เกมไม่ใช่แค่สนุก Garena มองตลาดเกมไทยติดท็อป 20 ของโลก หลัง eSport ปั๊มเงินสะพัด 9,000 ล้านบาท

eSport หรือการแข่งขันเกมต่างๆ กลายเป็นที่จับตามองในประเทศไทย เพราะกีฬารูปแบบนี้สามารถหาเลี้ยงตัวเองเป็นอาชีพได้ และปัจจัยนี้ก็ทำให้ภาพรวมตลาดเกมไทยเติบโตแตะ 9,000 ล้านบาทเช่นกัน

ภาพโดย Pablo029 (Own work) [CC BY-SA 4.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)], via Wikimedia Commons

วงการเกมไทยพัฒนาใกล้เคียงต่างชาติ

ตอนนี้เกมไม่ได้มีไว้เพื่อความบันเทิง หรือเล่นสนุกไปวันๆ เพราะเกมกลายเป็น eSport หรือการแข่งขันกีฬา ที่มีทั้งเงินรางวัล และค่าตอบแทนของนักกีฬาของแต่ละสโมสร โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และจีน ที่มีการลงทุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนตลาดเกมโลกให้มีมูลค่ารวมสูงถึง 90,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3.1 ล้านล้านบาท โดยมี PC Game กินสัดส่วนไปราว 60% ที่เหลือเป็น Mobile Game เพราะการเข้าถึง Smartphone และ Tablet ของผู้บริโภคมีมากขึ้น

อัลเลน ซู ผู้จัดการอาวุโสด้านพันธมิตรทางธุรกิจเกม บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า eSport ในประเทศไทยก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น สังเกตจากการเกิดทีมแข่งขันที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเข้ามามีบทบาทของกลุ่มผู้พัฒนาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และค่ายเกมก็หันมาสนับสนุนทีมเหล่านี้ด้วยวิธีต่างๆ เช่นให้เงินเดือน หรือจัดการแข่งขันที่มีเงินรางวัลจำนวนมาก ทำให้วงการเกมไทยพัฒนาอย่างรวดเร็ว และใกล้เคียงกับต่างประเทศเข้าไปทุกวัน ไม่ใช่แค่ฝีมือผู้เล่น แต่รวมถึงความเป็นอยู่ของนักกีฬา

อัลเลน ซู ผู้จัดการอาวุโสด้านพันธมิตรทางธุรกิจเกม บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด

“มูลค่าตลาดเกมในประเทศไทยปี 2559 อยู่ราว 9,000 ล้านบาท แบ่งเป็น PC Game มูลค่า 5,600 ล้านบาท และ Mobile Game อีก 3,100 ล้านบาท ซึ่งปีนี้จะเติบโตอีก 12-15% กับ 30% ตามลำดับ เพราะการสนับสนุนมันมากขึ้นอย่างชัดเจน และนักกีฬา eSport ของไทยก็เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ทำให้ผู้เล่นเกมหน้าใหม่ หรือเล่นเพื่อความสนุก เริ่มหันมาจริงจังกับเรื่องนี้ ส่งผลให้เม็ดเงินสะพัดในตลาดมากขึ้น ที่สำคัญตอนนี้ตลาดเกมในไทยก็อยู่ใน Top 20 ของทั่วโลกแล้ว”

วอนรัฐ-ผู้ปกครองเข้าใจโลกที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตามจากความพร้อมของตลาดเกมในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต, ผู้ให้บริการ, แบรนด์สินค้าไอที รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้เริ่มเข้ามาสนับสนุนวงการนี้แล้ว จึงเหลือแค่หน่วยงานรัฐ และผู้ปกครองที่ยังมองวงการเกมเป็นเรื่องลบอยู่ แต่หากทั้งสองกลุ่มนี้หันมาสนับสนุน ก็มีโอกาสที่จะเกิดนักกีฬา eSport ที่มีคุณภาพได้มากกว่าเดิม ตัวอย่างที่ดีคือในยุโรปที่ทุกภาคส่วนต่างสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ หรือจีนก็มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันให้รับชมอยู่ตลอด จนนักกีฬา eSport มีที่ยืนในสังคม และภูมิใจในอาชีพของตัวเอง

การแข่งขัน eSport รายการ ESL ที่สนับสนุนโดยบริษัทคอมพิวเตอร์ระดับโลก // ภาพโดย Gabriel.gagne (Own work) [CC BY-SA 4.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)], via Wikimedia Commons
สำหรับ Garena นอกจากการจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง เช่นปี 2559 จัดการแข่งขัน 8 รายการใหญ่ ให้เงินรางวัลรวม 27 ล้านบาท ยังนำเข้าเกมใหม่ๆ ทั้ง PC Game และ Mobile Game เข้ามาให้บริการ จากปัจจุบันที่มี PC Game 7 เกม และ Mobile Game 4 เกม ผ่านยอดผู้ลงทะเบียนในระบบรวมกว่า 41 ล้านบัญชี และล่าสุดได้จัดการแข่งขันรายการ GSL 2017 ที่รวมเกมทั้งหมดที่ให้บริการอยู่มาแข่งขัน โดยชิงเงินรางวัลรวมกว่า 7 ล้านบาท และจะจัดการแข่งขัน RoV หรือ Mobile Game ตัวล่าสุดของบริษัทเพื่อชิงเงินรางวัลกว่า 1.6 ล้านบาทเช่นกัน

Pro แนะ 18-25 ปีคือช่วงเวลาขุดทอง

นัฐกร บุญฤทธิ์ภักดี นักกีฬา eSport ของเกม Fifa Online 3 และเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่เก่งที่สุดของโลก เล่าให้ฟังว่า ช่วงอายุ 18-25 ปี คือช่วงที่นักกีฬา eSport จะแสดงประสิทธิภาพออกมาสูงที่สุด เพราะช่วงอายุนั้นร่างกายจะมีการตอบสนองค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะเรื่องการตัดสินใจที่เป็นเรื่องสำคัญนอกจากทักษะในการเล่น ดังนั้นหากผู้เล่นเกมชาวไทยได้รับการสนับสนุนตั้งแต่ช่วงอายุ 12-13 ปี โอกาสที่จะมีนักกีฬา eSport สัญชาติไทยติดระดับโลกในการแข่งขันเกมต่างๆ ก็มีสูง และยังเป็นอีกวิธีหารายได้มาเลี้ยงตัวเองได้อย่างมีความสุ

นัฐกร บุญฤทธิ์ภักดี นักกีฬา eSport เกม Fifa Online 3 ปัจจุบันสังกัดทีม Signature Gaming (Thailand) และ Royal Only Club (China)

สรุป

eSport จะได้รับการยอมรับในวงกว้างหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสายตาของผู้ปกครอง และหน่วยงานรัฐ เพราะหากผู้ปกครองยังมองว่าการเล่นเกมเป็นเรื่องไม่ดี การพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ก็คงเดินหน้าลำบาก ดังนั้นการช่วยกันปรับภาพลักษณ์ของเกมโดยผู้เล่น หรือการสื่อสารข้อมูลใหม่ๆ ก็คงทำให้วงการ eSport ไทยแข็งแกร่ง และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา