บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดแผนการดำเนินงานปี 2566 รุกปรับบทบาทองค์กรผ่านการเป็น “ผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์ครบวงจร – ยั่งยืน ตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” โดยมี 4 โซลูชันใหญ่เพื่ออำนวยความสะดวกธุรกิจ และคนไทย ได้แก่
โซลูชัน Global Cross Border Service ที่มุ่งเชื่อมโยงธุรกิจไทยไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก โซลูชันด้านการขนส่งด้วยดาต้า ที่จะนำข้อมูลที่ไหลเวียนทั้งหมดในองค์กรมาเสริมศักยภาพบริการ โซลูชันด้านการขนส่งที่สร้างความพึงพอใจในระดับสูงสุดด้วยมาตรการ Zero Complain และโซลูชันเสริมแกร่งเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นการนำจุดแข็งที่มีขององค์กรเข้าไปสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรพันธมิตรในรูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน นอกจากนี้ ยังเผยถึงแผนการหารายได้ใหม่จาก New S -Curve อาทิ กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มขนส่ง – ค้าปลีก กลุ่มไปรษณียภัณฑ์เดิมที่ผ่านการทรานส์ฟอร์มด้วยเทคโนโลยี
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ยังคงเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ และเพื่อเป็นการยกระดับการขนส่งและโจจิสติกส์ในปี 2566 ให้สามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจทุกระดับ รวมถึงทั่วโลกได้มากขึ้น ไปรษณีย์ไทยจึงได้ปรับบทบาทองค์กรด้วยการเป็น “ผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์ครบวงจร – ยั่งยืน ตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” พร้อมมุ่งสร้างปรากฏการณ์การดำเนินงานด้วยการเป็น “โซลูชัน” ที่สำคัญสำหรับทุกภาคส่วน ดังนี้
- โซลูชัน Global Cross Border Service ด้วยบริการขนส่ง และโลจิสติกส์แบบครบวงจร โดยมุ่งเชื่อมโยงธุรกิจไทยไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก จะมีบริการรองรับทั้งคลังสินค้า Fulfillment ระหว่างประเทศบนพื้นที่เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาโครงการคลังสินค้าบริการระหว่างประเทศ (Bonded Warehouse) บริการอื่นๆ เช่น EMS World ePacket ระหว่างประเทศ การลดขั้นตอนที่ผู้ประกอบการไม่ต้องดำเนินการด้วยตนเอง เช่น พิธีทางศุลกากร พร้อมทั้งการดึงพันธมิตรระดับโลก เช่น อีเบย์ อะเมซอน มาเป็นช่องทางค้าขายให้กับอีคอมเมิร์ซไทย รวมถึงใช้ประโยชน์จากเครือข่ายทั้งทางภาคพื้น ระบบราง เรือ และอากาศ เชื่อมต่อกับทุกกลุ่มธุรกิจ
- โซลูชันด้านการขนส่งด้วยดาต้า ผ่านการนำข้อมูลที่ไหลเวียนทั้งหมดในองค์กรมาใช้สร้างและเสริมศักยภาพของบริการ ซึ่งจะมีปรากฏการณ์ที่สำคัญ เช่น การพัฒนาระบบจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Prompt Post) บริการประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Timestamp) บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC) การใช้พื้นที่คลังไปรษณีย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศเปิดเป็นพื้นที่ให้บริการ Fulfillment ระดับจังหวัด ระบบหลังบ้านที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วและมีมาตรฐาน การเป็นตัวแทนขายสินค้าให้กับธุรกิจค้าปลีก / รับชำระค่าบริการต่าง ๆ ถึงหน้าบ้าน การพัฒนาระบบ CRM และ Big Data เพื่อรวบรวมข้อมูลของลูกค้าในทุกมิติและนำมาวิเคราะห์ จัดกลุ่ม และนำเสนอสินค้า/บริการความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่ม การขยาย “ทีมขาย ทีมขน และทีมแคร์” ดูแลให้คำปรึกษาตั้งแต่เรื่องการใช้ระบบขนส่งที่เหมาะสม ราคา การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการทำการตลาดบนแพลตฟอร์มของไปรษณีย์ไทย
- โซลูชันด้านการขนส่งที่สร้างความพึงพอใจในระดับสูงสุดด้วยมาตรการ “Zero Complain” ลดข้อร้องเรียนต่าง ๆ เช่น พัสดุสูญหาย คอมเม้นท์บนโซเชียลมีเดียให้เป็นศูนย์และเพิ่มศักยภาพในส่วนที่มีความได้เปรียบให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งกว่าเดิม เช่น เครือข่ายที่ครอบคลุมมากกว่า 20,000 แห่ง ทั้งจาก เครือข่ายประเภทตัวแทน จุด EMS Point ผู้ให้บริการขนส่งรายใหญ่ในตลาด ซึ่งจะทำให้การฝากส่งสิ่งของมีความสะดวกทุกพื้นที่ การนำจ่ายที่มีความรวดเร็ว แม่นยำด้วยระบบ Cross Navigate Networking ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะดูแลพัสดุทุกชิ้นให้เดินทางไปถึงปลายทางด้วยความปลอดภัย
- โซลูชันเสริมแกร่งเครือข่าย “พันธมิตรธุรกิจไปรษณีย์ไทย” ซึ่งเป็นการนำจุดแข็งที่มีขององค์กรเข้าไปสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรพันธมิตรในรูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็น FUZE POST ที่จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ JWD และ FLASH ให้บริการขนส่งควบคุมอุณหภูมิ กลุ่มที่อยู่อาศัยที่ร่วมมือกับ AP เชื่อมต่อระบบของไปรษณีย์ไทย เรียกและนัดหมายให้เข้าไปรับพัสดุ และพร้อมต่อยอดไปเครืออสังหาริมทรัพย์อื่น การเชื่อมโยง Rider Services กับผู้ให้บริการ Robinhood และในอนาคตกับรายอื่น ๆเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ และขยายช่องทางการส่งสินค้าของไปรษณีย์ไทย ความร่วมมือแพลตฟอร์ม Telemedicine ในการจัดส่งยารักษาโรค สถาบันการเงินกับการมอบสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงยังมีแผนดำเนินธุรกิจในอีกหลายสาขา เพื่อให้ทุกอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากไปรษณีย์ไทยได้อย่างเต็มที่
ดร.ดนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สัดส่วนรายได้องค์กรในปัจจุบันแบ่งเป็น กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 47.62 % กลุ่มไปรษณียภัณฑ์ 31.26 % กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 15.94 % กลุ่มธุรกิจการเงิน 1.78% กลุ่มธุรกิจค้าปลีก 2.78% และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ 0.66 % และนอกเหนือจากการสร้างรายได้จากกลุ่มดังกล่าวแล้ว ไปรษณีย์ยังมีแผนในการแสวงหารายได้จากน่านน้ำใหม่ทางธุรกิจ ซึ่งเป็น New S- Curve ขององค์กร ทั้งการเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจไปรษณียภัณฑ์เดิม เช่น แสตมป์ NFT บริการจัดส่งสื่อโฆษณาทางไปรษณีย์ หรือ Advertising Mail ที่สามารถจัดส่งสิ่งพิมพ์โฆษณา หรือสินค้าตัวอย่าง ให้แก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ในรูปแบบ Direct Mail บริการ e-Timestamp ประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันมีลูกค้า เช่น หน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาล สถานศึกษา เป็นต้น
กลุ่มขนส่ง – ค้าปลีก เช่น กล่อง On Demand ที่สามารถออกแบบและผลิตได้ตามความต้องการของประเภทธุรกิจ วางจำหน่าย – โฆษณาสินค้าตามไปรษณีย์ต่าง ๆ การขยายพื้นที่บริการ FUZE POST เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ กลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น คลังสินค้าบริการระหว่างประเทศ (Bonded Warehouse) สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และผู้ใช้บริการทั่วไป กลุ่มธุรกิจการเงิน อาทิ บริการประกันภัยออนไลน์ การให้สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงิน การทำธุรกรรมการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเติมเงิน ชำระเงิน โอนเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมุ่งพลิกโฉมภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยดิจิทัลและเทคโนโลยี ผ่านการเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีสำคัญคือ โครงการ Digital Post ID เปลี่ยนระบบการระบุตำแหน่งที่อยู่บนกล่องซองจากแบบเดิมให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล ในรูปแบบ QR Code โดยทุกภาคส่วนจะได้รับการรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย อีกทั้งมุ่งเป็นขนส่งรายแรกที่จะนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในระบบงานไปรษณีย์ และระบบนำจ่าย จำนวนกว่า 600 คัน ทดแทนรถเดิมที่หมดอายุใช้งานในปี 2566 สอดรับกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมโลก
“ขนส่งและโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ผู้ให้บริการทุกรายจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากที่สุด โดยเป้าหมายในปี 2566 ของไปรษณีย์ไทยคือการอยู่เคียงข้างคนไทยในฐานะ “หน่วยงานการสื่อสารและขนส่งของชาติ” เน้นการทำงานเชิงรุก เข้าหาลูกค้า พัฒนาบริการให้ตรงกับความต้องการของทุกภาคส่วน พร้อมดูแลคนไทยเพื่อให้ทุกคนไว้วางใจและนึกถึงไปรษณีย์ไทยทุกครั้งที่ต้องการใช้บริการ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพของ ทุกกระบวนการทำงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการเข้าถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น การพัฒนาบริการใหม่จากฐานทรัพยากรที่มีอยู่ และสุดท้ายคือการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสนับสนุนให้เกิดความสะดวก เพิ่มโอกาสทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น” ดร.ดนันท์ กล่าวสรุป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา