อาจจะฟังแล้วไม่เหมือนเรื่องจริง แต่ยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญแล้วว่า ตอนนี้ในประเทศไทยมีคนทำอาชีพ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ แบบเต็มเวลาอยู่เกือบ 3 ล้านคนแล้ว นอกจากนั้น ถ้านับเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ตัวเล็กตัวน้อย เราจะมีประชากรกลุ่มนี้เกือบ 10 ล้านคน
จริงๆ อาจจะต้องเริ่มจากตรงนี้ คือ แม้เราจะเรียกว่า อินฟลูเอนเซอร์ แต่จริงๆ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Influencer Marketing อย่าง Tellscore เรียกพวกเขาเหล่านี้ว่า ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์ (content creator)’ ต่างหาก
โดยเมื่อช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา Tellscore ระบุว่า ตอนนี้ประเทศไทยมี คอนเทนต์ครีเอเตอร์ มากถึง 9 ล้านคน โดยแบ่งเป็น ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์แบบเต็มเวลา’ (Full Time) จำนวน 2 ล้านคน และ ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์แบบไม่เต็มเวลา’ (Part Time) จำนวน 7 ล้านคน
เกณฑ์ของ Tellscore ที่จะนับว่าใครเป็นหรือไม่เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ คือ ขอแค่คุณเคยรับงานและรับเงินแลกกับการทำคอนเทนต์ 1 ครั้งก็เท่ากับคุณได้กลายเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์แล้ว
สอดคล้องกันกับรายงานล่าสุดของ MI GROUP ที่ระบุว่า ประเทศไทยมี ‘อินฟลูเอนเซอร์’ จำนวนเกือบ 3 ล้านคน เติบโตพรวดเดียว 1 ล้านคนจากปีก่อนหน้า ซึ่ง MI GROUP ได้แบ่งอินฟลูเอนเซอร์ในไทยออกตาม ‘จำนวนผู้ติดตาม’ เป็น 5 กลุ่มดังนี้
- เซเลบ & MEGA (ผู้ติดตามเกิน 1 ล้าน) มีอยู่หลักร้อยคน
- MACRO (ผู้ติดตาม 1 แสน-1 ล้าน) มีอยู่หลักพันคน
- MID-TIER (ผู้ติดตาม 5 หมื่น-1 แสน) มีอยู่หลักหมื่นคน
- MICRO (ผู้ติดตาม 1 หมื่น-5 หมื่น) มีอยู่หลักแสนคน
- NANO (ผู้ติดตามไม่เกิน 1 หมื่น) มีอยู่หลักล้านคน
โดยกลุ่ม NANO ที่มีผู้ติดตามไม่เกิน 10,000 คนนั้น รวมถึงกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าที่ผันตัวมาทำคอนเทนต์ เพื่อขายของด้วย ถ้าสงสัยว่าทำไมประเทศไทยถึงมี ‘อินฟลูเอนเซอร์’ มากขนาดนี้ก็ต้องบอกว่า เพราะเม็ดเงินที่มากยังไงล่ะ
ธุรกิจในไทย ทุ่มเงินจ้าง ‘อินฟลู’ มากกว่าชาติไหนๆ
ข้อมูลของ MI GROUP บอกว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา ธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยได้ใช้ ‘เงินโฆษณา’ ลงไปกับสื่อดิจิทัลมากที่สุด ด้วยจำนวนเงินที่มากถึง 38,938 ล้านบาท
โดยเงิน 1 ใน 3 ของเงินโฆษณาในสื่อดิจิทัลไทยถูกทุ่มลงไปให้กับ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ หรือถ้าลองคำนวณแบบคร่าวๆ ดูจะเห็นว่า มีเงินมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทที่ถูกจ่ายให้กับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์
ซึ่งทาง MI GROUP ก็ยืนยันว่า ไทย ถือเป็นประเทศที่ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ได้รับส่วนแบ่งจากเม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัลมากกว่าชาติอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด แตกต่างจากชาติเอเชียอื่นๆ อย่างเช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วน 14%, 5% และ 4% ตามลำดับ
คำถามคือ ทำไมธุรกิจหรือแบรนด์ต่างๆ ที่ขายสินค้าและบริการในประเทศไทยถึงเลือกจะทุ่มเม็ดเงินลงไปให้กับอินฟลูเอนเซอร์มากกว่าชาติอื่นๆ
3 เหตุผลที่ทำให้ธุรกิจในไทยเลือกลงเงินกับ ‘อินฟลูเอนเซอร์’
1) คนไทยชอบโดนป้ายยามาก : คนไทย 49 ล้านคนใช้โซเชียล กว่า 80% ติดตามอินฟลูและซื้อสินค้าตามรีวิวอินฟลู แถมยังชอบช้อปออนไลน์มากๆ
2) เพิ่มยอดขายลำบาก : เศรษฐกิจฝืดเคือง แบรนด์เพิ่มยอดขายลำบาก-มีงบจำกัด อินฟลูเอนเซอร์คือกลุ่มคนที่ช่วยเพิ่มยอดขายได้ทันทีทันใด มากกว่าการลงเงินไปกับการยิงแอดหรืออื่นๆ
3) Affiliate พัฒนาไว : Affiliate Marketing แปะลิงก์ป้ายยา ติดตะกร้า พัฒนาเร็ว ทำได้ง่าย บางคนอยากหารายได้ ไม่ได้อยากเป็นอินฟลู
แบรนด์เลือกเบอร์ใหญ่น้อยลง เน้นเบอร์เล็กหลายๆ คนแทน
ปัจจุบันเทรนด์ของ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดย Dataxet ได้รวบรวมบทสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านอินฟลูเอนเซอร์หลายคนอย่างเช่นผู้บริหาร Anymind และ Rainmaker โดย Brand Inside ได้สรุปเทรนด์อินฟลูไทยที่กำลังเปลี่ยนไปออกมาเป็น 4 ข้อหลักๆ ได้แก่
1) แบรนด์เลือกใช้ ‘อินฟลูเบอร์ใหญ่’ น้อยลง และหันไปใช้ ‘อินฟลูเบอร์เล็ก’ มากขึ้น
2) อินฟลูเฉพาะทางที่มีความถนัดเฉพาะด้านและเน้นทำคอนเทนต์เฉพาะเจาะจงลงไป
3) สายข่าว-ครอบครัว-สัตว์เลี้ยง ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง
4) Brand as Publisher แบรนด์หันมาผลิตคอนเทนต์เองมากขึ้น บางแบรนด์แทบไม่ได้จ้างอินฟลูเอนเซอร์อีกเลย
อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วจะบอกว่าประเทศนี้เป็นประเทศแห่งอินฟลูเอนเซอร์คงไม่ผิด เรียกว่าเดินไปสิบก้าวจะต้องเจอคนเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์แล้ว 1 คน แล้วคุณล่ะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไหม หรือมีคนรอบตัวเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์อยู่กี่คน?
- ประเทศนี้มีอินฟลู 9 ล้าน คอนเทนต์ที่คนไทยชอบดูที่สุด คือ วันๆ หนึ่งใครทำอะไรบ้าง
- คนไทยโดนป้ายยาง่าย แบรนด์ในไทยเลยทุ่มเงินหมื่นล้าน จ้าง ‘อินฟลู’ มากกว่าชาติไหนๆ
- นี่คือคนไทย 2024 ทันทุกกระแส รักคลิปสั้นฮีลใจ ขี้เกียจต่อคิวจนยอมจ้าง ชอบซื้อตามอินฟลู
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา