[วิเคราะห์] ไทยเบฟฯ VS บุญรอดฯ สร้างอาณาจักรธุรกิจอาหารบนทางเดินที่แตกต่างกัน

“อาหาร” คือ โอกาสทางธุรกิจ ที่ไม่ว่ายังไงคนก็ต้องกิน นั่นคือสิ่งที่ยักษ์ใหญ่ทั้งบุญรอดบริวเวอรี่ และไทยเบฟเวอเรจ มองโอกาสธุรกิจเหมือนกัน แต่วางเส้นทางเดินที่มีความแตกต่างกัน 

จุดเริ่มต้นของธุรกิจอาหารของ ไทยเบฟเวอเรจ เริ่มต้นจากการถือหุ้นโออิชิ กรุ๊ป เมื่อปี 2549 ทำให้พอร์ตโฟลิโอของไทยเบฟฯ มีธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิมีสาขาราว 80 แห่ง และชาเขียวโออิชิทันที

เส้นทางของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ มองย้อนเมื่อ 2553 ไล่ซื้อกิจการ อาทิ บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด และบริษัท เฮสโก ฟู้ด อินดัสทรี่ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจซอสปรุงรสและอาหารแปรรูปต่างๆ เป็นต้น

จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ เมื่อมองวิเคราะห์ของยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของทั้งสองบริษัท มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
  • ไทยเบฟเวอเรจ การขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจอาหารจะมุ่งการเข้าซื้อกิจการหรือเชนร้านอาหารใหญ่ๆ เป็นหลัก

การซื้อกิจการ Mergers and acquisitions (M&A) เป็นหนึ่งยุทธศาสตร์เพิ่มความสามารถของธุรกิจได้เร็ว เพราะการสร้างแบรนด์ใหม่ต้องใช้ระยะเวลา นอกจากนี้การซื้อกิจการสามารถสร้างการเติบโตได้ดีกว่า 

  • บุญรอดบริวเวอรี่ การขยายพอร์ตโฟลิโออาหารค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจอาหารตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และเป็นลักษณะของการร่วมทุนและการซื้อกิจการ

การร่วมทุน (Joint Venture) เป็นการนำจุดแข็งของบริษัทมารวมกัน และสามารถเรียนรู้โนฮาวด์และร่วมต่อยอดธุรกิจได้ เป็นสไตล์การเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกันและเติบโตคู่กัน

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

ผ่าเกมไทยเบฟฯ บุกธุรกิจอาหาร

ยุทธศาสตร์ของไทยเบฟเวอเรจในกลุ่มธุรกิจอาหาร ต้องการมีความหลากหลายของเซ็กเมนต์ร้านอาหาร จึงเดินหน้าขยายพอร์ตโฟลิโออาหารให้ครอบคลุม ทั้งร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารไทยและอาเซียน ธุรกิจบริการอาหารจานด่วน และเบเกอรี่ ปัจจุบันมีเชนร้านอาหาร 23 แบรนด์ สาขา 620 สาขา

“เป้าหมายของไทยเบฟฯ คือการขับเคลื่อนธุรกิจอาหารก้าวสู่เบอร์หนึ่งทั้งในไทย และต่างประเทศ ด้วยการเป็น Food of Asia”

พอร์ตโฟลิโอธุรกิจอาหารของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ

ขยายพอร์ตโฟลิโอสู่ Food of Asia

  • ร้านอาหารญี่ปุ่น มาจากการซื้อกิจการโออิชิกรุ๊ปและพัฒนาธุรกิจเองขึ้นมาใหม่ โดยมีด้วยกัน 9 แบรนด์ อาทิ โออิชิ แกรนด์,โออิชิ อีทเทอเรียม,โออิชิ บุฟเฟต์,ชาบูชิ ,โออิชิ ราเมน ,คาคาชิ ,นิกุยะและโฮว ยู มีสาขาทั้งสิ้น 266 สาขา
  • ร้านอาหารไทยและอาเซียน มาจากการซื้อกิจการบริษัท Spice of Asia โดยมีแบรนด์ 4 แบรนด์ ได้แก่ Cafe Chilli ,EatPot Chilli Thai Restaurant, และร้านอาหารเสือใต้ และแบรนด์ที่ 5  คือ So Asean มีสาขาให้บริการ 36 สาขา
  • ธุรกิจบริการอาหารจานด่วน (Quick Service Restaurant : QSR) มี 1 แบรนด์ โดยการซื้อร้านสาขาของเคเอฟซี จาก ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ปัจจุบันมี 305 สาขา
  • ธุรกิจร้านอาหารสไตล์ตะวันตก ภายใต้แบรนด์ “Hyde & Seek” ให้บริการอาหารสไตล์ตะวันตก เจาะกลุ่มบน มี2 สาขา
  • ธุรกิจร้านอาหารจีน  ร้านอาหาร Man Fu Yuan เปิดบริการ 1 สาขา
  • ธุรกิจเบเกอรี่  ร่วมกับเชนเบเกอรี่ชื่อดังจากฮ่องกง “mx cakes & bakery” มี 10 สาขา
  • ธุรกิจ Ready to Cook and Ready to Eat Group  หรือทั้งอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานภายใต้แบรนด์ Oishi eato ตอบโจทย์เทรนด์ด้านความสะดวกสบายของลูกค้า

กลยุทธ์การขับเคลื่อนให้ธุรกิจให้เติบโต

  1. การขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด
  2. การทำการตลาดและสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ที่สร้างความแปลกใหม่ตื่นเต้นให้กับผู้บริโภค
  3. การให้ความคุ้มค่ากับผู้บริโภค โดยคำนึงถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการที่เรามอบให้ผู้บริโภคเป็นลำดับแรกๆ
  4. การให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล พร้อมรองรับการขยายตัวของตลาดดีลิเวอรี่กลุ่มธุรกิจอาหารที่ตอบสนองความต้องการด้านความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคในยุคนี้
  5. การมุ่งเน้นพัฒนาด้านต่างๆ ภายในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของงานให้ดียิ่งขึ้น

สรุป

การวางจิ๊กซอว์ของไทยเบฟฯ ให้น้ำหนักไปที่การดำเนินธุรกิจในฝั่งของ กลุ่มร้านอาหาร (Food Retail) แต่ขณะเดียวกันการปลุกปั้น Oishi eato ก็จะท้อนว่าไทยเบฟฯ กำลังจะบุกผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานและพร้อมปรุง แม้ว่าตอนนี้ผลิตภัณฑ์ไม่มากนัก อาทิ เกี๊ยวซ่า แซนวิช แต่เชื่อว่าไทยเบฟฯ จะบุกธุรกิจอาหารในทุกช่องทางโดยเฉพาะอิ่มสะดวกก็ตอบโจทย์ในยุคนี้

ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด

เจาะยุทธศาสตร์ธุรกิจอาหารบุญรอดฯ

ธุรกิจอาหารของบุญรอดบริวเวอรี่ เริ่มมีนโยบายที่ชัดเจนว่า จากนี้การทำธุรกิจของบริษัทจะไม่ใช่เบียร์อีกต่อไป เมื่อปี 2558 หนึ่งในนั้นคือเสาหลักที่ 6 ของกลุ่มบุญรอดฯ นั่นก็คือ ธุรกิจอาหาร โดย “ปิติ ภิรมย์ภักดี” นั่งแท่นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด

“เป้าหมายของบุญรอดในการทำธุรกิจอาหาร คือการสร้างธุรกิจอาหารไทยสู่เวทีระดับโลก หรือครัวไทยสู่ครัวโลก”

ไล่ซื้อกิจการ-ร่วมทุนต้นน้ำถึงปลายน้ำ

  • บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด และบริษัท เฮสโก ฟู้ด อินดัสทรี่ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจซอสปรุงรสและอาหารแปรรูปต่างๆ  ก้าวแรกของบุญรอดฯ มุ่งเป้าหมายที่การพัฒนาซอสปรุงรสต่างๆ เพราะเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญสำหรับการทำตลาด นอกจากนี้ตลาดซอสปรุงรสยังมีช่องว่างการตลาด โดยเฉพาะเซ็กเมนต์พรีเมี่ยม จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโปรดักส์ ซอสอเนกประสงค์ Made By Todd ซอสต็อด.
  • บริษัท เอเซีย โกลเด้นไรซ์ จำกัด เป็นบริษัทดำเนินธุรกิจข้าวบรรจุถุงพันดี ในรูปแบบของการร่วมทุน โดยบุญรอดฯ มองถึงการเป็นฐานการผลิตข้าวเพื่อป้อนให้กับธุรกิจอาหาร เพราะข้าวถือว่าเป็นวัตถุดิบสำคัญการทำอาหารอยู่แล้ว และเป็น Commodity Product ที่คนไทยทุกคนต้องกิน
  • บริษัท วราฟู้ดแอนด์ดริ๊งค์ จำกัด โรงงานผลิตน้ำมะพร้าวและอาหารกระป๋องจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ
  • บริษัทบีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์บริหารจัดการและกระจายสินค้าในประเทศและภูมิภาค “BevChain Logistics” กลุ่มบุญรอด ร่วมทุนกับบริษัท ลินฟ้อกซ์
  • การซื้อกิจการ บริษัท เคที เรสทัวรองท์ (KT) โดยมีธุรกิจอาหารในพอร์ตโฟลิโอ คือ ร้านเสต๊กซานตา เฟ่ (Santa fe) และร้านต้มยำ ไก่ย่าง เหม็งนัวนัว 
การสร้างผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสและอาหารพร้อมทาน

ฟู้ดแฟคเตอร์มุ่งเป้าหมายผลิตภัณฑ์อาหาร

โครงสร้างทางธุรกิจของฟู้ด แฟคเตอร์ แบ่งโครงสร้างการดำเนินธุรกิจออกเป็น  3 ส่วนหลัก ได้แก่

1.กลุ่มการผลิตและผลิตภัณฑ์ (Food Product & Production) กลยุทธ์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มุ่งนำผลิตซอสปรุงรส อาหารสำเร็จรูป เพื่อป้อนให้กับทั้งผู้บริโภคในครัวเรือนและการป้อนวัตถุดิบกลุ่มผู้ผลิตอาหาร ร้านอาหาร หรือ B2B 

2.กลุ่มเครือข่ายธุรกิจอาหาร (Food Network) การบุกธุรกิจอาหารไม่ได้แค่การทำตลาดภายในประเทศ แต่ต้องขยายตลาดต่างประเทศด้วย ดังนั้นเป้าหมาย การสร้างโปรดักส์แชมป์เปี้ยน ตอนนี้มีแค่ 2 แบรนด์ คือ ซอสอเนกประสงค์ Made By Todd ซอสต็อด และสาหร่ายมาชิตะ เป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าต้องมีโปรดักส์แชมป์เปี้ยน 25 รายการ

3.กลุ่มร้านอาหาร (Food Retail) โดย บริษัท เอสคอมพานี จำกัด ในพอร์ตโฟลิโอ มีร้านอาหาร 5 ร้าน ได้แก่ ร้านอาหารเอส 33 ร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji ร้านฟาร์มดีไซน์ และล่าสุดเสต๊กซานโต เฟ่ เหม็ง นัวนัว และในอนาคตมองการขยายธุรกิจจะต้องมีแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ 2-3 แบรนด์

สรุป

การวางจิ๊กซอร์ของบุญรอดฯ มองว่าการมีกลุ่มธุรกิจอาหาร (Food Retail) อย่างการซื้อกิจการเสต๊กซานโต เฟ่ ซึ่งมีร่วม 117  สาขา เป็นเพียงห้องทดลองกลุ่มผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสต่างๆ หรืออาหารต่างๆ ที่จะออกมาให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลอง เป้าหมายของบุญรอดฯ คือ การพัฒนาโปรดักส์แชมป์เปี้ยน อีกไม่นานเกินรอ คงจะมีผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นจำนวนมาก 

ธุรกิจตลาดอาหารในประเทศไทยมูลค่า 4 แสนล้านบาท นับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ยังไม่รวมถึงธุรกิจอาหารพร้อมทานและอาหารพร้อมปรุง และกลุ่มผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสต่างๆ นานา ในอีก 5 ปีข้างหน้าวธุรกิจอาหารภายใต้การนำของบริษัทฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด วางเป้าหมายสร้างรายได้จากธุรกิจอาหาร 15,000 ล้านบาท สำหรับรายได้กลุ่มอาหารของไทยเบฟเวอเรจ รอบบัญชี ตุลาคม 2561 – มิถุนายน 2562 ปิดรายได้ราว 11,649 ล้านบาท ต้องดูกันต่อไปว่า ใครจะสามารถทำธุรกิจได้ตามเป้าหมายกับอาณาจักรอาหารที่สร้างรายได้มหาศาล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา