ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า ท่ามกลางการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ไทยเบฟมุ่งมั่นดำเนินกลยุทธ์ในการเสริมแกร่งให้กับตราสินค้าและสถานะในตลาดสำหรับทุกกลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังที่ได้เห็นจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของเรา”
“ในขณะเดียวกัน เรายังดำเนินมาตรการบริหารอัตรากำไรอย่างรอบคอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น พร้อมทั้งรักษาผลกำไรสุทธิและส่วนแบ่งตลาดของเรา นอกจากนี้ เรายังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบและความยั่งยืนเป็นสำคัญ โดยยึดมั่นขับเคลื่อนกลยุทธ์ “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน (Enabling Sustainable Growth)” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์”
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มบริษัทไทยเบฟมีรายได้จากการขาย 215,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) อยู่ที่ 37,765 ล้านบาท ลดลง
ร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลจากปัจจัยโดยรวมทั้งในด้านรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาด รวมถึงต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งนี้ ไทยเบฟยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและกระแสเงินสดอิสระที่ดี
การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของการบริโภคในประเทศจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินั้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน ไทยเบฟก็ตระหนักดีว่าแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อไป อย่างไรก็ตาม กลุ่มเชื่อมั่นว่ารากฐานอันมั่นคงจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของไทยเบฟได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของกลุ่มในการเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียน
ธุรกิจสุรา
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มธุรกิจสุรามีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เป็น 93,673 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ปริมาณขายรวมจะลดลงที่ร้อยละ 3.5 จากปีก่อนก็ตาม ธุรกิจสุรามีผลประกอบการที่แข็งแกร่งโดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 23,763 ล้านบาท และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชีต่อรายได้ (EBITDA margin) สูงขึ้นจากร้อยละ 24.7 เป็นร้อยละ 25.4 โดยการขยายตัวของอัตรากำไรมาจากการขึ้นราคาสินค้าและการเปลี่ยนแปลงส่วนประสมของผลิตภัณฑ์จากการบริโภคสุราสีที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย สำหรับธุรกิจสุราในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงธุรกิจในเมียนมามีการเติบโตทั้งรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี
ประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา กล่าวว่า ธุรกิจสุรายังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและผลกำไรที่มั่นคง ในประเทศไทย เราได้วางแผนการดำเนินงานที่ครอบคลุมไว้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจตั้งแต่ก่อนที่ตลาดจะกลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงการเดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าหลักของเราอย่างรวงข้าว หงส์ทอง แสงโสม และเบลนด์ 285 ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยความพยายามดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มสามารถคงตำแหน่งผู้นำในตลาดสุราขาวและสุราสีไว้ได้
ในประเทศเมียนมา แกรนด์ รอยัล วิสกี้ ยังคงรักษาตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งไว้ได้แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายในตลาด โดยเราคาดว่าอุปสงค์ต่อสินค้าและการเติบโตของธุรกิจจะยังคงดีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้
สำหรับตลาดต่างประเทศ เราได้เดินหน้าขยายกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมและเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่องทางการจำหน่ายในต่างประเทศ ผ่านการเข้าซื้อธุรกิจลาร์เซน คอนญัก (Larsen Cognac) และคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี่ (Cardrona Distillery) โดยการเข้าซื้อธุรกิจในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของกลุ่มในการเข้าสู่ตลาดคอนญักและตลาดสุราโลกใหม่ (New World Spirits) ซึ่งจะเข้ามาเติมเต็มกลุ่มตราสินค้าสุราที่เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จอย่างมากของเรา”
ธุรกิจเบียร์
ไมเคิล ไชน์ ฮิน ฟา ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า “ธุรกิจเบียร์ของเราในประเทศไทยมีการฟื้นตัว เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในขณะที่ธุรกิจในเวียดนามยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากปัญหาเศรษฐกิจมหภาคที่ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ธุรกิจเบียร์มีรายได้จากการขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เป็น 93,262 ล้านบาท แม้ว่าปริมาณขายรวมจะลดลงร้อยละ 5.2 ทั้งนี้ การลงทุนในตราสินค้า กิจกรรมทางการตลาด และแรงกดดันด้านการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบหลักและบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลงร้อยละ 19.8 เป็น 10,783 ล้านบาท”
สายธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย
ทรงวิทย์ ศรีธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขยายการเติบโตของธุรกิจเบียร์ประเทศไทยและก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาด เรามุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ Commercial Leadership Winning Brand Portfolio และ Cost Competitiveness
เรามุ่งมั่นเสริมแกร่งทางการค้าให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ช้างผ่านกลยุทธ์ “Commercial Leadership” โดยเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคผ่านแคมเปญต่าง ๆ ที่ต่อยอดมาจากความรักที่ผู้บริโภคมีต่อตราสินค้า การถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน “มิตรภาพ ฟุตบอล และดนตรี” ช่วยเสริมสร้างความใกล้ชิดและการมีส่วนร่วมไปจนถึงจุดขาย โดยเรายังได้ทำงานร่วมกับกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในกลุ่มบริษัทไทยเบฟ เพื่อผนึกกำลังในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายการกระจายสินค้าและช่องทางการจำหน่าย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงตราสินค้า
นอกจากนี้ เรายังเดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าผ่านกลยุทธ์ “Winning Brand Portfolio” และพัฒนาสินค้าที่โดดเด่นภายใต้ตราสินค้าช้าง ซึ่งเป็นตราสินค้าหลักของเรา โดยในปี 2562 กลุ่มได้เปิดตัว “ช้าง โคลด์ บรููว์” ซึ่งในปัจจุบันเป็น 1 ใน 5 ตราสินค้าเบียร์ที่มีปริมาณขายสูงสุดในประเทศไทย และเมื่อปลายปี 2565 ได้เปิดตัว “ช้าง อันพาสเจอไรซ์” เบียร์พรีเมียม ซึ่งได้รับผลลัพธ์เป็นน่าพอใจจนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน “ช้าง เอสเปรสโซ่ ลาเกอร์” ก็ได้รับรางวัลเหรียญทองด้านคุณภาพต่อเนื่องเป็นปีที่สามติดต่อกัน
เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เราได้ดำเนินกลยุทธ์ “Cost Competitiveness” ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การลดต้นทุนในการผลิตเบียร์ การจัดสรรทรัพยากรในห่วงโซ่อุปทาน การลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขาย และการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตซึ่งส่งผลให้มีอัตรายอดขายต่อจำนวนพนักงาน (Net Sales to Headcount ratio) ที่ดีขึ้น”
ธุรกิจเบียร์ ประเทศเวียดนาม
เลสเตอร์ ตัน เต็ก ชวน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซาเบโก้ กล่าวว่า “เศรษฐกิจของประเทศเวียดนามได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมการส่งออกและการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม เรายังคงมุ่งมั่นรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม สร้างทีมขายมืออาชีพ และเสริมแกร่งกลุ่มตราสินค้า Winning Brand Portfolio โดยเราได้ดำเนินกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อยกระดับ Bia Saigon ในฐานะความภาคภูมิใจของเวียดนาม”
เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโดยรวม ซาเบโก้มุ่งเน้นการขยายธุรกิจ พัฒนากลุ่มตราสินค้า และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง
โดยในเดือนมกราคม 2566 ซาเบโก้ได้รับรางวัลเหรียญทอง 4 รางวัลและเหรียญเงิน 4 รางวัล จากการประกวดคุณภาพผลิตภัณฑ์เบียร์ระดับนานาชาติของสถาบัน Beverage Testing Institute (BTI) นอกจากนี้ แคมเปญการตลาด “Rise with Vietnam” และ “Bia Saigon Lager Tet 2022” ของซาเบโก้ยังสามารถคว้ารางวัลเหรียญเงินและเหรียญทองตามลำดับ จาก MMA Global Conference and Exposition ในเดือนเมษายน 2566
ซาเบโก้เสริมสร้างความเป็นเลิศด้านการผลิตและใช้มาตรการบริหารต้นทุนที่เข้มงวดเพื่อบริหารค่าใช้จ่ายและรักษาผลกำไรของบริษัท อีกทั้งยังมุ่งมั่นเดินหน้าผนวกเครือข่ายโรงเบียร์ของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและการบริหารต้นทุน
ด้วยแผนงาน SABECO 4.0 ซึ่งได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ซาเบโก้มั่นใจอย่างยิ่งว่าบริษัทจะสามารถยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน เสริมแกร่งความเป็นผู้นำในตลาด และบรรลุเป้าหมายระยะยาวของบริษัทได้ในที่สุด
ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีรายได้จากการขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 เป็น 14,822 ล้านบาท ซึ่งมาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ตามการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยการดำเนินแผนงานเพื่อบริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ช่วยชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นได้บางส่วนจากการลงทุนในตราสินค้า กิจกรรมทางการตลาด และต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 1,773 ล้านบาท
โฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า “เศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ได้เร่งเดินหน้าขยายการเติบโต ภายใต้ 3 แนวทางสำคัญ คือ การสานพลังของแบรนด์ปั้นพอร์ตสุดแกร่ง (Brand Portfolio Management) การเร่งสปีดการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในทุกมิติ (Speed for the Growth) และการเดินหน้าขยายตลาด (Expand to New Market)”
กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มุ่งมั่นที่จะสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ด้วยแนวทาง “การสานพลังของแบรนด์ปั้นพอร์ตสุดแกร่ง (Brand Portfolio Management)” เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกโอกาสและทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงรองรับกลุ่มผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างความผูกพันกับผู้บริโภค ผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อเสริมแกร่งตราสินค้าหลักของกลุ่ม
กลุ่มมุ่งสร้างการเติบโตของ “โออิชิ กรีนที” ด้วยการขยายฐานผู้บริโภค และเพิ่มปริมาณการบริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงเดินหน้าตอกย้ำการรับรู้ในเรื่องคุณประโยชน์ของชาเขียวที่มีทาเคชิน สารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อสุขภาพ ผ่านแคมเปญ “OISHI Goodness of Tea” ภายใต้แนวคิด “โออิชิ กรีนที สิ่งดีๆ ที่ไม่เคยเปลี่ยน” พร้อมเดินหน้าผลักดันการกระจายผลิตภัณฑ์ชาเขียวพร้อมดื่มอัดลม “โออิชิ ชาคูลล์ซ่า” ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานผู้บริโภคและการเติบโต ภายใต้แคมเปญ “โออิชิ ชาคูลล์ซ่า ชาเขียว ซ่ามีดีย์”
ในปีนี้ คริสตัล ตอกย้ำจุดยืนในการเป็นผู้นำอันดับ 1 ตลาดน้ำดื่มของประเทศไทย ด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับสากล โดยการเปิดตัวแคมเปญ “พัก…ให้คุณได้เคลียร์ความคิด (Think Clear, Drink Crystal)” เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้วยการสร้างความผูกพันกับผู้บริโภค (Brand Emotional Connection) โดยเป็นตราสินค้าน้ำดื่มรายแรกที่สนับสนุนให้คิดเชิงบวก ด้วยการสื่อสารถึงประโยชน์ของน้ำดื่มที่นอกจากจะดีต่อสุขภาพกายแล้ว ยังดีต่อสุขภาพใจและอารมณ์ด้วย
นอกจากนี้ เครื่องดื่มอัดลม เอส ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนตราสินค้าผ่านการพลิกโฉมครั้งใหญ่ เปิดตัวรูปลักษณ์ตราสินค้าใหม่และปรับสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ภายใต้แนวคิด “Born to be Awesome เกิดมาซ่า..กล้าเป็นตัวเอง” นอกจากนี้ ยังได้คนดังในเอเชียจากหลากหลายวงการมาเป็นพรีเซนเตอร์เพื่อเพิ่มความสดใหม่ให้ตราสินค้าและสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กล้าแสดงความซ่าอย่างมั่นใจในแบบของตนเอง
เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน กลุ่มได้ดำเนินตามแนวทาง “การเร่งสปีดการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในทุกมิติ (Speed for the Growth)” เพื่อขยายฐานผู้บริโภค เพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยการวางรากฐานและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต และการกระจายสินค้า นอกจากนี้ ไทยเบฟยังมองเห็นโอกาสในการเติบโตที่ดีในภูมิภาคอาเซียน โดยกลุ่มมุ่งมั่นผลักดันตราสินค้าหลักของกลุ่มสู่ตลาดในภูมิภาคผ่านการดำเนินตามแนวทาง “การเดินหน้าขยายตลาด (Expand to New Market)”
ธุรกิจอาหาร
จากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคภายในร้านอาหาร ประกอบกับการขับเคลื่อนการดำเนินกลยุทธ์ของกลุ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความสามารถในการเจาะตลาดและเข้าถึงลูกค้า ส่งผลให้ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 14,296 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 อย่างไรก็ตาม กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลงร้อยละ 8.4 เป็น 1,446 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค และต้นทุนค่าแรงงาน ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนการเปิดร้านใหม่
นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่ายินดีที่การบริโภคภายในร้านอาหารในประเทศไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีจากการที่ผู้บริโภคชาวไทยกลับมารับประทานอาหารนอกบ้านร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูงกันอีกครั้ง ประกอบกับการกลับมาของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ในขณะนี้การบริโภคภายในร้านเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ดังนั้นเราจึงใช้โอกาสนี้ในการดำเนินกลยุทธ์เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจอาหาร ด้วยการเดินหน้าขยายสาขาใหม่ และเพิ่มการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม”
หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอาหารในปีนี้ คือ การเจาะตลาดให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนสาขาร้านอาหารของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงร้านอาหารและผลิตภัณฑ์โปรดได้โดยง่ายในทุกพื้นที่ ปัจจุบันไทยเบฟมีร้านอาหารทั้งหมด 771 ร้านในประเทศไทย โดยเปิดเพิ่มทั้งสิ้น 43 ร้านในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566
ไทยเบฟตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการเติบโตของยอดขายของร้านสาขาเดิมด้วยการรังสรรค์เมนูใหม่และจัดกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลายสำหรับทุกร้านอาหาร เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการบ่อยครั้งขึ้น ในขณะเดียวกัน ไทยเบฟยังมุ่งมั่นเสริมสร้างพื้นฐานของธุรกิจอาหารให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านบุคลากร การดำเนินงาน เทคโนโลยี และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน พร้อมทั้งส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนผ่านการดำเนินโครงการลดขยะอาหารจากร้านในเครือ เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดขยะอาหาร รวมถึงโครงการบริจาคอาหารส่วนเกินเพื่อช่วยเหลือชุมชนต่าง ๆ อีกด้วย
การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ กล่าวว่า “ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมของอาเซียน เราตระหนักดีว่าหน้าที่ของผู้นำอุตสาหกรรมนั้นไม่ได้มีเพียงการสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจและความเป็นเลิศในการดำเนินงานของกลุ่มเท่านั้น แต่ยังต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม สนับสนุนชุมชนท้องถิ่น และเสริมสร้างธรรมาภิบาลอีกด้วย”
ในปี 2565 กลุ่มบริษัทไทยเบฟได้ประกาศกลยุทธ์ “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” (Enabling Sustainable Growth) โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2583 พร้อมทั้งกำหนดแผนงานและเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยไทยเบฟได้ดำเนินโครงการในประเทศไทยหลากหลายโครงการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งในปี 2565 ไทยเบฟสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนแล้วดังนี้
- บรรลุเฟสที่ 1 และ 2 ของโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงงานในไทยรวมทั้งสิ้น 23 แห่ง
- ติดตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ 7 แห่ง สำหรับผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำกากส่า ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นแอลกอฮอล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานในโรงงานแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
- เพิ่มอัตราการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในองค์กรเป็นร้อยละ 42.8
- ลดอัตราส่วนการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลงร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับพื้นที่ที่มีการดึงน้ำจากแหล่งน้ำมาใช้มาก (water-stressed area)
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 ลงได้ร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562
- นำขยะอาหารและของเสียอื่น ๆ จำนวนร้อยละ 67.6 กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น
- นำบรรจุภัณฑ์สินค้าจำนวนร้อยละ 84 กลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล (Reuse and Recycle)
- เพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยที่ได้รับเครื่องหมาย “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” เป็นร้อยละ 70
ในปี 2565 ไทยเบฟได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีคะแนนสูงสุด “Top 1% Global ESG Score” ของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ในรายงาน Sustainability Yearbook ของ S&P Global โดยไทยเบฟได้รับคะแนนสูงสุดในด้านสังคม ธรรมาภิบาล และเศรษฐกิจ และได้คะแนนเป็นอันดับสองในด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผลงานด้านความยั่งยืนของกลุ่มยังได้รับการยอมรับอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มดัชนีระดับโลกอย่างกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (“DJSI”) โดยเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีโลก (DJSI World Index) เป็นปีที่ 6 และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets Index) เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน
นอกจากนี้ ไทยเบฟยังได้ขยายขอบเขตการรายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ให้ครอบคลุมกรอบการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ Carbon Disclosure Project (CDP) เป็นครั้งแรกในปี 2565 ซึ่งเป็นหนึ่งในกรอบการเปิดเผยข้อมูลและจัดอันดับด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดทั่วโลก โดยได้รับคะแนนประเมินระดับ A-
กลุ่มบริษัทไทยเบฟตั้งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาทุกมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาธิบาล ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางสำคัญอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำในการพัฒนาด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร
กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล
ในปี 2566 ไทยเบฟประสบความสำเร็จอีกขั้นในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานและก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ดีที่สุด โดยเป็น 1 ในเพียง 2 องค์กรของประเทศไทยที่ได้รับการคัดเลือกจากนิตยสาร HR Asia ให้เป็นสุดยอดองค์กรที่น่าร่วมงานมากที่สุดในเอเชีย (Best Companies to Work for in Asia) ซึ่งคว้าทุกรางวัลในด้านอื่น คือ การใส่ใจพนักงานยอดเยี่ยม (Most Caring Company Awards) การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานสู่โลกดิจิทัล (Digital Transformation Awards) รวมถึงการสนับสนุนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Diversity, Equity, and Inclusion Awards)
เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร กล่าวว่า “ไทยเบฟมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในองค์กรที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชื่อมั่นในการส่งเสริมพนักงานให้เป็นบุคลากรที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะเติบโตไปกับองค์กรในระยะยาว โดยในปีนี้ เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความพยายามของเราเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ จากความมุ่งมั่นทำงานร่วมกับพนักงานเพื่อสนับสนุนการเติบโต รวมทั้งการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของตัวพนักงานและเสริมแกร่งองค์กรในที่สุด”
จากผลสำรวจความผูกพันกับองค์กรของพนักงานปี 2566 ของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ พบว่า พนักงานมีคะแนนความผูกพันกับองค์กรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 83 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยคะแนนความผูกพันกับองค์กรของพนักงานในประเทศไทยตามการรายงานของ Kincentric ลดลงจากร้อยละ 69 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 65 ในปี 2566 โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 สิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จของไทยเบฟ คือ ความเชื่อมั่นใน “ทุนมนุษย์กับโอกาสไร้ขีดจำกัด” ผ่านการมอบโอกาสในอาชีพ สร้างความผูกพัน และมอบโอกาสก้าวหน้าให้กับพนักงานทุกคน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้พนักงานกำหนดแนวทางพัฒนาตนเองด้วยแผนพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan: IDP) ซึ่งช่วยให้พนักงานตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ทำได้จริง และสอดคล้องกับความตั้งใจของตนเอง ในขณะที่ผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็ต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่พนักงานด้วยเช่นกัน
เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน กลุ่มบริษัทไทยเบฟตั้งมั่นมอบโอกาสให้พนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกันทั้งในแง่บทบาทหน้าที่ การเป็นที่ยอมรับ และการเติบโต ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมในสายอาชีพ (Career-Based Training Program) โดยไทยเบฟได้รับการคัดเลือกจากนิตยสาร HR Asia ให้เป็นองค์กรที่มีความโดดเด่นในด้านการสนับสนุนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของพนักงาน (HR Asia Diversity, Equity, and Inclusion Awards) จากแนวทางการปฏิบัติงานที่ให้ความเคารพต่อวัฒนธรรมและความหลาย โดยเฉพาะความเท่าเทียมทางเพศ โอกาสที่เท่าเทียมกันทั้งในด้านเชื้อชาติของพนักงานในภูมิภาคอาเซียน และการเติบโตในอาชีพ
นอกจากนี้ ไทยเบฟยังได้รับรางวัลองค์กรที่มีความโดดเด่นด้านการใส่ใจพนักงานยอดเยี่ยมในประเทศไทย (HR Asia Most Caring Company in Thailand Award) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากความมุ่งมั่นในการดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานอย่างเต็มที่ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนทั้งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และหลังจากการแพร่ระบาดได้ผ่านพ้นไป อีกทั้งยังได้จัดทำแนวทางและวางระบบจัดการความปลอดภัยในโรงงานและสถานที่ปฏิบัติงานทุกแห่งให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งช่วยให้กลุ่มดูแลความปลอดภัยของพนักงาน พันธมิตรทางธุรกิจ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ได้ อีกทั้งยังได้รับรางวัลองค์กรที่มีความโดดเด่นด้านการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานสู่โลกดิจิทัล (HR Asia Digital Transformation Awards) ประจำปี 2566 จากระบบ Beverest ซึ่งเป็นระบบจัดการข้อมูลทรัพยากรบุคคลขององค์กรผ่านระบบคลาวน์ (Cloud-Based System) โดยระบบดังกล่าวสามารถขยายขอบเขตไปยังบริษัทย่อยในต่างประเทศของกลุ่ม เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในด้านการเติบโตและการดำเนินธุรกิจ
ด้วยสายอาชีพสำหรับพนักงานที่ครอบคลุม 22 กลุ่มงานและ 138 กลุ่มงานย่อย ประกอบกับการให้ความสำคัญด้านการพัฒนาทางอาชีพ ส่งผลให้ไทยเบฟได้รับรางวัล HR Excellence ระดับ Gold ในสาขาความเป็นเลิศด้านกลยุทธ์แผนบริหารจัดการพนักงานที่มีศักยภาพ (In-House Talent Pipeline Strategy)
ไทยเบฟมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ความมุ่งมั่นและความเป็นเลิศด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของกลุ่มได้รับการยอมรับและสามารถคว้ารางวัลดังต่อไปนี้ได้ในปี 2566
- HR Asia Best Companies to Work for In Asia (Golden Trophy)
- HR Asia Most Caring Companies in Thailand Award
- HR Asia Diversity, Equity and Inclusion Award
- HR Asia Digital Transformation Award
- HR Excellence in In-House Talent Pipeline Strategy (Gold Award)
- HR Excellence in Employee Volunteerism (Silver Award)
- HR Excellence in HR Innovation (Silver Award)
- Work Venture Top 10 Companies for Young Generation
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา