เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกำหนด 3 ฉบับเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลของ COVID-19 มูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านบาท โดยผลบังคับใช้แล้ว
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 โดยสำหรับเอกสารฉบับเต็มสามารถอ่านได้ที่นี่
สาระสำคัญคือให้กระทรวงการคลังมีอำนาจในการกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศหรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาลไทย มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2564
สำหรับเงินกู้ดังกล่าวต้องใช้เฉพาะ 3 กรณีดังนี้เท่านั้น คือ
- เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19
- เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19
- เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19
นอกจากนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษายังเผยแพร่ พระราชกำหนดอีก 2 ฉบับได้แก่
- พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (ฉบับเต็ม)
- พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563
(ฉบับเต็ม)
มุมมองล่าสุดจาก บริษัท หลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้ความเห็นว่า ในส่วนพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทถือว่าประกาศในราชกิจจาฯ ถือว่าเร็วกว่าที่คาดถึง 2 สัปดาห์ ทำให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินได้ทันที จึงอาจไม่เกิดสภาวะด้านงบประมาณขาดช่วง ขณะที่วงเงินเยียวยาประชาชน เกษตรกร และภาคธุรกิจยังจัดสรรไว้สูงถึง 555,000 ล้านบาท นอกจากนี้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจนั้นช่วยลดแรงกดดันแก่สถาบันการเงินในช่วง 6 เดือนข้างหน้าด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา