SCB EIC ชี้ปีนี้คนไทยเสี่ยงตกงาน 3-5 ล้านคน แถมโดน COVID-19 และปัจจัยลบอื่นๆ ซ้ำเติม

บทวิเคราะห์จาก SCB EIC ได้ชี้ให้เห็นว่าภาคแรงงานของไทยอ่อนแอมาตั้งแต่ปี 2014 ขณะเดียวกันในปีนี้คาดว่าแรงงานไทยอาจตกงานได้มากถึง 3-5 ล้านคนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

Bangkok COVID-19 หน้ากากอนามัย
ภาพจาก Shutterstock

SCB EIC พบว่า ตลาดแรงงานของไทยมีหลายสัญญาณของความอ่อนแอตั้งแต่ในช่วงก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ COVID-19 ขณะเดียวกันปัจจัยต่างๆ ที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นการหดตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาภัยแล้ง ทำให้แนวโน้มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อแรงงานในหลายอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเลิกจ้างงานสูง

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร บันเทิง และค้าส่งค้าปลีก เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลโดยตรงจากการหายไปของนักท่องเที่ยว และมาตรการปิดเมือง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19

ความอ่อนแอของภาคแรงงานไทย

บทวิเคราะห์จาก SCB EIC ยังได้เล่าถึงความอ่อนแอของภาคแรงงานไทยที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ โดยประเด็นสำคัญที่ยกมา ได้แก่

  1. จำนวนผู้มีงานทำลดลง จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวนผู้มีงานทำของไทยมีแนวโน้มลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้มีงานทำเฉลี่ยในปี 2019 อยู่ที่ 37.6 ล้านคน ลดลงไป 480,000 คนเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานเฉลี่ยในปี 2014 ทั้งนี้สาเหตุมาจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักร คือ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการแรงงานมีน้อยลง และปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุออกจากตลาดแรงงาน ส่งผลทำให้จำนวนแรงงานหดตัวต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน
  2. จำนวนชั่วโมงการทำงานลดลง จำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของแรงงานไทยในปี 2019 อยู่ที่ 42.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 44.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2014 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของกลุ่มคนทำงานล่วงเวลา (แรงงานที่ทำงานตั้งแต่ 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป) โดยคนกลุ่มนี้มีจำนวนลดลงจาก 9.7 เหลือ 6.8 ล้านคน หรือหายไปถึง 2.9 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้แนวโน้มการลดลงของจำนวนชั่วโมงการทำงานยังคงมีให้เห็นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สะท้อนจากจำนวนของคนทำงานล่วงเวลาที่ยังคงหดตัว -7.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
  3. จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ว่างงานรวมเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 4 แสนคนเพิ่มขึ้น 14.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นับเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน นอกจากนี้ จากข้อมูลผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ของสำนักงานประกันสังคมล่าสุดพบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2020 จำนวนผู้ประกันตนที่ว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 แสนคน เพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยอัตราการว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่หลังช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2008-2009
Bangkok Thailand COVID-19 Hotel Closing
ภาพจาก Shutterstock

คาดผู้ว่างงานจะทำลายสถิติใหม่

SCB EIC ยังทำการประเมินว่า จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 3-5 ล้านคน ซึ่งจะคิดเป็นอัตราการว่างงานประมาณ 8%-13% ของกำลังแรงงานรวมปัจจุบัน ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมาในปี 1985 โดยจะสูงกว่าสถิติอัตราการว่างงานสูงสุดเดิมที่ 5.9% ในปี 1987 ทิ้งห่างอัตราการว่างงานในวิกฤติต้มยำกุ้งที่ 3.4% ในปี 1998 และในวิกฤติการเงินโลกปี 2008-09 ที่ 1.5% ในปี 2009

สาเหตุที่การว่างงานในครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะสูงกว่าในอดีตเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีความเปราะบางสะสมตั้งแต่ในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับมีมาตรการปิดเมือง ซึ่งจำเป็นต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคแต่ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งภาคเกษตรที่เคยเป็นแหล่งดูดซับแรงงานก็มีแนวโน้มที่จะมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่นั้นในครั้งนี้จากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง

นอกจากนี้ SCB EIC มองว่า จะมีแรงงานอีกจำนวนมากที่แม้จะไม่ตกงาน แต่จำนวนชั่วโมงทำงานและรายได้จะลดลงอย่างมากหรือกระทั่งไม่มีรายได้เลยในบางช่วง และหากผลกระทบลากยาวไปจนถึงครึ่งปีหลังหรือนานกว่านั้น จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นได้มากกว่าที่ประเมินไว้ข้างต้นจากกิจการที่จะมีการปิดตัวลงมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเสี่ยงที่มีสภาพคล่องไม่เพียงพอ

มองหลังจากนี้จะฟื้นตัวช้าๆ แต่ยังมีปัญหาต่อหลังจากนี้

บทวิเคราะห์ของ SCB EIC ยังมองว่าหลังผ่านพ้นมาตรการปิดเมืองนั้น สถานการณ์ในตลาดแรงงานจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ตามเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวแบบ U-shaped และผลจาก COVID-19 ที่จะยังมีอยู่ต่อเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนตราบใดที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีน โดยคาดว่าภาคธุรกิจน่าจะยังระมัดระวังในการใช้จ่ายและการจ้างงานจากความไม่แน่นอนที่ยังสูงในสถานการณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ดีการสูญเสียรายได้และตกงานของแรงงานจะนำไปสู่ความเดือดร้อนของครัวเรือนจำนวนมาก เนื่องจากกันชนทางการเงินที่มีไม่มาก ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2019 พบว่า ครัวเรือนไทยบางส่วนประสบปัญหามูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินครอบคลุมรายจ่ายได้ไม่เกิน 3 เดือน

สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้ครัวเรือนเหล่านี้อาจต้องปรับตัวโดยการลดการบริโภคลงอย่างมาก ตลอดจนขายหรือจำนองสินทรัพย์ที่มี ไปจนถึงการก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายอันจะเป็นการสร้างความเปราะบาง และส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจไทยในอีกรูปแบบต่อไป

ที่มา – บทวิเคราะห์จาก SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ