แรงกดดันจากสงครามการค้าทำให้ภาคการส่งออกของไทยกลับมาติดลบอีกครั้ง โดยเดือนสิงหาคมภาคการส่งออกของไทยติดลบอยู่ที่ 4% หลังจากเดือนที่ผ่านมากลับมาเติบโตได้ดี
พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาติดลบ 4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และติดลบเป็นเดือนที่ 6 จากการส่งออกทั้งหมด 8 เดือนของประเทศไทย แต่ถ้าหักสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและทองคำออกไปแล้วส่งออกไทยจะติดลบถึง 7.3%
- ส่งออกไทยเดือนกรกฎาคมกลับมาโต 4.28% บวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ดีกว่านักวิเคราะห์คาดไว้
- GDP ไทยไตรมาส 2 โต 2.3% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.7-3.2%
สาเหตุหลักมาจากปัญหาของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเป็นหลัก ส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงผลกระทบดังกล่าวทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียนติดลบ 23.9% เอเชียใต้ติดลบ 20% อินเดียติดลบ 20% ยุโรปติดลบ 6.2% ญี่ปุ่นติดลบ 1.2% ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศจีนติดลบที่ 2.7%
ตลาดส่งออกของไทยที่ยังเติบโตประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา เติบโต 5.8% ทวีปออสเตรเลีย 15.8% ตะวันออกกลาง 5.3%
ปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ ประกอบไปด้วยค่าเงินบาทที่แข็งค่า รวมไปถึงอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกที่เป็นแรงกดดัน ซึ่งถ้าหากคิดรวม 8 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกของไทยติดลบที่ 2.2% ดุลการค้าอยู่ที่ 6,106 ล้านเหรียญสหรัฐ
สินค้าอุตสาหกรรมกของไทยที่ได้รับผลกระทบได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่สินค้าส่งออกที่ทำได้ดีและยังเติบโตคือทองคำ อัญมณี รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ โทรทัศน์และส่วนประกอบ
ขณะที่สินค้าทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบหนักคือข้าวที่ส่งออกติดลบถึง 44.7% เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นหลัก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ติดลบ 23.9% ขณะที่สินค้าทางการเกษตรส่งออกไปได้ดีและเติบโตคือ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ผักและผลไม้ รวมไปถึงน้ำตาลทราย
โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงตัวเลขประเมินว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ 0% และเชื่อว่าสหรัฐจะยังไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในส่วนที่เหลือ
ที่มา – กระทรวงพาณิชย์, ไทยพีบีเอส
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา