ท่องเที่ยวไทย 2564 เสี่ยงทั้งโควิด-การเมือง ไร้สัญญาณบวก คาดการณ์นักท่องเที่ยวเหลือ 1.5 แสนคน

ในปี 2563 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เคยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไปแตะระดับ 40 ล้านคน แต่จากสถานการณ์โควิดทำให้เหลือนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีกว่า 6 ล้านคนเท่านั้น หายไปกว่า 80% และรายได้เข้าประเทศก็หายไปกว่า 80% ด้วยเช่นกัน แต่สำหรับปี 2564 สถานการณ์หนักยิ่งกว่าเก่า

travel

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ยังรุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูงและยังมีปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มเติม จึงคาดการณ์ว่า ในปี 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยจะมีจำนวน 1.5 แสนคนเท่านั้น จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 2.5-6.5 แสนคน โอกาสดีที่สุดคือ หากสามารถควบคุมการระบาดโควิดได้ในพื้นที่เป้าหมาย คือ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี การท่องเที่ยวอาจจะดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง ทำให้ต้องมีมาตรการควบคุมการระบาดซึ่ง ไม่เอื้อต่อกิจกรรมการท่องเที่ยว และหลายประเทศประกาศยกระดับคำเตือนประชาชนที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยแล้ว

K Research

ท่องเที่ยวทั่วโลกกระทบ คาดใช้เวลา 4 ปีฟื้นตัว

ขณะที่แนวโน้มการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากสายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการระบาดระลอกที่ 4 ของโลก ซึ่งกระทบต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างเลี่ยงไม่ได้ จากเครื่องมือชี้วัดกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกอย่างกูเกิ้ล Destination Insight (Travel Insights with Google) พบว่า ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลงผ่านการค้นหาโรงแรมและที่พักปรับตัวลงหลังจากที่ผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น 

แม้ว่า 7 เดือนที่ผ่านมาหลายประเทศจะฟื้นตัวได้ดี มีการนำรูปแบบวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้ การทำ Travle Bubble ระหว่างประเทศ เห็นได้ชัดจากการจัดแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ทำให้สถิติขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ผู้เดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกในช่วงระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค. ปี 2564 มีจำนวน 78.59 ล้านคน 

เห็นได้ชัดว่า หลายประเทศยกระดับมาตรการจำกัดการเดินทางท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และออกคำเตือนประชาชนในการเดินทางไปต่างประเทศ มีเงื่อนไขการเดินทาง เช่น ชนิดของวัคซีนที่ได้รับการยอมรับในแต่ละประเทศ บางประเทศแม้นักท่องเที่ยวจะได้รับการฉีดวัคซีน แต่ถ้ามาจากประเทศเสี่ยงสูงก็ยังคงต้องกักตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกในปี 2564 น่าจะหดตัวประมาณ 45% จากปีก่อน หรือมีจำนวนเพียงประมาณ 220 ล้านคน จากจำนวน 399 ล้านคนในปี 2563 และจากสถานการณ์โควิดที่ลากยาวทำให้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกคาดว่าจะยังใช้ระยะเวลายาวนานขึ้น หรืออย่างน้อยกว่า 4 ปี หรือหลังปี 2568 กว่าที่ตลาดการท่องเที่ยวโลกจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาด

K Research

ท่องเที่ยวไทย ยังอยู่บนความเสี่ยง

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย 7 เดือนแรก นักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้ Special Tourist Visa (STV) เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยต่อเนื่อง และในเดือน ก.ค. 64 การเปิดโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าท่องเที่ยวในไทยสูงเกิน 1 หมื่นคน ในรอบ 10 เดือนหลังจากที่ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

แต่สถานการณ์โควิด ที่ไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายในเวลาอันใกล้ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง หลายประเทศยกระดับคำเตือนในการเดินทางมาไทย เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC (Center for Disease Control and Prevention) ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อแนวโน้มตลาดท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ เป็นตลาดที่สำคัญของการท่องเที่ยวไทยในช่วงนี้ โดยนับจากประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภท STV ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เดือนมิถุนายน 2564 นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีจำนวน 5,921 คน ซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับ 1 ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทยทั้งหมด

travel
ภาพจาก Shtterstock

การจัดการโควิด ปัจจัยสำคัญ ดึงนักท่องเที่ยวกลับไทย

ปัจจัยสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว ไม่เฉพาะการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ แต่ต้องสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดลงโดยเร็วที่สุด และมาตรการเข้มข้นและรวดเร็วในการดูแลหลังสถานการณ์โควิดดีขึ้น ซึ่งการระบาดของโควิดมีผลต่อพฤติกรรมและความชอบของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป

โดยพบว่า นักท่องเที่ยวจะให้น้ำหนักในการเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ปลอดภัยจากโควิด และมีมาตรการการควบคุมการระบาดของโรคในท้องที่ต่างๆ การมองหาสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หลีกเลี่ยงสถานที่ท่องเที่ยวแออัด และปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไม่น้อยที่มีความพร้อมจะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ จะใช้เวลาในการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวที่ปลอดภัย และเมื่อพบจุดหมายปลายทางดังกล่าว ระยะเวลาการจองที่พักและการเดินทางจะสั้นลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์หรือไม่ก็ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะเวลาการจองที่พักและการเดินทางที่น้อยลงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 8-10 สัปดาห์ในช่วงก่อนโควิด

ดังนั้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงสู่ระดับปลอดภัยในระยะต่อไปอาจจะต้องมีความพร้อม ทั้งการประชาสัมพันธ์สื่อสารนักท่องเที่ยว ให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ มาตรการของทางการที่ชัดเจนกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างการระบาดในพื้นที่ พร้อมไปกับการทำตลาดกระตุ้นการท่องเที่ยวควบคู่กันไป เพื่อสร้างความเข้าใจและการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวที่จะตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา