ยิ่งอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคการผลิตไทยยิ่งติดลบ เพราะสินค้าจีนเอาไปกินหมด

“กับดักใหม่ของเศรษฐกิจไทย “ยิ่งอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคการผลิตไทยยิ่งติดลบ เพราะสินค้าจีนกินหมด
โรงงานไทยสู้สินค้านำเข้าไม่ได้ สินค้าราคาถูกจึงเข้ามาแทนที่ หมายความว่าปริมาณการผลิตหาย การจ้างงานก็หายไปด้วย..

Veerayooth Kanchoochat

หลังปี 2565 ประเทศไทยมีปัญหาใหญ่คือ การผลิตและการบริโภคไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ก่อนปี 2565 เป็นลักษณะทั่วไปของเศรษฐกิจ ถ้าการบริโภคอยู่ขาขึ้น การผลิตก็จะขาขึ้นด้วย ถ้าเศรษฐกิจในประเทศมีการจับจ่ายใช้สอยดี คนเดินซื้อของ ก็ช่วยกระตุ้นให้การผลิตในประเทศคึกคักไปด้วย มีการจ้างงาน มีการนำของเอามาขาย 

ก่อนปี 2565 การขึ้นและการลงของการผลิตและการบริโภคในไทยไปในทิศทางเดียวกันมาตลอด ช่วงโควิดพอการบริโภคตก การผลิตก็ตกไปด้วย พอการบริโภคกลับมาในอดีต การผลิตจะกลับมาด้วย แต่หลังปี 2565 แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยก็คือ การผลิตและการบริโภคของไทยแยกทางกันเดินแล้ว

ไตรมาส 3 ปี 2567 ที่เราเห็นตัวเลขการบริโภคกลับมาเป็นสภาวะปกติของการอัดเงินลงไปในระบเศรษฐกิจ การบริโภคจะกลับมา จะเห็นการจับจ่ายใช้สอยของผู้คน แต่กลายเป็นว่าตัวเลขการผลิตกลับลดลง ซึ่งมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการด้วยกัน ปัจจัยใหญ่เรื่องหนึ่งก็คือการมีสินค้านำเข้ามาทดแทนการผลิตในประเทศของเราในจำนวนมโหฬาร ส่วนใหญ่ก็มาจากประเทศจีน 

ปี 2566 เราขาดดุลการค้ากับจีนประมาณ 1 ล้านล้านบาท
ปี 2567 คาดการณ์ว่าจะขาดดุลเพิ่ม 50% อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท

สิ่งนี้สะท้อนสิ่งที่ทำให้การผลิตและการบริโภคแยกออกจากกัน หมายความว่า ในระหว่างที่เราดูเหมือนว่าบริโภค จับจ่ายใช้สอยคึกคัก การผลิตกลับแย่ลง เพราะมันเกิดการทดแทนไปในตัว ให้นึกภาพในอดีต สมมติเงินเพิ่มขึ้นในระบบ คนไปจับจ่ายใช้สอย โรงงานก็ผลิตของมาขาย 

แต่พอเกิดสภาวะแยกออกจากกันหรือ disconnect ทำให้โรงงานสู้กับสินค้านำเข้าไม่ได้ ดังนั้น สินค้านำเข้าราคาถูกจึงแทนที่ไป การแทนที่หมายความว่าปริมาณการผลิต สะท้อนถึงการจ้างงานก็จะหายไปด้วย 

ตรงนี้เรียกว่าเป็นลักษณะทางเศรษฐกิจมหภาคของไทยใหม่ อาจเรียกได้ว่ามันคือแผลเป็นทางเศรษฐกิจหลังโควิด เพราะสถานการณ์นี้ทำให้การอัดเงินลงไปในระบบไม่ได้ผลเท่าเดิม และอาจเป็นผลลบกับการผลิตของไทยด้วยซ้ำ 

กลายเป็นว่าการอัดเงินลงไปแทนที่จะเป็นบวก ไม่ได้เป็นศูนย์ด้วย กลับกลายเป็นลบกับการผลิตของไทย เพราะยิ่งบริโภคเพิ่ม กลับทำให้ทดแทนการผลิตในประเทศไปเลย นี่เป็นลักษณะใหม่ เป็นกับดักอันใหม่ของเศรษฐกิจประเทศที่รัฐบาลไทยรักไทย 1 ไม่เคยเจอ 

แม้แต่ตำราเศรษฐกิจก็ต้องเปลี่ยนตามสถานการณ์ หลายเคสบอกว่าสถานการณ์เปลี่ยน ยุทธวิธีก็ต้องเปลี่ยน เราจะยึดกรอบเดิมก็แก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าไม่ปรับวิธีคิดตามข้อมูลที่เปลี่ยนไป

ยิ่งอัดเงินลงไป worst case คือการอัดเงินเพื่อกระตุ้นสินค้านำเข้าด้วยซ้ำ

วีระยุทธ์ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการพัฒนา วิเคราะห์เศรษฐกิจผ่าน YouTube: Suthichai live ภายใต้หัวข้อ “หมดยุค Thaksinomics?”

ดูเนื้อหาเต็มได้ที่นี่ YouTube

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา