หลังจากเมื่อปี 2015 ไทยเบฟประกาศวิสัยทัศน์ในการทำงาน โดยใช้ชื่อว่า Vision 2020 สำหรับระยะเวลา 5 ปี มาในวันนี้ไทยเบฟประกาศวิสัยทัศน์การทำงานใหม่ ในชื่อ PASSION 2025
ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงการดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ Vision 2020 ว่า “ยอดขายและกำไรของเราเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยเบฟเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยเราได้มี การพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น สุรา เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และ อาหาร”
PASSION 2025 สู่ผู้นำอาหาร และเครื่องดื่มในอาเซียน
เพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จของ Vision 2020 จึงเกิด วิสัยทัศน์ PASSION 2025 ขึ้น โดยมี 3 แกนสำคัญ ได้แก่
- Build (สรรสร้างความสามารถ) คือ การสรรสร้างความสามารถ หาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ต่อยอดจากพื้นฐานทางธุรกิจเดิมที่มีอยู่ ต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์ และช่องทางใหม่ๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย
- Strengthen (เสริมแกร่งความเป็นหนึ่ง) คือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลัก รักษา และก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำด้านธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่มภายในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในประเทศเวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย และไทย เป็นการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น ทำให้แบรนด์แข็งแกร่งกว่าเดิม
- Unlock คือ การนำศักยภาพที่มีอยู่ทำให้เกิดพลังสูงสุด มองหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ทรัพย์สินมีมูลค่าเพิ่มขึ้น นำเอาสิ่งที่ยังไม่ค่อยได้ใช้งานมาใช้งาน
นอกเหนือจาก 3 แกนหลักของ PASSION 2025 แล้ว ไทยเบฟ ยังเปิดเผยภาพรวมในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย ธุรกิจสุรา ธุรกิจเบียร์ ธุรกิจ Non-Alcohol และธุรกิจอาหาร
กลุ่มธุรกิจสุรา: ราคาสินค้าหลากหลาย
สถานการณ์ของธุกิจสุราของไทยเบฟ ในปีนี้แสงโสม มีสัดส่วนผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นถึง 14% รวมถึง Blend 285 ก็เติบโตขึ้นกว่า 37% ในปีนี้เช่นกัน
โดยคาดว่าการเติบโตนี้เกิดจากคนมีพฤติกรรมไม่ดื่มสุรานำเข้า หันมาดื่มสุราภายในประเทศ ที่มีราคาย่อมเยา จากรายได้ที่ลดลง
ทั้งนี้ภาพรวมของตลาดสุราในไทยว่า เศรษฐกิจคงยังไม่สามารถพลิกฟื้นได้เท่าก่อนสถานการณ์โควิด รายได้ของคนยังไม่ดีเท่าเก่า การบริโภคจะเติบโตคงทำได้ยาก แต่อย่างไรก็ตามสินค้าสุราของไทยเบฟ มีราคาที่หลากหลายมาก ตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลักพันบาท จึงสามารถตอบสนองความต้องการของคนไทยครบทุกกลุ่ม
กลุ่มธุรกิจเบียร์: ตลาดเบียร์ไทยยังไปได้ดี
สำหรับตลาดเบียร์ในประเทศไทย แม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 แต่ตลาดเบียร์ไทย ยังคงไปได้ดี แม้จะมีการลดลงบ้าง จากสาเหตุที่ร้านอาหาร และผับบาร์ ต้องปิดลงชั่วคราว แต่ในขณะนี้สถานการณ์กลับมาดีแล้ว จึงคาดว่าธุรกิจเบียร์ จะมีการปรับตัวลดลงไม่เกิน 10%
ส่วนโอกาสในการฟื้นตัวให้เท่ากับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ยังขาดปัจจัยการสนับสนุน คือ นักท่องเที่ยว แต่หากมองสถานการณ์ในร้านค้า หรือสถานประกอบการต่างๆ ถือว่าปรับตัวดีขึ้น 70-80% แล้ว ยกเว้นบางสถานที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจริงๆ
ส่วนเบียร์ ซาเบโก้ ในประเทศเวียดนาม ที่ไทยเบฟเข้าซื้อกิจการไปเมื่อปี 2016 ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 35-40% ของตลาดเบียร์ในประเทศเวียดนามทั้งหมด
โดยในปีนี้ไทยเบฟ ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ ด้วย 3 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ การสื่อสารแบรนด์ การสร้างประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์ และการสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
กลุ่มธุรกิจ Non-Alcohol: เจาะตลาดรักสุขภาพ
ไทยเบฟ ให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ในฐานะตลาดหลัก แม้ว่าที่ผ่านมาธุรกิจ Non-Alcohol จะมองว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยทำเงิน โดยมีผลการดำเนินงานขาดทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงกลายเป็นความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจกลุ่มนี้สามารถสร้างกำไรได้
โดยจะเน้นไปที่การลงทุนในแบรนด์เพื่อสร้างความยั่งยืน ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างด้านการเงิน สร้างความยั่งยืนของผลกำไร นำไปสู่กำไรที่มากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังต้องมีการคิดค้นช่องทางในการจัดจำหน่ายใหม่ๆ เพราะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ร้านค้าต่างๆ ปิด ต้องขยายการขายไปยังช่องทางดิจิทัลด้วย
นอกจากนี้เครื่องดื่ม Non-Alcohol จะเน้นไปที่เครื่องดื่มที่รักสุขภาพมากขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันต้องการเครื่องดื่มที่เหมาะสมกับสุขภาพ ไม่มีน้ำตาล ซึ่งเป็นกระแสที่เหมือนกันทั่วโลก
ธุรกิจอาหาร: Delivery อย่างเดียวไม่พอ
ส่วนร้านอาหารของไทยเบฟ ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 649 สาขา ใน 24 แบรนด์ โดยมีแบรนด์หลัก คือ KFC และ Oishi
โดยในปีนี้จะต้องมีการพัฒนาธุรกิจ และปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการขยายบริการ Delivery, Take Away, Self Pick Up และ Food Truck
ประเด็นกำลังการซื้อที่ลดลง แม้คนจะมีเงินจับจ่ายใช้สอยไม่เท่าเดิม รวมถึงคนบางส่วนมีการเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ทานอาหารนอกบ้านบ่อยเท่าเดิม หรือนิยมทำอาหารทานเองที่บ้าน ทำให้คนบางส่วนมองหาความคุ้มค่า ไม่ได้แปลว่าต้องการอาหารที่มีราคาถูก แต่ต้องการความคุ้มค่าในราคาที่จ่ายไป บางครั้งอาหารที่จัดเป็นเซ็ตใหญ่ๆ ก็ขายดีกว่าสินค้าเซ็ตเล็กที่มีราคาถูกกว่า เพราะแบ่งทานได้หลายคน ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า
ส่วนการลงทุนจะเน้นไปที่การเปิดร้านเพิ่ม ทั้งการตั้งสาขาใหม่ การปรับปรุงร้าน และการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องที่ประหยัดไม่ได้ ต้องทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา