นี่หรืออนาคต? ไทยส่ง “ความเป็นไทย” ไปประชันในงานแสดงนวัตกรรมแห่งอนาคต World Expo 2020

นิทรรศการโลก World Expo 2020 เริ่มขึ้นแล้ว ณ มหานครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นี่คืองานนิทรรศการระดับโลกที่จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี เพื่อให้แต่ละประเทศได้เข้าไปประชัน ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรมกรรมชั้นสูง และองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เป็นที่จดจำไปทั่วโลก

world expo 2020 dubai

World Expo จัดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1851 ในสหราชอาณาจักรและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในอดีตมีการจัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม และความเจริญก้าวหน้ามากมายไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ หอไอเฟล เครื่องเอ็กซเรย์ โคนไอศกรีม การแพร่ภาพโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ ระบบ IMAX ระบบจอสัมผัส ไปจนถึงหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์

ในปีนี้ ไทยก็ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ World Expo 2020 เช่นเดียวกัน ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักรัฐมนตรี ระบุผ่าน Twitter ว่าในการเข้าร่วมครั้งนี้ ประเทศจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนสู่อนาคต” หรือ Mobility for Future

เราลองมาดูภาพกันว่าประเทศไทยนำเสนอภาพอนาคตและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีภายในงาน World Expo 2020 ไว้อย่างไรบ้าง

พื้นที่นิทรรศการของประเทศไทยมาในคอนเซ็ปต์ “แสดงออกถึงความเป็นไทย สร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้ชาวต่างชาติตั้งแต่แรกเห็น” ผสานรวม สีทอง การไหว้ ซุ้มประตูโค้งแบบไทยๆ และพวงมาลัย เข้ามาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสถาปัตยกรรม

อย่างไรก็ตาม เราเห็นได้ชัดว่าประเทศไทยมีความพยายามนำเสนอภาพเก่าๆ ทั้งสีทองที่เป็นองค์ประกอบของเครื่องยอดต่างๆ ของไทย การไหว้และพวกมาลัยเพื่อแสดงความต้อนรับขับสู้ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของประเทศไทย แต่ในทางกลับกันเรากลับไม่ได้เห็นความพยายามในการนำเสนออะไรใหม่ๆ เช่น การประยุกต์การออกแบบอย่างยั่งยืน วิทยาศาสตร์อาหาร หรือเทคโนโลยีด้านการเกษตรแม้แต่น้อย

น่าสนใจว่าในขณะที่ต่างชาติพยายามนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เทคโนโลยี AI แต่ในพื้นที่จัดแสดงของประเทศไทยเราไม่ได้เห็นอะไรแบบนี้เท่าที่ควร

คราวนี้เราลองมาดูกันว่าประเทศอื่นๆ พยายามนำเสนออะไรกันบ้างในงานนี้

สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ 

world expo 2020 dubai

เริ่มกันที่เจ้าภาพในครั้งนี้ พื้นที่จัดแสดงของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ใช้นกเหยี่ยวเป็นหัวใจของการออกแบบหลังคาเหล็กเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความสง่างาม ความทรงพลัง และการบุกเบิกอะไรใหม่ๆ 

ตัวหลังคาประกอบด้วยปีกที่สามารถเคลื่อนไหวได้จำนวน 28 ชิ้น เพื่อปรับทิศทางของเซลล์แสงอาทิตย์ให้สามารถเก็บพลังงานได้มากที่สุด

สิงคโปร์

สิงคโปร์มาในธีม “Nature. Nurture. Future.” หรือ ธรรมชาติหล่อเลี้ยงอนาคต เน้นการออกแบบพื้นที่จัดแสดงให้กลายเป็นเมืองที่ทั้งอัจฉริยะและยั่งยืน ผสานความสามารถด้านการออกแบบ เทคโนโลยี และธรรมชาติเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเมืองสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนเพียงพอ

เบลเยียม

พื้นที่จัดแสดง “The Green Arch” ของเบลเยียมแสดงให้เห็นถึงการสร้างเมืองยั่งยืนโดยเชื่อมร้อยความรู้ความสามารถและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ เข้าไว้ด้วยกัน และใช้ศิลปะแบบ Romanticism เข้ามาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเสาหินและเส้นโค้งในสถาปัตยกรรม

สหราชอาณาจักร

พื้นที่จัดแสดงของสหราชอาณาจักรเป็นประติมากรรมไม้หลายชิ้น เป็นตัวแทนของความแตกต่างหลากหลายใต้ร่มธงสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ มีการใช้อัลกอริทึมในการช่วยรวบรวมและประมวลคำที่ผู้เข้าชมการจัดแสดงส่งมาให้ในทุกๆ นาที และฉายขึ้นขึ้นไปยังผิวหน้าของตัวอาคารโดยอัตโนมัติ

ฟินแลนด์

พื้นที่จัดแสดงของฟินแลนด์ฉายภาพปรัชญาเรียบง่ายแต่ใช้ได้จริงออกมาอย่างชัดเจน ด้วยการใช้ประโยชน์จากการเปิดโล่ง พื้นผิวเรียบ ในการออกแบบตัวอาหารที่เป็นรูปทรงเต็นท์แบบอาหรับที่ปกคลุมด้วยหิมะ สะท้อนวัฒนธรรมของชาติเจ้าภาพและชาติตน

และไม่ใช่แค่นั้น เพราะพื้นที่จัดแสดงของฟินแลนด์มีการโชว์นวัตกรรมมากมายไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และอื่นๆ

ที่มา – arch2o, Thailand Pavilion, UAE Pavilion, Belgium Pavilion, Finalnd Pavilion, Singapore Pavilion, UK Pavilion

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน