ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับ 10 ของโลก ผ่านจำนวนการผลิตในปี 2021 กว่า 1.68 ล้านคัน และปี 2022 ที่ 1.88 ล้านคัน ทั้งมีมูลค่าการส่งออกติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตามด้วยอุตสาหกรรมนี้กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า แต่แรงงานในอุตสาหกรรมนี้ของไทยกลับขาดทักษะที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าไล่ตั้งแต่การออกแบบ, การผลิต จนถึงการซ่อมบำรุง และถ้าไม่มีการยกระดับแรงงานย่อมส่งผลเสียต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยไม่น้อย
โอกาส และเครื่องมือในการยกระดับแรงงานไทยให้มีทักษะรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นจะมีอะไรบ้าง เบนจามิน ตัน ผู้อำนวยการฝ่ายขาย Customer Role Experience ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ บริษัทโซลูชันเกี่ยวกับการออกแบบ และการผลิต ได้อธิบายไว้ดังนี้
อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเป็น CASE
เบนจามิน ตัน ผู้อำนวยการฝ่ายขาย Customer Role Experience ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเดินหน้าไป CASE หรือ Connected Car, Autonomous Car, Car Sharing และ Electric Car ซึ่งทักษะแรงงานไทยอาจยังตามไม่ทันเรื่องดังกล่าว
แม้จะมีการสนับสนุนจากหลากหลายหน่วยงานเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยให้ตามทันกระแสโลก แต่ส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีทั้งฝั่งลูกค้า และแบรนด์ต่าง ๆ รวมถึงการจูงใจให้แบรนด์ระดับโลกเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตในประเทศไทย
ในทางกลับกันการเดินหน้าไป CASE โดยเฉพาะส่วน Electric Car หรือรถยนต์ไฟฟ้า ต้องการแรงงานที่มีทักษะใหม่จำนวนมาก เพราะรถยนต์ไฟฟ้ามีนวัตกรรมที่แตกต่าง เช่น รถยนต์เครื่องสันดาปภายในมีเครื่องยนต์เป็นหัวใจ และน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง แต่รถยนต์ไฟฟ้ามีมอเตอร์เป็นตัวขับเคลื่อน และใช้ไฟฟ้าในแบตเตอรี่เป็นเชื้อเพลิง
เพิ่มทักษะตั้งแต่ออกแบบ ถึงซ่อมบำรุง
หากเจาะไปที่ทักษะของแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องยกระดับหากประเทศไทยต้องการคงประสิทธิภาพในการเป็นฐานผลิตรถยนต์ระดับโลกจะไล่ตั้งแต่การออกแบบ, การผลิต จนถึงการซ่อมบำรุง เนื่องจากการออกแบบรถยนต์ไฟฟ้ามีความแตกต่างกับรถยนต์เครื่องสันดาป และการซ่อมบำรุงนั้นจำเป็นต้องมีความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่
“แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ สามารถช่วยเหลือเรื่องนี้ได้ผ่านการอบรวมด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มทักษะใหม่ให้กับคนในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งยังมีซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีเฉพาะทางที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ ช่วยลดช่องว่างในปัญหาขาดทักษะ และคงประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมรถยนต์บนเวทีโลก”
สำหรับทักษะด้านวิศวกรรมในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าจะประกอบด้วย การออกแบบรถยนต์, การวางระบบส่งกำลัง และการออกแบบซอฟต์แวร์ รวมถึงการออกแบบไลน์ผลิต และการบริหารจัดการโรงงานที่แตกต่าง และในฝั่งงานบริการยังมีเรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และทักษะการซ่อมบำรุงที่ยังค่อนข้างขาดแคลน
เร่ง Upskill และ Reskill คนในอุตสาหกรรม
ด้าน กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT กล่าวว่า ความพยายามในการ Upskill และ Reskill ทักษะต่าง ๆ ให้แก่บุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่ออุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปแบบเดิมไปเป็นระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าถือเป็นภารกิจสำคัญของสมาคมฯ
ขณะเดียวกันการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะกำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัล และวิศวกรรมขั้นสูง ซึ่งความร่วมมือของสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และผู้ให้บริการเทคโนโลยีโดยเฉพาะการพัฒนาแนวทางการศึกษาเรียนรู้แบบครบวงจรคือคำตอบสำหรับการพัฒนากำลังคนให้กับอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตามบุคลากรไม่ควรได้รับความรู้ทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ต้องได้รับทักษะการปฏิบัติที่จำเป็นด้านการออกแบบ พัฒนา และปรับใช้โซลูชันซอฟต์แวร์ขั้นสูงร่วมด้วย ซึ่ง แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ มีแพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE และประสบการณ์ Virtual Twin ที่ช่วยวิจัย และพัฒนา รวมถึงเพิ่มแนวคิดการออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา