คนไทยกว่าครึ่ง ยังขาดความรู้ความเข้าใจความปลอดภัยโลกไซเบอร์

AIS เผยดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ ไทยแลนด์ไซเบอร์เวลเนสอินเด็กซ์ 2024 เป็นปีที่ 2 พบคนไทยกว่าครึ่งยังขาดทักษะความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมส่งต่อองค์ความรู้และผนึกการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ นำผลการศึกษาไปต่อยอดเพื่อสร้างความรู้ ทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาเราได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักวิชาการ ได้เปิดตัวดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index ฉบับแรกของไทยที่ทำให้เห็นถึงระดับทักษะการรับรู้และความเข้าใจการใช้งานดิจิทัลในด้านต่างๆ ที่คนไทยยังคงต้องพัฒนาทักษะความรู้เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหยิบเอาผลการศึกษาของเราไปต่อยอดในการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้ได้ตรงกลุ่มอายุ อาชีพ หรือแม้แต่พื้นที่อย่างสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละหน่วยงาน

ในปีนี้ AIS ได้รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคนไทย 77 จังหวัด 50,965 คน โดยมีการแบ่งดัชนีสุขภาวะดิจิทัลออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ การใช้ดิจิทัล, เข้าใจสิทธิทางดิจิทัล, ความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์, รู้เท่าทันดิจิทัล, การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์, การสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล และการแสดงความสัมพันธ์ทางดิจิทัล ผลการศึกษาและรวบรวมข้อมูลคนไทยอยู่ในระดับพื้นฐานที่ 0.68 หากจำแนกภาพรวมของคนไทยกับสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย พบว่า 18.47% อยู่ในระดับต้องพัฒนา 46.01% อยู่ในระดับพื้นฐาน และ 35.52% อยู่ในระดับสูง

“ทุกกลุ่มอายุอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่กลุ่มที่น้อยที่สุดและน่าเป็นกังวัลคือคือกลุ่มอายุ 10-12 ปี, 13-15 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปี) ตามลำดับ”

สำหรับปีนี้ผลการศึกษาก็ยังสะท้อนให้เห็นว่า แม้คนไทยจะมีการพัฒนาความเข้าใจในการใช้งานบนโลกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นจนผลในภาพรวมอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ยังมีจุดที่น่ากังวล เพราะคนไทยเกินครึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security and Safety) โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อภัยที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อการใช้งานของตนเองและองค์กร อาทิ การไม่มีความรู้ความเข้าใจการถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์, การใช้ Wi-Fi สาธารณะในการทำธุรกรรมทางการเงิน, การใช้ วันเดือนปีเกิด มาตั้งเป็นรหัสผ่านซึ่งง่ายต่อการคาดเดา แม้แต่การไม่ทราบว่าการเข้าเว็บไซต์ที่ปลอดภัยลิงค์ URL ควรจะเป็น HTTPS เป็นต้น

นอกจากนี้ AIS พัฒนาเครื่องมือ “Digital Health Check” เพื่อให้คนไทยสามารถวิเคราะห์และประเมินทักษะด้านดิจิทัลของตนเอง พร้อมทั้งแนะนำช่องทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อเสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ในการป้องกันภัยไซเบอร์ให้แก่ลูกค้าและคนไทย ผู้ที่สนใจตรวจเช็กสุขภาวะทางดิจิทัลของตัวเองได้ที่ https://digitalhealthcheck.ais.th

ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา AIS ได้ให้บริการ AIS Secure Net ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ใช้งานปิดกั้นลิงค์หรือแอปที่อันตรายไปได้กว่า 16.57 ล้านครั้ง ระงับเว็บไซต์ปลอมและถูกตรวจระงับและปิดกั้น 940,267 ครั้ง และตรวจสอบพบไวรัส ระงับและผิดกั้น 252 ครั้ง ซึ่งถือว่าได้ช่วยเหลือลูกค้า AIS ได้เป็นจำนวนมาก และในปีนี้เสริมความอุ่นใจให้ยิ่งขึ้น ลูกค้าสามารถสมัครใช้งาน AIS Secure Net ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงกด *689*6# รวมถึงการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าด้วย บริการ Secure Net+ Protected by MSIG ชูจุดเด่นปกป้องภัยคุกคามทางไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นไวรัส มัลแวร์ เว็บไซต์ปลอมหลอกลวง พร้อมแถมประกันภัยเพอร์ซัลนัลไซเบอร์ จาก MSIG ที่มอบความคุ้มครอง อาทิ การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล และโจรกรรมเงิน หรือการถูกหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ทางออนไลน์ ด้วยวงเงินคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาท เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานออนไลน์ในโลกไซเบอร์ได้อย่างมั่นใจ ในราคาสุดคุ้มเดือนละ 39 บาทเท่านั้น สมัครง่ายๆ เพียงกด *689*10# โทรออก

รายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index 2024 ของคนไทย เพิ่มเติมที่ https://sustainability.ais.co.th/th/sustainability-projects/thailands-cyber-wellness-index

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คนไอที อยู่วงการเทเลคอมมาร่วม 20 ปี ผันตัวมาทำสิ่งใหม่ๆ แล้วก็เริ่มสนุกกับมัน!