ไทยมีแรงงานสูงวัยเกิน 10 ล้าน แต่สมัครงานใหม่ยาก เพราะอคติเรื่อง ‘อายุ’

ประเทศนี้จะให้คนเกษียณตอนอายุ 35 หรือยังไงนะ? เป็นคำบ่นที่ดังขึ้นตลอดๆ เวลาถกกันเรื่องการหางาน เพราะจะกี่ประกาศรับสมัครงานก็ดูเหมือนจะอยากได้ผู้สมัครอายุไม่เกิน 35 ปีไปหมด แม้ก่อนหน้านี้จะมีรายงานออกมาว่า บริษัทไทยเริ่มหันกลับไปจ้างเหล่าคนวัยเกษียณกลับมาทำงาน แต่หลายๆ คนก็ยังไม่เชื่ออยู่ดี แต่เพราะอะไรล่ะ?

คำตอบอาจจะเป็นเพราะเราเจอกับ ‘อคติ’ เรื่องอายุ-สถานะในการขั้นตอนการสมัครงานกันมาตลอด

แรงงานไทยสูงวัย เจอ ‘เลือกปฏิบัติ’ ไม่เลิกรา

รู้หรือไม่ ตอนนี้ประเทศไทยมีแรงงานกลุ่ม Silver Age ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไปมากถึง 13 ล้านคนแล้ว คิดเป็น 20% ของกำลังแรงงานทั้งหมดที่พวกเรามีกันอยู่

ยิ่งไปกว่านั้น คือ ทุกๆ วันที่เวลาผ่านพ้นไป แรงงานกลุ่ม Silver Age ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะในอีก 6 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) แล้ว ทำให้ตอนนั้นประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 1 ใน 4 ของประเทศ

หลายคนในกลุ่ม Silver Age ยังมีความพร้อมและต้องการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเพื่อความมั่นคงทางรายได้ ความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต หรือต้องการถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่ แต่กลับเจอเข้ากับ ‘อคติ’ จากอายุและสถานะ

โดยผลสำรวจของ Jobsdb by SEEK พบว่าแรงงานไทยกว่า 30% ยังมองว่าความลำเอียงและการเลือกปฏิบัติในกระบวนการจ้างงาน เป็นอุปสรรคในการหางานที่เหมาะสมอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแรงงานกลุ่ม Silver Age ที่ได้รับผลกระทบจากอคติด้านอายุหรือสถานะ

ยุคนี้ต้อง Fair Hiring จ้างงานไร้อคติ

‘ดวงพร พรหมอ่อน’ กรรมการผู้จัดการ Jobsdb by SEEK บอกว่า แนวคิด Fair Hiring หรือ การจ้างงานไม่ถูกจำกัดด้วยอายุ เพศ เชื้อชาติ หรือสถานะ แต่เปิดกว้างอย่างเท่าเทียม จะช่วยให้องค์กรเข้าถึงคนเก่งมากขึ้น

โดยการเลือกผู้สมัครจากทักษะและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงาน แทนที่จะมองจากอายุหรือพื้นเพ จะทำให้องค์กรได้คนที่เหมาะสมกับตำแหน่ง และช่วยให้ตลาดแรงงานเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวด้วย

ฟากฝั่งของ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย เผยว่า ตอนนี้บริษัทในประเทศไทยสนใจอยากจะจ้างคนวัยเกษียณกลับมาทำงานมากขึ้น อาจไม่ใช่ในรูปแบบของพนักงานประจำ แต่เป็น ‘งานชั่วคราว’ หรือ ‘โปรเจ็กต์ระยะสั้น’ ที่มีระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี

เพราะหลายๆ บริษัทอยากลดต้นทุน หรือบางบริษัทก็จ้างทดแทนช่วงที่ยังหาคนมาทำตำแหน่งประจำไม่ได้ ในคน ‘วัยเกษียณ’ ที่มีประสบการณ์ทำงานและทักษะชีวิตที่มีคุณค่าจึงกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

แต่เทรนด์นี้จะกลายเป็นกระแสหลักได้ไหมหรือจะเป็นแค่เรื่องชั่วครั้งชั่วคราวคงต้องดูกันต่ออีกที

สูงวัยทำได้ ต่อยอดอาชีพเดิม เสริมทักษะเทคโนโลยีนิดหน่อย

ฝั่ง Jobsdb by SEEK บอกว่า ยังมีอีกหลายสายอาชีพที่เหมาะกับแรงงานสูงวัย ทำให้แรงงานสูงวัยกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ในแบบที่ต้องการ โดยเน้นไปใน 7 กลุ่มอาชีพที่สามารถต่อยอดจากทักษะเดิมของแรงงานวัยเก๋า แล้วเสริมด้วยเครื่องมือดิจิทัล ได้แก่

  • งานครูพิเศษ-ติวเตอร์ : เหมาะกับผู้ชอบทำงานจากบ้าน มีเวลายืดหยุ่น ได้เชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ในโลกการศึกษาออนไลน์
  • งานบริการลูกค้า-Call Center : เหมาะกับผู้มีทักษะการสื่อสาร มีใจรักบริการ และหลายองค์กรให้ทำงานจากบ้านได้
  • งานนักแปล : เหมาะกับผู้มีทักษะด้านภาษา ต้องการใช้ทักษะเดิมในการทำงานอิสระที่บ้าน จัดสรรเวลาได้เอง
  • งานบัญชี-การเงินเบื้องต้น : เหมาะกับผู้มีพื้นฐานด้านการจัดการเอกสารทางการเงิน สามารถทำแบบฟรีแลนซ์หรือช่วยสนับสนุนธุรกิจ SME ได้
  • งานธุรการ-ประสานงาน : เหมาะกับผู้มีประสบการณ์ในงานเอกสาร นัดหมาย และการประสานงาน พร้อมเรียนรู้การใช้เครื่องมือดิจิทัลเบื้องต้น
  • งานขายของออนไลน์ : เหมาะกับผู้ชอบทำงานจากที่บ้าน รู้จักการใช้โซเชียลมีเดีย หรือแอปขายของต่าง ๆ
  • งานที่ปรึกษาอิสระ : เหมาะกับผู้อยากแบ่งปันประสบการณ์ในด้านการเงิน การลงทุน หรือทักษะต่างๆ ให้กับคนรุ่นใหม่

โดย Jobsdb by SEEK อธิบายว่า อาชีพเหล่านี้สามารถยกระดับได้ด้วยการใช้เครื่องมือดิจิทัลหรือแอปพลิเคชัน AI เบื้องต้น อย่างเช่น คอร์สเรียนออนไลน์ ซอฟต์แวร์แปลภาษา และโปรแกรมช่วยกรอกข้อมูล ช่วยเสริมประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นในการทำงานให้ดีขึ้น

นอกจากนั้น ยังเชื่อว่าถ้าแรงงานกลุ่ม Silver Age สามารถใช้เทคโนโลยี AI ได้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการกลับเข้าสู่ตลาดงาน เป็นทรัพยากรทรงคุณค่า สำหรับองค์กรในโลกยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา