ท่องเที่ยวตามรอยเท้าพ่อกับ 8 โครงการหลวง บอกเลยฤดูหนาวนี้ต้องไป (1)

เพื่อเป็นการระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ ในหลวงอันเป็นที่รักยิ่งของคนไทย หนึ่งในมรดกที่ในหลวงให้กับคนไทยก็คือ โครงการหลวง ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังมีแหล่งกำเนิดของผลิตภัณฑ์ นั่นคือ โครงการหลวงทั้ง 38 แห่ง ซึ่งทุกแห่งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร, ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ

ครั้งนี้ Brand Inside คัดเลือก 8 โครงการหลวง มาให้เป็นน้ำจิ้มกันก่อน ดังนั้น ฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้ จัดสรรเวลาไปเที่ยวตามรอยเท้าของพ่อกันดีกว่า

sago01
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ
sango-2
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ
  1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ

เป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ตั้งขึ้นที่บ้านดอยสะโง๊ะ มีชาวเขาเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ เช่น อาข่า, ไทลื้อ และคนพื้นเมือง สามารถท่องเที่ยวเชิงเกษตร ปลูกพืชผัก สมุนไพร ไม้ผล ไม้ดอก และสวนผลไม้ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ หรือจะเดินดูวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าอาข่า และยังมีเส้นทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติด้วย

ถ้าต้องการไปพักสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ บ้านดอยสะโง๊ะ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 57150 โทร 053-163-346, 081-951-9711มีบ้านพัก และจุดกางเต็นท์ให้บริการ

Minolta DSC
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น
Minolta DSC
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น
  1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น

โครงการหลวงส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนพืชเสพติด ในพื้นที่ประกอบด้วยชาวเขาเผ่ามูเซอ อาข่า กะเหรี่ยง และจีนยูนนาน มีแปลงพืชผัก และสวนผลไม้ เช่น พลับ พลัม บ๊วย หรือจะชมวิถีชาวอาข่า พิธีโล้ชิงช้า การแต่งกายและการละเล่น ในช่วงต้นปี มีเทศกาลตรุษจีนของชาวจีนยูนนานด้วย เส้นทางธรรมชาติ มีน้ำตก เช่น น้ำตกชมพูสูง 80 เมตร

ใครสนใจสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น บ้านห้วยแม่สรวย หมู่16 ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย 57180 โทร 089-854-4176, 053-163-344 ไม่มีบ้านพัก กางเต็นท์อย่างเดียว

huaynamrin
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน
huynamrin-4
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน
  1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน

เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรป่าไม้ถูกทำลายจากการทำไร่เลื่อนลอย และต้องการลดการปลูกฝิ่น  จึงเกิดการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ประกอบด้วยชาวเขาเผ่ามูเซอ กะเหรี่ยง และคนพื้นเมือง ที่นีมีแปลงส่งเสริมและสาธิตผลผลิตตามฤดูกาล ผักและผลไม้เมืองหนาว และแปลงดอกไม้ เช่น ไฮเปอร์ริกัม เฟินเขากวาง ลิอะทรีส เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ พร้อมกับดูวิถีชีวิต การตำข้าวโดยใช้ครกกระเดื่อง การทอผ้ากี่เอวแบบกะเหรี่ยง การทำไม้กวาดดอกหญ้า รวมการแต่งกายและการละเล่นต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินชมธรรมชาติ และบ่อน้ำพุร้อนแม่ขะจานอยู่ใกล้ๆ

สามารถติดต่อ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน บ้านห้วยน้ำริน หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 57170 โทร 053-163-343, 081-030-6417, 083-323-2825 มีบ้านพัก และสถานที่กางเต็นท์

huypong
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง
Minolta DSC
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง
  1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง

ประชากรในพื้นที่เป็นชาวเขาเผ่ามูเซอดำ และคนพื้นเมือง สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นหุบเขามีความลาดชันสูง มีแปลงพืชผลทางการเกษตรที่โดดเด่น เช่น เสาวรสหวาน พริกซูเปอร์ฮอท ซิมบิเดี้ยม หรือสัมผัสวัฒนธรรมประเพณีของเผ่ามูเซอดำ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เส้นทางธรรมชาติดอยลังกาหลวง ดอยลังกาน้อย และน้ำตกต่างๆ

ก่อนเดินทางไป สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง บ้านสบโป่ง ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 57170 โทร 053-609-568 มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์

huayrang
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง
huayrang-3
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง
  1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง

เน้นการสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับคนในพื้นที่ เป็นการเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว ด้วยลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงขนาบข้างแนวเหนือ-ใต้ มีที่ราบลุ่มกว้าง ความลาดชันของพื้นที่ปานกลาง จึงมีจุดชมวิวบนดอยสูงมองเห็นแม่น้ำโขง มีแปลงผักและผลไม้ปลอดสารพิษ เช่น อะโวคาโอ และองุ่นไร้เมล็ด สัมผัสวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง

ติดต่อได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง บ้านห้วยแล้ง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย 57310 โทร 087-183-7698, 053-918-441มีบ้านพักรับรอง และสถานที่กางเต็นท์เช่นกัน

SONY DSC
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก
hungluk-2
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก
  1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก

เดิมสภาพพื้นที่ทำกินเดิมไม่เหมะสมแก่การเพาะปลูก โครงการหลวงจึงตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมงานด้านเกษตรกรรมแก่ชาวเขา ประกอบด้วยชาวเขาเผ่าม้ง กะเหรี่ยง และคนพื้นเมือง ในพื้นที่มีทั้งแปลงพืชผักเมืองหนาว แปลงสมุนไพร แปลงดอกไม้ และแปลงผลไม้ หรือจะเดินเที่ยวในหมู่บ้าน และตลาดชุมชนบ้านม้งห้วยลึก เพื่อซื้อสินค้าเกษตรและของป่า ขณะที่สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง เช่น ถ้ำเชียงดาว, พระสถูปสมเด็จพระนเรศวร, โปร่งน้ำร้อนบ้านยางปู่โต๊ะ และวัดถ้ำผาปล่อง

สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก ตั้งอยู่เลขที่ 91 หมู่ 7 ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 95 ถนนสายเชียงใหม่ – ฝาง เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ 081-9613174 มีบ้านพักรับรองและจุดกางเต็นท์

hungseaw
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว
hungseaw-3
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว
  1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว

เป็นพื้นที่ขนาดเล็ก ประกอบด้วยคนพื้นเมืองและชาวเขาเผ่าม้ง ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา ดิน มีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายและดินลูกรัง ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ หลังการพัฒนาเป็นแหล่งปลูกมะม่วงหลายชนิด เช่น มะม่วงพันธุ์ออร์วิน มะม่วงนวลคำ ที่มีผลขนาดใหญ่ น้ำหนักเกือบ 1 กิโลกรัม รับประทานได้ทั้งดิบและสุก นอกจากนั้นยังมีสวนลิ้นจี่  ส่วนแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ คือ น้ำตกครก และน้ำตกตาดน้อย

เนื่องจากเป็นศูนย์ขนาดเล็ก จึงไม่มีที่พักรับรอง แต่มีพื้นที่กางเต็นท์ ติดต่อที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว บ้านห้วยเสี้ยว ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230 โทร 053-248-425, 089-850-6586

hungsompoy1
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย
hungsompoy
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย
  1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย

อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีเขตติดต่อและซ้อนทับกับอุทยานแห่งชาติอินทนนท์และอุทยานแห่งชาติออบหลวง จึงเป็นทั้งพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาอาชีพให้กับชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง กิจกรรมการท่องเที่ยวมีทั้งเชิงเกษตร แปลงผัก ผลไม้ การทำนาขั้นบันได และสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติออบหลวง น้ำตกต่างๆ เส้นทางธรรมชาติป่าอนุรักษ์ของชาวกะเหรี่ยง

การเข้าพักติดต่อ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย หมู่ 8 ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่  50160 โทรศัพท์. 0-5322-8240, 053-318-327 มีบ้านพัก และจุดกางเต็นท์

นี่เป็นเพียง 8 โครงการหลวงแรกเท่านั้น ยังมีโครงการหลวงอื่นๆ ที่น่าไปสัมผัสอีกเยอะ

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก http://www.thairoyalprojecttour.com/

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา