อยู่ๆ Influencer ทั้งหลายอาจได้หนาวๆ ร้อนๆ กันบ้าง เมื่อ WISESIGHT ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย ออกมาเปิดผลการสำรวจและวิเคราะห์ จัดอันดับ และดูประสิทธิภาพของ Influencer กว่า 1,500 กลุ่มตัวอย่าง เรียกว่าหยิบมาเปรียบเทียบกันให้เห็นๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของแต่ละ Platform ใน Social Media ทั้งหมด
กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า รายงาน Thailand’s Influencer Preformance Report โดยมีข้อสรุปที่น่าสนใจว่า High Followers ไม่ได้สะท้อน High Influence ที่แท้จริง หรือแปลว่า Influencer ที่มียอดการติดตามเยอะ ไม่ได้หมายความว่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป หากแต่มีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง
แน่นอนว่า สำหรับคนที่อยากได้รายงานฉบับเต็ม ข้อมูลมาแบบครบถ้วนเพื่อประกอบการตัดสินใจ คงต้องติดต่อไปที่ WISESIGHT โดยตรง แต่ก่อนอื่น ลองมาดูผลการสำรวจเบื้องต้นกันก่อน
ทั่วโลก Influencer กลายเป็นเครื่องมือการตลาดที่แบรนด์และเอเยนซี่ให้ความสนใจอย่างยิ่ง โดย 63% ของแบรนด์ต่างๆ เพิ่มงบประมาณในการทำตลาดผ่าน Influencer โดยเงินทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ใช้จ่ายไป สามารถเพิ่ม Media Value กลับมาได้ 5.20 ดอลลาร์ นั่นทำให้ภายในปี 2020 เชื่อว่าเงินที่ใช้ในการตลาด Influencer จะสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์
สำหรับประเทศไทย Influencer ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย กระจายอยู่ในแพลตฟอร์มหลัก ทั้ง Facebook, Instagram, Twitter และ YouTube มียอด Engagement พอสมควร
การสำรวจข้อมูล Influencer ของ WISESIGHT ครั้งนี้ มีการเก็บข้อมูลในส่วนของ Data Validation, Data Coverage, Data Collection, Historical Data, Cluster และ Benchmark เป้าหมายสำคัญคือ ช่วยให้แบรนด์และเอเยนซี่ ได้ข้อมูลเชิงลึกว่า Influencer ใช้แพลตฟอร์มอะไร ได้ผลกับผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน และต้องเลือกการทำตลาดอย่างไรเพื่อให้ประสบความสำเร็จ
Painpoint สำคัญของแบรนด์และเอเยนซี่คือ ไม่รู้ว่าจะเลือกใช้ Influencer อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ การตัดสินใจเลือก Influencer ถูกต้องและตรงกับกลุ่มเป้าหมายหรือไม่
จากที่กล่าวว่า High Followers ไม่ได้หมายความว่าจะสร้าง High Infuence โดยจากข้อมูลพบว่า เมื่อมีการจัดอันดับ Influencer เป็น Rank A+, A, B, C โดยพิจารณาจากยอด Audience x Engagement และสูตรการคำนวณที่สามารถวัดผลได้ พบว่า Influencer 13% ที่อยู่ใน Rank B และ C สามารถสร้าง Engagement ได้ใกล้เคียงกับกลุ่ม Top Influencer
ขณะที่ 32% ของ Rank A+ และ A กลับสร้างการ Engagement ได้ต่ำกว่ามาตรฐานโดยรวม
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น WISESIGHT ได้ยกตัวอย่าง Influencer ในประเทศไทยจากการสำรวจช่วงเดือน เม.ย. – ก.ค. 62 พบว่า กลุ่มที่มียอด Engagement มากที่สุดคือ Lifestyle ประมาณ 771 ล้านครั้ง รองลงมาคือกลุ่ม Food & Dining, Beauty & Fashion, Social News และ Pets แสดงให้เห็นว่าคนไทยชื่นชอบเรื่องราวทั่วไปมากกว่าคอนเทนต์เฉพาะกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Food & Dinning และ Pets ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ การกินดื่มเป็นเรื่องราวปกติในชีวิตประจำวัน โดย Influencer ที่ได้รับความนิยมสูง เช่น Wongnai Cooking, กับข้าวกับปลาโอ และศุภชัยเสมอมิตรโหน่งโชว์ ส่วนสังคมคนเลี้ยงสัตว์ก็กว้างขวางมากขึ้น
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายงานฉบับนี้ ถ้าอยากได้ข้อมูลมากกว่านี้ คงต้องตัดสินใจซื้อข้อมูลบทวิเคราะห์ฉบับเต็มจาก WISESIGHT
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา