หนักหน่วงจริงๆ สำหรับประเทศไทยในตอนนี้ นอกจากโควิดระบาดทั่วทุกพื้นที่ ยังมีน้ำท่วมหนักกว่า 20 จังหวัดไม่พอ ยังไม่หมดแค่นี้ สภาพหนี้ครัวเรือนก็เพิ่มขึ้น คนว่างงานก็ยังมีจำนวนสูง แถมอาชญากรรมก็เพิ่มขึ้นด้วย
รายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยล่าสุด ระบุว่า ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 2/2564 เติบโตต่อเนื่อง ยอดคงข้างหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 2/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อ GDP ชะลอลงจากระดับ 90.6% ต่อ GDP สูงสุดในรอบ 18 ปี ที่ทำไว้ในไตรมาส 1/2564
เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2564 เติบโตขึ้นในอัตราที่มากกว่าหนี้ครัวเรือนโดยจีดีพี ณ ราคาประจำปีเติบโตถึง 10.7% YoY เทียบกับหนี้ครัวเรือนของไทยที่ขยายตัว 5.0% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
หนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.36 แสนล้านบาท
สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ชะลอลงในไตรมาส 2/2564 ดังกล่าวน่าจะเป็นภาวะชั่วคราว ไม่ได้หมายความว่า หนี้สินภาคครัวเรือนมีความน่ากังวลลดลง ยอดคงค้างหนี้สินของครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นในระหว่างไตรมาสสะท้อนว่าภาระหนี้ในระดับครัวเรือนยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง หนี้สินครัวเรือนขยับขึ้นประมาณ 1.36 แสนล้านบาทในไตรมาส 2/2564 (ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 14.14 ล้านล้านบาทมาที่ 14.27 ล้านล้านบาท) โดยหลัก เป็นผลมาจากการเร่งขึ้นของหนี้รายย่อยสองส่วน
- หนี้เพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในส่วนที่ปล่อยโดยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยไตรมาส 2/2564 มีการปล่อยสินเชื่อใหม่สำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อบ้าน วงเงินประมาณ 1.56 แสนล้านบาท
- หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งครัวเรือนน่าจะใช้เป็นช่องทางเพิ่มสภาพคล่องระยะสั้น เพื่อบรรเทาปัญหารายได้ไม่สมดุลกับภาระค่าใช้จ่าย
วิกฤตโควิดส่งผลกระทบซ้ำเติมให้สถานะทางการเงินของครัวเรือนหลายส่วนเปราะบางมากขึ้น จากข้อมูลล่าสุดของแบงก์ชาติ เดือนกรกฎาคม 2564 มีจำนวนบัญชีสินเชื่อรายย่อยที่เข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากสถาบันการเงินที่ 5.12 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.35 ล้านล้านบาท หนี้รายย่อยที่เข้ามาตรการช่วยเหลือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ23.5% ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทย สัดส่วนหนี้เข้ามาตรการเมื่อเทียบกับหนี้ครัวเรือนดังกล่าวยังมีแนวโน้มขยับขึ้นต่อเนื่องระหว่างไตรมาส 3/2564
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยจะกลับมาเร่งสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2564 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอาจขยับขึ้นเข้าใกล้กรอบบนของตัวเลขประมาณการหนี้ครัวเรือน คาดการณ์ไว้ในช่วง 90-92% ต่อจีดีพี เนื่องจากหนี้สินครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูงและครัวเรือนบางส่วนอาจก่อหนี้เพิ่มช่วงต้นไตรมรสที่ 3/2564
การทยอยคลายล็อกมาตรการสกัดการระบาดของโควิดตั้งแต่ช่วงกันยายน 2564 ความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนและแนวทางเปิดประเทศมากขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์รายได้ของครัวเรือน แต่ต้องยอมรับว่า ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้รายย่อยหลายกลุ่ม อาจยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ทันทีภายในปีนี้
หนี้สินครัวเรือนขยายตัว ว่างงานสูง อาชญากรรมเพิ่ม
ข้อมูลการรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสองจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่าหนี้สินครัวเรือนขยายตัว 4.6% คิดเป็นสัดส่วน 90.5% ต่อจีดีพีในไตรมาสแรก คุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังจากการแพร่ระบาดและการฟื้นตัวของเศรษฐกินที่ไม่แน่นอน จะส่งผลให้การผิดนัดชำระหนี้และการก่อหนี้นอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นช่วงของการล็อคดาวน์ประเทศเพื่อลดการแพร่ระบาดโควิด-19 สถานการณ์ระบาดของโควิดที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐส่งผลกระทบตลาดแรงงาน การจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กานจ้างงานภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 2.4%
การจ้างงานงานเพิ่มขึ้นในสาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร สาขาการขนส่ง/ เก็บสินค้า มีการขยายตัว 5.1%, 5.4% และ 7.1% ตามลำดับ สาขาการผลิตและการขายส่ง/ขายปลีก การจ้างงานหดตัว 2.2% และ 1.4% การจ้างงานหดตัวในาขากรผลิตเป็นการหดตัวในสาขาใช้แรงงานเข้มข้นเป็นหลัก ขณะที่สาขาผลิตเพื่อการส่งออกมีการจ้างงานเพิ่มต่อเนื่อง อาทิ สาขาเครื่องคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และผลิตภัณฑ์ยาง
การว่างงานยังอยู่ในระดับสูงอยู่ที่ 1.89% ลดลงเล็กน้อยจาก 1.96% ในไตรมาสก่อน คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน แบ่งเป็นผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน (จบการศึกษาใหม่) 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้น 10.04% ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 4.4 แสนคน ลดลง 8.38% เมื่อพิจารณาผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน ส่วนใหญ่เคยทำงานในสาขาการผลิตจำนวน 0.86 แสนคน สาขาโรงแรมและภัตตาคาร 0.83 แสนคน การขายส่ง ขายปลีก 0.72 แสนคน
ผู้ว่างงานมีแนวโน้มว่างงานนานขึ้น ผู้ว่างงานนานกว่า12 เดือนมีจำนวน 1.47 แสนคน คิดเป็น 20.1% ของผู้ว่างงาน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วนเพียง 11.7% อัตราการว่างงานตามระดับการศึกษาพบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีการว่างงานเพิ่มขึ้น ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตรา 3.44% สะท้อนให้เห็นว่าการว่างงานในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะสูง
การว่างงานในระบบ ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวน 3.1 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนต่อผู้ประกัน 2.8% ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย แต่ยังคงสูงกว่าสถานการณ์ปกติ ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา33 ที่รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยมีจำนวน 32,920 คน เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวน 7,964 คนและแรงงานในสถานประกอบการที่ขอใช้มาตรา 75 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีจำนวน 81,493 คนใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน
คดีอาชญากรรมโดยรวมเพิ่มขึ้นทั้งจากคดียาเสพติดและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ขณะที่สถานการณ์ค้ามนุษย์ถูกปรับลดให้อยู่ระดับ Tier 2 Watch Lish ประเทศที่ถูกจับตามอง
ไตรมาส 2 ปี 2564 คดีอาญารวมมีการรับแจ้ง 106,476 คดี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเพียวกันของปี 2563 อยู่ที่ 11.5% เป็นการรับแจ้งคดียาเสพติด 92,354 คดี เพิ่มขึ้น 13.3% และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์รับแจ้ง 10,848 คดี เพิ่มขึ้น 4.5% ขณะที่คดีชีวิตร่างกายและเพศรับแจ้ง 3,247 คดี ลดลง 8.9%
ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา