รองเท้าแตะอาจเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม โดยเฉพาะกลุ่มรองเท้าแตะราคาถูกราว 100 บาท ยิ่งเหมือนซื้อมาใช้แก้ขัดไปวันๆ แต่ “นันยาง” และ “กิโต้” ไม่มองอย่างนั้น เพราะต่างเชื่อว่าสินค้ากลุ่มนี้สามารถทำให้ดูดี และมีสไตล์ได้
เพิ่มสีใหม่ ราคาเท่าเดิม
แม้ราคายางจะขึ้นจาก 60 บาทในปี 2559 เป็น 80 บาทในปีนี้ แต่ทาง “นันยาง” ก็ยังยืนยันที่จะไม่ขึ้นราคา และเตรียมทำตลาดรองเท้าแตะอย่างต่อเนื่อง หลังจากปีก่อนส่งสีใหม่ทั้งดำ และเหลือง สำหรับวัยรุ่น และพระสงฆ์ตามลำดับ แต่ด้วยความมีสไตล์ของการออกแบบรุ่นสีเหลือง ทำให้วัยรุ่นซื้อไปใส่มากขึ้นเช่นกัน นอกจากรุ่นฟ้าขาวที่เป็นที่นิยมอยู่เดิม
จักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขาย บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เล่าให้ฟังว่า รายได้ของนันยางนั้นมาจากกลุ่มสินค้ารองเท้าแตะถึงครึ่งหนึ่งจากหลักพันล้านบาท ดังนั้นสินค้าตัวนี้จึงมีความสำคัญต่อบริษัทมาก และยังสามารถจำหน่ายได้ทุกฤดูกาล ไม่เหมือนกับรองเท้านักเรียนที่ยอดจะพุ่งช่วง Back to School หรือเฉพาะครึ่งแรกของทุกปี
“เรายังคงราคาที่ 69-99 บาทไว้เช่นเดิม แต่จะพยายามหาช่องทางจำหน่ายมาขึ้น เพราะนอกจาก Traditional Trade ที่เราแข็งแกร่ง ยังเพิ่มตัวออนไลน์เข้ามาด้วย ผ่านการร่วมกับ Marketplace และห้างร้านต่างๆ ที่ขึ้นมาขายออนไลน์ พร้อมทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น ส่วนเรื่องโปรดักต์ใหม่ยังเน้นที่ Functional เหมือนเดิม คงไม่ไป Fashion มากนัก”
รีแบรนด์เป็น Fashion
ก่อนหน้านี้ทาง Kito (กิโต้) ได้ประกาศรีแบรนด์ครั้งใหญ่ ผ่านการใช้งบประมาณกว่า 50 ล้านบาท เพราะต้องการหนีจากภาพลักษณ์เดิมๆ ที่อยู่ระหว่างใส่ใช้งาน กับความเป็นแฟชั่น สู่สินค้าที่นำ Lifestyle มาเป็นตัวกลางในการออกแบบ พร้อมกับหนีการแข่งขันราคาเดิมๆ ด้วยการใส่นวัตกรรมเข้าไปแทนที่
สำหรับราคารองเท้าแตะของ Kito จะอยู่ที่ 180-420 บาท แล้วแต่รุ่น โดยแต่ละแบบจะมีการออกแบบที่ต่างกันไป เช่นใช้ยางผสมกับผ้า หรือขึ้นรูปด้วยยางทั้งหมด แต่เสริมด้วยลวดลายต่างๆ เข้าไปแทน ซึ่งแตกต่างกับนันยางที่คงรูปแบบเดิมไว้ และนำจุดเด่นเรื่องความทน รวมถึงการใช้ยางภายในประเทศทั้งหมดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน
สรุป
ถึงรองเท้าแตะจะดูเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นแฟชั่นได้ แต่ด้วยแบรนด์ต่างประเทศเริ่มมีการออกแบบสินค้าให้ดูดี และเมื่อสวมใส่แล้วช่วยเสริมบุคลิกภาพ ดังนั้นแบรนด์ไทยจึงนำเรื่องนี้มาประยุกต์ใช้ แต่ก็เดินในแบบวิธีที่ตนเองถนัด อย่างนันยางที่ถนัดทำสินค้าแบบดั้งเดิม ก็ชูเรื่องความเก๋า และเท่แบบเดิมๆ ส่วนกิโต้ก็ปรับตัวเองเป็นลุคใหม่ให้ดูทันสมัยขึ้นแทน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา