วิสัยทัศน์”ฐาปน” สูตรมองยาว 30ปี กรุยตลาดอาเซียน+6 เจาะผู้บริโภคครึ่งโลก ลงทุนเทคโนโลยี ปั้นคนรับยุคดิจิทัล

“ไทยเบฟเวอเรจ” ก้าวเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องดื่มครบวงจรในตลาดอาเซียนไปแล้ว “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ผู้คุมบังเหียนอาณาจักรธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนันแอลกอฮอล์ ประกาศวิสัยทัศน์ 2025 ก้าวสู่การเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรที่ยั่งยืนในระดับโลก พร้อมกับวางยุทธศาสตร์ในช่วง 6 ปี (2020-2025) โฟกัสการขยายธุรกิจในตลาดอาเซียน + 6 เป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญเจาะผู้บริโภคครึ่งโลก

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บอกว่า ยุทธศาสตร์ของไทยเบฟเวอเรจ 2025 มุ่งโฟกัสธุรกิจทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนันแอลกอฮอล์ในภูมิภาคอาเซียน+6 โดยอาเซียนยังคงเป็นตลาดหลัก เนื่องจากมีศักยภาพสูงที่จะเติบโต โดยพบว่าจีดีพีของประเทศต่างๆ เช่น เมียนมาร์เติบโตถึง 7.4 % กัมพูชา 7.2 %  ลาว 7.1 % และเวียดนาม 6.2%

และอีกปัจจัยหนึ่ง มาจากการเติบโตของประชากรที่เพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าภายในปี 2025 จะมีประชากรสูง 700 ล้านคน รวมถึงนักท่องเที่ยวอีกกว่า 120 ล้านคน ส่งผลให้มีการบริโภคทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น 

ทว่าสิ่งที่แตกต่างจากวิชั่น 2020 คือ ไทยเบฟฯ ให้ความสำคัญกับอาเซียน+6 ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่าครึ่งโลก นอกจากนี้ยังมองเห็นโอกาสจากการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของโลกผ่านโครงการสำคัญ เช่น Belt Road Initiative ของประเทศจีน

“ไทยเบฟฯ มองว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไนเป็นตลาดที่มีศักยภาพเข้าไปทำตลาด แต่ประเทศที่บริษัทให้ความสำคัญ 3 ประเทศ เมียนมาร์ เวียดนาม และไทยนั่นเอง เพราะเป็นตลาดที่สำคัญเมื่อรวมไปแล้วประชากร 220 ล้านคนใกล้เคียงกับเมืองเล็กๆในจีน นอกจากนี้ลูกค้ายังมีความคุ้นเคยกับโปรดักส์ของไทยเบฟฯ เป็นอย่างดี”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไทยเบฟฯ จะไปถึง 2025 ได้นั้นมีเรื่องสำคัญ  2 เรื่อง คือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสิ่งใหม่ที่เป็นโอกาสทางธุรกิจสามารถพัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของการกระบวนการทำงานในเรื่องของการเข้าสู่โลก Digital Age จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโลกเปลี่ยนไป

มองยาว 30 ปี เตรียมพร้อมองค์กรรับวิสัยทัศน์ 2030 ไทยเบฟฯ จะมุ่งเน้นที่เทคโนโลยี โดยศึกษานำเอไอ Advanced Robotics มาใช้ในระบบซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและขณะเดียวกันก็ลดต้นทุนในการดำเนินการ อาทิ เทคโนโลยีสแกนม่านตาด้วยเอไอ สามารถนำมาใช้กระบวนการรีไซเคิลขวดแก้วได้ จากที่ผ่านมาต้องใช้แรงงานคนในการตรวจจับความผิดปกติของขวด ซึ่งบางครั้งจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น การลงทุนทางด้านบิ๊กดาต้า เพื่อวิเคราะห์การทำตลาดได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น หรือกระทั่งการวางโครงสร้างระบบโลจิสติกส์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเมื่อก้าวสู่วิสัยทัศน์ 2050 จะมุ่งเน้นด้านทรัพยากรบุคคล เพราะคนถือว่าเป็นฟันเฟื่องที่สำคัญการผลักดันให้องค์กรเติบโต โดยเป็นการทรานส์ฟอร์เมชั่นองค์กรรองรับกับยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง 

เหตุผลที่ไทยเบฟฯต้องวางแผนด้านไอทีของเราไปถึงปี 2030 และกำหนดแผนพัฒนาคนไปถึงปี2050 เพราะคนที่จะเป็นผู้บริหารในปี  2050 นับจากนี้ไป 30 ปีข้างหน้าที่เข้ามาทำงานอายุ 20  ปี จะมีอายุ 50 ปี จึงจำเป็นต้องเฟ้นหาคนที่เหมาะสมกับสิ่งที่เราจะทำ นอกจากนั้นก็ยังมีคน 60,000 คน ที่อยู่กับเราที่จะต้องเตรียมรองรับกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามาในระบบงาน จะมีคนบางส่วนที่ต้องส่งเสริมเรื่องทักษะ และศักยภาพ Upskill บางส่วนต้อง Reskill เพราะงานที่เขาทำอยู่ เช่นขับรถ Forklift ในโกดังของเรา วันข้างหน้ารถ Forklift อาจกลายเป็น Self-driving ทำให้พนักงาน

ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมองให้ไกลไปถึงปี 2030, 2040 และ 2050 คือ การเตรียมคนให้พร้อม การมองทั้งโอกาสในด้านการตลาด และการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานให้สอดคล้องกับโลกที่จะเปลี่ยนไป  

ทิศทางอาณาจักรไทยเบฟฯ อาเซียน+6

สำหรับธุรกิจที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอของไทยเบฟเวอเรจนั้น มีทั้งธุรกิจแอลกอฮอล์และนันแอลกอฮอล์ ในส่วนของธุรกิจแอลกอฮอล์นั้นไทยเบฟฯ ถือว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลัก80% มองว่ายังเป็นธุรกิจที่สร้างมาร์จิ้นที่สูง แต่เมื่อเทียบกับธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ที่สร้างรายได้กว่า 20% นั้นมีศักยภาพที่จะเติบโตมากกว่า เพราะโอกาสการบริโภคของคนทั่วโลกทั้งอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า ดังนั้นยุทธศาสตร์ทั้งแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ของบริษัทจึงสร้างการเติบโตร่วมกัน เพราะไทยเบฟฯ มองถึงสเกลของธุรกิจในฐานะที่จะก้าวสู่ผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรระดับโลก

การขับเคลื่อนของธุรกิจแอลกอฮอล์

ไทยเบฟฯ บริษัทมองถึงการขยายตลาดในเมียนมาร์ โดยโฟกัสที่ตลาดเบียร์เนื่องจากอัตราการบริโภคที่ค่อนข้างสูง โดยบริษัทได้สร้างโรงงานเบียร์ภายใต้ Emerald Brewery ของ F&N ที่ย่างกุ้ง มีกำลังการผลิต 50 ล้านลิตร และเริ่มเปิดสายการผลิตเบียร์เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา วางจำหน่ายเบียร์ด้วยกัน 5 ขนาด แบบขวดปริมาณ 320 มล. และ 620 มล. ,แบบกระป๋อง 330 มล. และ 500 มล. รวมทั้งแบบถังปริมาณ 30 ลิตร

ในส่วนของเวียดนามนั้น สภาพตลาดเบียร์ที่ใหญ่มีมูลค่า 4,400 ล้านลิตร นับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าตลาดสุรา เพราะกฎหมายของการทำตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนุนให้ทำตลาดเบียร์ได้ง่ายกว่า โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณดีกรีแอลกฮอล์ 15% สามารถดำเนินการตลาดได้อย่างเสรี ทำให้บริษัทมุ่งเน้นการทำตลาดเบียร์มากกว่า และด้วยการมีฐานการผลิตโรงงานเบียร์ของซาเบโกถึง26 แห่ง หลังจากเข้าไปซื้อกิจการเมื่อปี 2017 ดังนั้นก้าวต่อไปในอนาคตวางแผนปลุกปั้นเบียร์ช้างเข้าไปเติมเต็มสินค้าในพอร์ตโฟลิโอธุรกิจเบียร์ในประเทศเวียดนามในเซ็กเมนต์เมนสตรีม

นอกจากนี้ซาเบโก ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อฟื้นคืนภาพลักษณ์ให้ดูใหม่แก่ Bia Saigon เป็น Rising Spirit ของ Young Progressive Vietnam มีการใช้มังกรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเวียดนามที่กำลังเติบโตได้ถูกนำมาใช้อย่างเด่นชัดและสม่ำเสมอ โดย Bia Saigon จะกลายเป็นแบรนด์หลัก

ยุทธศาสตร์ซาเบโก มุ่งสร้างการเติบโตในเวียดนามกระทั่งมีส่วนแบ่ง 26% เป็นอันดับสองของตลาด โดยโฟกัสการขาย ระบบผลตอบแทนตัวแทนจำหน่ายและความสามารถ ศักยภาพในด้านการขาย พร้อมกับการลงทุนในตราสินค้า New brand positioning การเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ระบบซัพพลายเชนมุ่งการดำเนินงานและบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารต้นทุนการลดต้นทุนของวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการบริหาร

นันแอลกอฮอล์ (NAB) เริ่มเห็นแสงสว่าง

หลังจากบริษัทไทยเบฟฯ ซื้อกิจการเครื่องดื่มและอาหารอย่างต่อเนื่อง ในช่วง5ปีที่ผ่านมา ทั้งธุรกิจQRS อย่าง “เคเอฟซี” และธุรกิจกาแฟ”สตาร์บัคส์” ส่งผลให้รายได้ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต  แต่ในปีนี้ธุรกิจเริ่มกลับมาเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

ธุรกิจ NAB ใน ประเทศไทยมีความความเติบโตโดยมีผลประกอบการดีขึ้น 42.6% จากปีต่อปี โดยเน้นที่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น มาจากการดำเนินธุรกิจภายใน มุ่งเน้นที่การขายสินค้า ด้วยมาร์จิ้นที่สูงขึ้นผ่านช่องทางที่มีกำไรที่มากขึ้น ในส่วนด้านระบบจัดการมองหาวิธีการประหยัดต้นทุนที่สูงขึ้นทั่วทั้งระบบ และในส่วนของภายนอก เน้นเรื่องการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเห็นได้จาก ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลต่ำและไม่มีน้ำตาล ได้รับความนิยมมากขึ้น สะท้อนว่าธุรกิจ NAB เดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง

สำหรับกลุ่มธุรกิจอาหารยังคงเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้กับไทยเบฟ  เพื่อมุ่งสู้เป้าหมายวิสัยทัศน์ 2020” โดยในปีงบประมาณที่ผ่านมา (YTD 9 เดือน : . 61 – มิ.. 62) ผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมาย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งยอดขายและกำไร จากการมีสาขาทั้งสิ้น 620 สาขา จากกลุ่มธุรกิจอาหาร QSR ธุรกิจร้านอาหาร Food  of Asia รวมทั้งธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นโออิชิ”

5 กลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจอาหาร ไทยเบฟฯ

  • การขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด ซึ่งในปีนี้กลุ่มธุรกิจอาหารเปิดสาขาใหม่ไปทั้งสิ้น 59 สาขา (. 61 – ..62)
  • การทำการตลาดและสร้างแบรนด์ เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำนวัตกรรมอาหาร  ที่สร้างความแปลกใหม่ ตื่นเต้นให้กับผู้บริโภค 
  • การให้ความคุ้มค่ากับผู้บริโภค โดยคำนึงถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการที่เรามอบให้ผู้บริโภคเป็นลำดับแรกๆ
  • การให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล พร้อมรองรับการขยายตัวของตลาดเดลิเวอรี่กลุ่มธุรกิจอาหารที่ตอบสนองความต้องการด้านความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคในยุคนี้
  • การมุ่งเน้นพัฒนาด้านต่าง ภายในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ของงานให้ดียิ่งขึ้น

โชว์ศักยภาพบรรลุเป้าหมายวิสัยทัศน์ 2020

ปีนี้ถือเป็นปีที่เข้าสู่ปีสุดท้ายของวิสัยทัศน์ 2020 หลังจากไทยเบฟประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเป็นแผนธุรกิจ ระยะ 3 ปี 2 แผนติดต่อกัน ซึ่งได้บรรลุเป้าของแผนที่หนึ่งไปแล้วตั้งแต่ปี 2017 ขณะนี้กำลังขับเคลื่อนและผลักดันเข้าสู่เป้าหมายในฐานะ Stable and Sustainable Asean Leader เป็นบริษัทไทยที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืนอยู่ในภูมิภาคอาเซียน โดยผลประกอบการ 9 เดือน ของปี 2019 ถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ ยอดขายรวมอยู่ที่ 205,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18.2% EBITDA เพิ่มขึ้น 21.0% เป็น 36,265 ล้านบาท และ Net profit อยู่ที่ 21,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1%

จากวิสัยทัศน์ 2020 เราได้กำหนดเรื่องสำคัญไว้ 5 เรื่อง โดยในช่วง 3 ปีแรก เน้นเรื่องของ Growth การเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ และ Diversity ความหลากหลายของสินค้าและตลาด ซึ่งเราได้เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศไทย ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดสำคัญ เช่น เวียดนาม และเมียนมาร์ และช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เน้นในเรื่อง Brand และ Reach ซึ่งก็คือ ฝ่ายการตลาด (Marketing) และการขาย (Sale) ให้ทำงานควบคู่กันไปอย่างใกล้ชิด เพิ่มความเข้าใจผู้บริโภค และการเข้าถึงลูกค้า ทำให้สามารถผลักดันผลประกอบการได้อย่างต่อเนื่อง และอีกเรื่องสำคัญคือ Professionalism ความเป็นมืออาชีพด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร เป็นเรื่องที่ไทยเบฟให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 60,000 คน 

การขับเคลื่อนอาณาจักรในไทย

สภาพตลาดเบียร์ในไทยมูลค่ากว่าสองแสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตกว่า 1% เท่านั้น แต่พบว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเกิดเบียร์เซ็นเมนต์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ไทยเบฟฯ ยังมองว่ามีโอกาสที่จะสร้างตลาดเบียร์ในไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดสุราอัตราการเติบโตตามภาวะจีดีพีของประเทศไทยที่ขยายตัว 3% สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจแอลกอฮอล์ของไทยเบฟฯ

  •  กลุ่มธุรกิจสุรา ได้มีการพัฒนาผลิตภัณท์อย่างต่อเนื่องโดยสุราขาวรวงข้าวในเดือนสิงหาคม ปรับแพกเกจจิ้งใหม่ เพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเพิ่มขึ้นและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ขนาดใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ส่วนสุราหงส์ทองขนาด 1 ลิตรในเดือนนี้ นอกจากนี้ เรายังได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มตราสินค้า Kulov ในช่วงต้นปีงบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่ KULOV Red Blast RTD และ KULOV Vodka ขนาด 700 ml และเตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่สู่ตลาด ได้แก่ KULOV Lemon Pop RTD และ KULOV Vodka ขนาด 1 ลิตร
  • กลุ่มธุรกิจเบียร์ เฉลิมฉลองช้างครบรอบ 25 ปี เปิดตัวเบียร์ช้าง 25 ปี โคลด์ บริว ลาเกอร์ (Chang 25th Anniversary Cold Brew Lager)” กับนวัตกรรมการกรองเบียร์โดยใช้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 0 องศา (Sub-Zero Filtration)

สรุป ยุทธศาสตร์ไทยเบฟเวอเรจ 2025

  • โฟกัสไปที่ตลาดอาเซียน+ 6 จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย แต่ยังคงให้น้ำหนักกับตลาดซีแวลเอ็มวี (เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา และลาวยังถูกมองว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็ก)
  • ไทยยังเป็นตลาดที่สำคัญอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน จากการมีสัดส่วนรายได้ 65% และยังคงขยายธุรกิจในตลาดต่างประเทศที่มีสัดส่วนรายได้ราว35%
  • มองถึงการสร้างสเกลธุรกิจที่ใหญ่และสร้างการเติบโต จึงให้ความสำคัญทั้งธุรกิจแอลกอฮอล์และนันแอลกอฮอล์
  • ประกาศการลงทุนราว7,000ล้านบาทต่อปี จับตากับการทรานส์ฟอร์เมชั่นด้านการผลิต ที่แว่วมาว่า ฐาปน บินไปยุโรปนานหลายสัปดาห์ เพื่อนำเอไอ มาใช้ในกระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้น 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา