ก.ล.ต. – ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน ผลิต 100 บทวิเคราะห์คุณภาพ ใน 3 ปี
ปัญหาของหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่มีบริษัทหลักทรัพย์ในไทยทำบทวิเคราะห์ออกมา ตอนนี้อาจมีข่าวดีเมื่อ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน หรือ IAA จัดทำโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน เพื่อส่งเสริมการขยายบทวิเคราะห์คุณภาพให้ครอบคลุมหลักทรัพย์มากขึ้น โดยตั้งเป้าผลิต 100 บทวิเคราะห์คุณภาพ ใน 3 ปี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน คาดว่าจะเริ่มเผยแพร่ในไตรมาส 4 ปีนี้
รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า “ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการทำให้ตลาดทุนมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับผู้ลงทุนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่จัดทำโดยผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินระยะยาวได้ อย่างไรก็ดี จำนวนบทวิเคราะห์ในปัจจุบันมักกระจุกตัวในหลักทรัพย์ขนาดใหญ่”
เธอยังได้กล่าวว่า “ทั้ง ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ จึงมอบหมายให้สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้จัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่ได้รับความสนใจในการจัดทำบทวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ยังไม่เคยได้รับการจัดทำบทวิเคราะห์มาก่อน”
“ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะทำให้ตลาดทุนมีข้อมูลที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนแล้ว
ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หน้าใหม่และส่งเสริมอุตสาหกรรมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ให้พัฒนายิ่งขึ้นไปอีก เพื่อการเติบโตของตลาดทุนที่ยั่งยืน” รื่นวดี กล่าว
ในช่วงที่ผ่านมาปัญหาของนักลงทุนส่วนใหญ่คือหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมักที่จะไม่มีสำนักวิจัยและบริษัทหลักทรัพย์ทำบทวิเคราะห์เท่าไหร่นัก เนื่องจากต้นทุนสำหรับการวิเคราะห์หุ้นขนาดกลางหรือขนาดเล็กใช้ต้นทุนไม่ต่างกับหุ้นขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมมากกกว่า นอกจากนี้การวิเคราะห์หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กก็ยังมีความเสี่ยงว่าจะไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน
สำหรับหุ้นที่จะเข้าข่ายในการจัดทำบทวิเคราะห์นั้น ไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า “หุ้นที่เข้าเกณฑ์การพิจารณาจัดทำบทวิเคราะห์จะต้องเป็นหุ้นที่ไม่อยู่ใน SET100 และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) มากกว่า 3,000 ล้านบาท และไม่มีสำนักวิจัย หรือบริษัทหลักทรัพย์เขียนวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน หรือมีเพียงรายเดียว และเป็นหุ้นที่มี Theme น่าสนใจ”
ไพบูลย์ ยังได้กล่าวว่า “ในกระบวนการจัดการโครงการนี้ สมาคมนักวิเคราะห์ฯ จะเป็นผู้บริหารโครงการโดยจะมีการคัดเลือกทีมวิจัยจากบริษัทหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพที่พร้อมเข้ามารับช่วงการผลิตบทวิเคราะห์ตามแนวทางที่สมาคมฯ กำหนด จากนั้นสมาคมฯ จะเป็นผู้ตรวจทานควบคุมคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนที่ผู้สนใจเข้าใช้ประโยชน์กันต่อไป”
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรครั้งนี้สะท้อนความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนที่ร่วมพัฒนาคุณภาพตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือดังกล่าวอยู่ภายใต้ 3 เป้าหมาย คือ ครอบคลุม ขยายให้มีบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ในกลุ่มหลักทรัพย์ที่น่าสนใจแต่ยังไม่มีบทวิเคราะห์ที่ครอบคลุม อาทิ หุ้นในดัชนีหุ้นยั่งยืน หุ้นในธุรกิจ Well-being หุ้นในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ หุ้นปัจจัยพื้นฐานดี คุณภาพ ส่งเสริมบทวิเคราะห์คุณภาพได้มาตรฐานของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เป็นข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน”
สำหรับโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุนจะดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปี โดยผลิต 100 บทวิเคราะห์ แบ่งเป็น 40 บทวิเคราะห์ในปีแรก และเพิ่มขึ้นในปีที่ 2-3 เป็น 70 และ 100 บทวิเคราะห์ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการเขียนบทวิเคราะห์รายงานความคืบหน้า ในทุกไตรมาส และจะเผยแพร่บทวิเคราะห์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. และ IAA รวมไปถึงสำนักวิจัยและบริษัทหลักทรัพย์ผู้ผลิตบทวิเคราะห์ต่อไป
ที่มา – ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา