ทำไม ธปท.อาจคงดอกเบี้ยที่ 1.75% ทั้งปี 2019 สวนทางเทรนด์โลกที่เป็นดอกเบี้ยขาลง

เบื้องต้นหน้าที่ของดอกเบี้ยนโยบายคือการดูแลเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งในประเทศไทยการปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของคนไทยขยับตามไปด้วย

ยิ่งตอนนี้เทรนด์ดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกเหมือนเข้าสู่ขาลงอีกครั้ง แต่ทิศทางดอกเบี้ยของไทยจะเป็นอย่างไร?

TMB ชี้ธปท.คงดอกเบี้ย 1.75% ตลอดปี 2019 ไม่ปรับลดตามเทรนด์โลก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics บอกว่า ปี 2019 นี้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% สวนทางกับทิศทางดอกเบี้ยโลกที่หลายธนาคารกลางในต่างประเทศมีท่าทีจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้เมื่อเศรษฐกิจหลายประเทศในโลกมีแนวโน้มแย่ลง ธนาคารกลางบางประเทศจึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงกันไปแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง เช่น ธนาคารกลางออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนอย่าง มาเลเซียและฟิลิปปินส์

TMB Analytics คาดว่าธนาคารกลางหลักของโลก อย่าง สหรัฐ หรือ FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจใช้มาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติม

“หลังจากที่สภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เริ่มมีความน่ากังวลเพิ่มขึ้น สะท้อนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาย่ำแย่ ทั้งการจ้างงานที่ลดลงจากเฉลี่ย 223,000 คนต่อเดือนในปีที่แล้ว เหลือเพียง 155,000  คนในปีนี้ อีกทั้ง อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้าหมาย 2% อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตุลาคมปี 2018 โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนอยู่ที่เพียง 1.6% อีกทั้ง ตัวเลขของเศรษฐกิจหลักอื่นๆก็มีแนวโน้มแย่ลง”

ทำไมแบงก์ชาติของไทยปรับลดดอกเบี้ยตามเทรนด์โลกไม่ได้

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีทิศทางชะลอลงตัว เพราะสงครามการค้ายังไม่ชัดเจน และส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย ขณะเดียวกันการทำงบประมาณปี 2020 ของรัฐบาลใหม่ยังล่าช้า อาจส่งผลให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐชะลอตัว และฉุดให้การลงทุนภาคเอกชนไม่ขยายตัวในช่วงปลายปี

เมื่อทิศทางเศรษฐกิจไทยยังชะลอลงต่อเนื่องจากปีที่แล้วอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ ธปท. พิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไทยยังมีข้อจำกัดในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนประเทศอื่น เพราะไทยมีหนี้ครัวเรือนในระดับสูง และอาจเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินของประเทศ 

ปัจจุบันประเทศไทยมีสินเชื่อรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ 4.6 ล้านล้านบาท แต่สินเช่ือครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น กลับมีคุณภาพหนี้ต่ำลง อาทิ NPL หรือหนี้เสียรายย่อยอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.75% ของสินเชื่อทั้งหมด โดย NPL สินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นสัญญาณว่าความสามารถในการจ่ายหนี้ของประชาชนลดลง หากลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจกระตุ้นให้การก่อหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น และกระทบเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต

สรุป

เมื่อธปท.เลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เบื้องต้นจะทำให้ภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ คงดอกเบี้ยที่ให้ลูกค้ารายย่อยไว้ และในมุมของนักลงทุนรายใหญ่จะเริ่มมองหาโอกาสลงทุนกันแล้ว ว่าเม็ดเงินทั่วโลกจะหมุนไปทางไหน เพราะเมื่อต่างประเทศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ผลตอบแทนบางอย่างในประเทศนั้นก็ลดลงไป เราอาจจะเห็นเม็ดเงินลงทุนไหลมาที่ไทยเพิ่มขึ้นก็ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา