการควบคุมความเสี่ยงผ่านเรื่องที่เขารู้จักและเข้าใจ

อย่าง “การปล่อยกู้” มีตัวอย่างเช่น วินมอเตอร์ไซด์โดยเฉพาะในกรุงรายได้เดือนละ 35,000-45,000 บาท เขาไม่ได้เก็บเงินในธนาคารกัน แต่ปล่อยกู้ให้แม่ค้า คนที่เขารู้จักดี รู้จักบ้านช่อง ซึ่งเขาทำได้เพราะเขาประเมินความเสี่ยงเองว่าคนที่เขาปล่อยกู้เสี่ยงแค่ไหน ดอกเบี้ยที่ได้อาจจะสูงกว่าฝากเงินแบงก์ด้วยซ้ำ หรือบางทีถ้ามีคนเบี้ยว 4 ใน 10 คนก็ยังคุ้มกับเงินที่ลงทุนไป

เราเห็นในข่าวคนซื้อลูกวัวตัวละ 700,000 บาท ผ่านไปหลายปีขายไป 2 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นการลงทุน แต่ไม่ใช่การลงทุนแบบทางการเหมือนการลงทุนหุ้น ฝากเงิน อื่นๆ ที่เริ่มสอนกันมา

“แชร์” เป็นการจัดการเงินลงทุน โดยเขาจะกำหนดความเสี่ยงเองผ่านการคัดเลือกคนมาเข้ากลุ่ม นอกจากจะบริหารเงินกันในกลุ่ม (ถ้าวงแชร์ไม่มีใครเบี้ยว) ยังสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และเพิ่มความไว้ใจมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าให้ผลประโยชน์ทางสังคม เพราะเราจะเห็นว่าเกือบทุกออฟฟิสมีวงแชร์กันทั้งนั้น 

สุดท้ายเรื่อง “หวย หรือ ลอตเตอรี่” หน้าที่หลักคือทำให้คุณรวยได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนค่านิยม และตอบสนองความหวังที่อยากจะเลื่อนชนชั้นโดยไม่ต้องทำอะไร อย่างนึงที่ทำให้คนชอบที่จะซื้อหวยคือ จำกัดความเสียหายแต่กำไรได้ไม่อั้น ซื้อแค่ 80 บาท ลุ้นรางวัลได้ถึง 3 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้เราจะเห็นพฤติกรรม เห็นโครงสร้างการออมของคนไทย ที่นอกจากออมผ่นความสัมพันธ์ ยังประกันความเสี่ยง และลงทุนในหลายอย่างที่ไม่ได้เป้นทางการ แม้ว่าบางเรื่องจะดูเหมือนไม่ใช่การออมแต่ก็แย่งชิงเงินที่อยู่ในระบบนั่นเอง แต่ไม่ได้แปลว่าการออมแบบไทยในปัจจุบันจะไม่ดี  

จากนโยบายปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์ออกแบบนโยบายการเงินโดยใช้มุมมองส่งเสริมให้คนลงทุนในระบบว่ามีประสิทธิภาพ แต่ต้องย้อนมองว่ามันเป็นนโยบายที่เรามองไม่เห็นคน ไม่เห็นวิถีชีวิตคนหรือไม่ หากเรายิ่งสนับสนุนให้เขาออมลงทุนในระบบเท่าไหร่ เรากำลังทำลายกลไกอื่นที่อาจจะมีประสิทธิภาพไม่แพ้กันหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

สรุป

พฤติกรรมแบบไทยๆ ชี้ว่าคนไทยเราออม-ลงทุนกันหลายรูปแบบอยู่แล้ว สาเหตุหลักคือเรื่องความรู้ความเข้าใจ และผลตอบแทนที่ต่างกัน อย่างเงินฝากออมทรัพย์ธรรมดาที่แบงก์ได้ 0.5% ต่อปี หรือลงทุนหุ้นก็ไม่รู้ว่าตัวไหนดี สู้ปล่อยกู้หรือเล่นแชร์กับกลุ่มคนที่รู้จักตามหนี้ได้ถึงบ้านยังได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า หรือบางคนเน้นลงทุนกับคนในครอบครัวก็มี

ดังนั้นรัฐบาลหรือคนที่ออกนโยบายต่างๆ คงต้องเอาวิถีชีวิตของคน ความต้องการของเราไปดูว่า ควรออกนโยบายแบบไหนออกมา อย่างที่คนไทยออมเงินผ่านการศึกษาลูกที่แพงขึ้นทุกที ถ้ารัฐสวัสดิการด้านการศึกษาดีพอ พ่อแม่ก็สามารถออมเงินในระบบได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องไปใช้จ่ายค่าเรียนพิเศษให้มากขึ้น ว่าแต่รัฐเขาจะรับรู้และปรับตัวเมื่อไร? หรือเราหวังกันสูงเกินไป

ที่มา Thaipublica 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง