ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ไทยก้าวเข้าสู่ประเทศ “แก่และไม่รวย” รายได้ไม่สูง ขาดแรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพ

  • ไทยกำลังจะเป็นประเทศที่แก่และไม่รวย” จากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของผู้สูงอายุ ขณะที่ไทยยังคงติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ทำให้รายได้ต่อหัวยังไม่สูงนัก (GDP (PPP) per capita: 19,004 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี) รวมทั้งยังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ตลอดจนระบบบำนาญของไทยยังขาดความครอบคลุมและเพียงพอ 
  • ในปี 2565 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) เป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ทั้งนี้ มาตรการรัฐส่วนใหญ่ยังคงเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งช่วยชะลอผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น หากไทยยังไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ยิ่งจะซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่มากยิ่งขึ้น

aging society

ไทยประเทศกำลังพัฒนาแรกๆ ที่เข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์

หนึ่งปัญหาใหญ่ที่เหมือนเป็นระเบิดเวลารออยู่คือ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ในปี 2565 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด เป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์  ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ไทยพร้อมหรือยังกับการเข้าสู่สังคมสูงอายุ?”

ไทยนับเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกๆ ที่จะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ หากลองพิจารณากลุ่มประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์แล้วพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นประเทศพัฒนาที่มีรายได้ต่อหัว (GDP(PPP) per capita) ค่อนข้างสูง เช่น

  • สิงคโปร์ (102,742 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี)
  • ญี่ปุ่น (44,5851 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี)

ขณะที่ไทยยังคงติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) มีรายได้ต่อหัวยังไม่สูงมากนัก (19,0041 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี) ระบบบำนาญของไทยในภาพรวมยังขาดความครอบคลุมและความเพียงพอต่อการยังชีพ สะท้อนจากดัชนีชี้วัดระบบบำนาญ หรือ Mercer CFA Institute Global Pension Index ปี 2563 ซึ่งไทยรั้งอันดับสุดท้ายจากการศึกษาจำนวน 43 ประเทศทั่วโลก อาจเรียกได้ว่า คนไทยกำลังจะแก่และไม่รวย”

aging society

ขาดแคลนแรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพ

ในระยะข้างหน้า ไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายของโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้สูงอายุ ขณะที่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มแต่งงานช้าและมีบุตรน้อยลง สะท้อนจากอัตราการเจริญพันธุ์ (Fertility rate) ในช่วงปี 2563-2568 จะอยู่ที่ราว 1.5 คน ต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน (ระดับทดแทน คือ ระดับของภาวะเจริญพันธุ์ที่ใช้เพื่อรักษาขนาดของประชากรให้คงที่ต่อไป โดยมีอัตราการเจริญพันธุ์เท่ากับ 2.1 คน) และมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนประชากรวัยแรงงานที่เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ

นอกจากนี้ผลิตภาพของแรงงานไทย (Labor Productivity) มีโอกาสลดต่ำลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุและจากปัญหาทักษะแรงงานไม่ตรงความต้องการของตลาด (Skill Mismatch) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากแรงงานสูงอายุส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาต่ำ อาจทำให้ปรับตัวไม่ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ในภาพรวม ไทยยังขาดแคลนแรงงานเฉพาะทางที่มีทักษะสูง โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นที่ต้องการของตลาด รวมไปถึงทักษะเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จากสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ไทยเสี่ยงสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

aging society

วัยแรงงานแบกรับภาระภาษีจำนวนมากจากผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

ในส่วนของภาระการคลังของไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งจะเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังในระยะถัดไป เป็นผลมาจากประชากรวัยแรงงานต้องแบกรับภาระทางภาษีจำนวนมากจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากอัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงาน (Old-age Dependency) ที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจาก 20% ในปี 2563 เป็นราว 47% ในปี 2583 ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นยิ่งส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐด้านสาธารณสุขและสวัสดิการผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกัน รายรับจากประชากรวัยแรงงานที่เป็นฐานภาษีก็มีแนวโน้มลดลง อาจทำให้มีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ตลอดจนอาจจะกระทบต่อความยั่งยืนของระบบบำนาญของประเทศ ยิ่งจะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะที่ผ่านมาภาครัฐได้เริ่มออกมาตรการรับมือสังคมสูงอายุไปบ้างแล้ว เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นมาตรการที่เน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งช่วยเพียงชะลอผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น

aging society

เร่งปรับตัวก่อนสาย พัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน

หากไทยยังไม่ปรับตัวอย่างจริงจัง อาจจะต้องเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ในขณะที่ยังไม่พร้อมตามปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งรายได้ต่อหัวของประชากรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ระบบบำนาญที่ยังไม่ครอบคลุมและไม่เพียงพอ การขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมไปถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังของประเทศในอนาคต ถึงเวลาแล้วที่ไทยควรเร่งรับมือปัญหาดังกล่าว ผ่านการออกมาตรการต่างๆ ให้มีความเพียงพอและครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มทุกวัย แม้ว่าอาจจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันที แต่อย่างน้อยอาจจะพอช่วยบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้บ้าง โดยอาจแบ่งกลุ่มแรงงานเพื่อออกแนวทางการรับมือ ดังนี้ 

กลุ่มแรกคือผู้สูงอายุและคนกำลังจะเป็นผู้สูงอายุในไม่ช้า ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระดับการศึกษาต่ำและประกอบอาชีพเกษตรกรรม ยิ่งทำให้ยากต่อการพัฒนาและปรับทักษะใหม่ๆ ในกลุ่มนี้อาจจะต้องหวังพึ่งพาภาครัฐในการดูแลให้สามารถดำรงชีวิตโดยไม่ลำบากมากนัก ซึ่งอาจเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 4.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 45% ของผู้สูงอายุทั้งหมด ซึ่งภาครัฐได้ออกมาตรการดูแลส่วนนี้ไปบ้างแล้ว เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บัตรทอง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น  อย่างไรก็ตามเบี้ยยังชีพที่ผู้สูงอายุได้รับยังค่อนข้างน้อยและไม่เพียงพอต่อการยังดำรงชีวิต

ภาครัฐอาจจะต้องปรับปรุงและพัฒนาหลักประกันทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง เพื่อให้ผู้สูงอายุยังคงสามารถสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองให้นานที่สุด โดยต้องเป็นงานที่เน้นความปลอดภัย มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับเงื่อนไขตามวัยของแรงงงาน เช่น งานพัฒนาชุมชน งานบริการในห้องสมุดหรือร้านหนังสือ เป็นต้น 

ขณะที่แรงงานกลุ่มที่ยังมีเวลาและมีศักยภาพในการปรับตัว ภาครัฐควรเร่งออกมาตรการเชิงรุกเพื่อยกระดับผลิตภาพแรงงานซึ่งน่าจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญสังคมสูงอายุในระยะยาว ผ่านการพัฒนาทักษะแรงงาน (Upskilling & Reskilling) ให้ตรงกับความต้องการของตลาดเพื่อให้แรงงานสามารถเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ของประเทศในอนาคตได้ เช่น ทักษะเทคโนโลยีดิจิทัล ทักษะเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น ควบคู่กับการส่งเสริมการผลิตบัณฑิตในสาย STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) ให้มากยิ่งขึ้น

ในส่วนของการพัฒนาทักษะแรงงานวัยกลางคน หรือ Gen X อาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว โดยอาจเริ่มจากการปรับทักษะง่ายๆ  เช่น ทักษะการบริบาลผู้สูงอายุ ซึ่งไทยมีศักยภาพและความพร้อมด้าน Healthcare เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบกับไทยยังถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศจุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดของโลกสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุวัยเกษียณ ถือเป็นโอกาสดีของไทยที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งอาจจะพอช่วยบรรเทาปัญหาสังคมสูงอายุของไทยได้บ้าง นอกจากนี้การส่งเสริมสุขภาพแบบป้องกันควบคู่กันไปจะช่วยลดค่าใช้ด้านสาธารณสุขของภาครัฐ ไม่ให้เป็นภาระการคลังต่อไปในอนาคต

aging society

อย่างไรตาม โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง ทักษะที่เป็นที่ต้องการในวันนี้ อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไปในวันข้างหน้า การเตรียมพร้อมรับมือกับทุกๆ การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การสร้างสังคมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยภาครัฐควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และสร้างแรงจูงใจให้แรงงานต้องการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อโลกอนาคต เช่น ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงการสร้างระบบพัฒนาทักษะให้มีความครอบคลุมและเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ อย่างครบวงจร ตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาตลอดจนการนำไปใช้งานจริง ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ได้จัดตั้งโครงการ SkillsFuture เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาและเรียนรู้ทักษะใหม่ตลอดชีวิตของแรงงานสิงคโปร์ โดยทางรัฐบาลจะสนับสนุนเครดิตคนละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์แก่แรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปเพื่อนำไปใช้พัฒนาทักษะที่สนใจ ควบคู่กับการจัดหางานที่เหมาะสมบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างครบวงจร 

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา