Thai News Pix เอเจนซี่ภาพข่าวไทยกับการเปิดโอกาสและที่ยืนให้ช่างภาพข่าว

บทความโดยวรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

หากพูดถึงข่าว นอกจากเนื้อหาที่น่าสนใจ พาดหัวที่กระชากใจแล้ว ภาพข่าวก็เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญในการฉุดดึงสายตาของผู้อ่าน และผู้ชมให้หยุดมอง ภาพข่าวเป็นทั้งบันทึกทางประวัติศาสตร์ เครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร ไปจนถึงการสรรค์สร้างเรื่องราวของช่างภาพ

หากพูดถึงเอเจนซี่ภาพข่าวที่เป็นที่รู้จักในตลาดโลกชื่อลำดับต้นๆ คงหลีกหนีไม่พ้น Getty Images, Reuters, AP, และ AFP นอกจากนี้ก็เป็นเอเจนซี่ภาพข่าวรายย่อยที่เป็นเบอร์รองๆ ในตลาด ทว่าหากพูดถึงเอเจนซี่ภาพข่าวของคนไทย คงเป็นไปได้ยากที่คนจะนึกออกในทันที

ภานุมาศ สงวนวงษ์ ผู้ก่อตั้งเอเจนซี่ภาพข่าว Thai News Pix เห็นช่องว่างตรงนี้จากประสบการณ์การถ่ายภาพข่าวมากกว่า 15 ปี ในช่วงเวลานั้น เขาทำงานที่หนังสือพิมพ์มติชน 9 ปี และบางกอกโพสต์อีก 4 ปี  ในฐานะรองบรรณาธิการภาพ และตัดสินใจออกมาก่อตั้งเอเจนซี่ภาพข่าว Thai News Pix เมื่อ 5 ปีก่อน ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปี 2561

ภาณุมาศ สงวนวงษ์ ผู้ก่อตั้ง Thai News Pix

ช่างภาพข่าว-เสียงในกองบรรณาธิการ

โดยทั่วไปในแวดวงข่าวและสื่อสารมวลชนไทยในอดีต ช่างภาพข่าวจำนวนมหาศาลไม่ได้มีโอกาสในการตัดสินใจในผลงานของตัวเองมากนัก นอกเสียจากถ่ายภาพตามมอบหมายงานที่ได้รับ เพราะในกองบรรณาธิการข่าวนั้น ช่างภาพไม่ได้อยู่ในสมการ เนื่องจากในสำนักข่าวส่วนใหญ่คนที่มีโอกาสจะได้นั่งอยู่ในที่ประชุมบรรณาธิการในการตัดสินใจประเด็นไปจนถึงคัดสรรสิ่งที่อยู่สื่อขององค์กรนั้นโดยมากคือคนที่เติบโตมาจากอาชีพนักข่าว ผู้คนผู้เล่าเรื่องด้วยตัวอักษร

อย่างไรก็ตามองค์กรที่ภานุมาศเคยอยู่ล้วนเป็นองค์ที่ให้สิทธิ์ช่างภาพในการตัดสินใจในระดับหนึ่ง

โดยภาณิมาศเล่าว่าสมัยที่เขาอยู่มติชนมันจะมีโต๊ะช่างภาพ แบ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าช่างภาพ ช่างภาพ ซึ่งช่างภาพก็เหมือนนักข่าวคนหนึ่งมีหัวหน้าคอยคัดกรองรูป นอกจากนั้นก็มีหน้าที่เวรประจำวันที่ต้องผลัดกันมาทำ คอยเลือกรูปเสนอหัวหน้า หัวหน้าเสนอบรรณาธิการอีกทีหนึ่ง รวมถึงคอยสแกนฟิล์ม เช็คหมาย ฟังวิทยุ ฟัง ว. ไปจนถึงรวบรวมหมายงานแต่ละวัน เพื่อที่จะมอบหมายให้ทีมงานในตอนกลางคืน

ภานุมาศอธิบายเพิ่มว่าโชคดีที่มติชนยังมีหัวหน้าช่างภาพที่คอยเสนอภาพให้กับกองบรรณาธิการ แม้มีการคัดกรองหลายชั้น แต่ถ้าเป็นบางกอกโพสต์หัวหน้าช่างภาพจะเป็นบรรณาธิการภาพ ซึ่งก็มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น พอเป็นตำแหน่งที่สามารถเข้าไปในที่ประชุมบรรณาธิการเพื่อจะช่วยคัดเลือกภาพที่จะใช้ในหนังสือพิมพ์ได้ และจะมี 1 เสียงในการประชุมกองบรรณาธิการเท่าๆ กันกับคนอื่น มีบทบาทในการบอกว่ารูปไหนดี ไม่ดี รูปไหนที่อยากจะนำเสนอ และสามารถโต้เถียงได้ ว่ารูปไหนจะขึ้นหน้า 1 รูปประกอบข่าวควรเป็นรูปไหน

จริงๆ มันควรเป็นแบบนั้น ถ้าเราต้องเลือกรูป แต่เราไม่ให้โอกาสคนที่ควรจะมีความเข้าใจในเรื่องภาพที่สุดเข้าไปมีส่วนในการคัดเลือกภาพ มันก็ดูแปลกๆ นะ

หัวหน้าช่างภาพก็ยังพอมีสิทธิ์มีเสียงบ้าง แต่บางที่ก็อาจจะไม่มีเลย ช่างภาพอยู่ใต้โต๊ะข่าวอีกที มีนักข่าวเป็นหัวหน้า หัวหน้าโต๊ะข่าวเป็นคนดู ช่างภาพก็แค่รับมอบหมายงาน ส่งรูปมาที่เหลือก็จะเป็นกองบรรณาธิการดู ซึ่งเป็นนักข่าวเป็นส่วนใหญ่ที่เป็นคนเลือกภาพ

นอกจากนี้การทำงานในสื่อหนังสือพิมพ์มีข้อจำกัดเนื่องจากภาพที่ถูกใช้ในหนังสือพิมพ์ต่อวันจะน้อยมาก เต็มที่ไม่เกิน 5 ภาพ ซึ่งจะอยู่ใต้เงื่อนไขอื่นๆ ประกอบ เช่น อยู่ใต้กรอบข่าวสลับไปทั้งเล็กและใหญ่ ถูกเบียดด้วยพาดหัวข่าว เนื้อข่าว โฆษณา มีประเด็นใหญ่เข้ามา ทำให้พื้นที่ในการลงภาพเหลือจะน้อยมาก เต็มที่ก็ 1 ข่าว 1 รูป

ส่วนบางกอกโพสต์ บนหนังสือพิมพ์หน้า1ทั้งหน้า ในอดีตจะมีแค่ 1 รูป ทำให้มีรูปที่ตกหล่นเยอะ แต่มันก็ทำให้มีคุณค่านะ คือถ้ารูปนั้นดีจริงแล้วได้ขึ้นหน้า 1 รูปเดียว อันนั้นคือรูปที่ปัง ถูกพิสูจน์แล้วว่ามันเจ๋ง แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคน และไม่ใช่ทุกงานที่จะมีโอกาสแบบนั้น

เมื่อเงื่อนไขทางการนำเสนอรวมเข้ากับโครงสร้างการทำงานของสื่อเก่า ภาพที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจึงมีจำนวนมหาศาล หลายอย่างค่อยๆ ก่อตัวก่อนจะถึงจุดที่ภาณุมาศตัดสินใจครั้งสำคัญ

ตอนทำงานข่าวในกองบรรณาธิการ มันมีรูปที่ถูกทิ้งเยอะ มันมีความไม่เป็นตัวของตัวเองเยอะ เพราะว่าภาพมันถูกเลือกโดยกอง บก บางทีก็อาจจะเป็นคนที่เป็นนักข่าว ไม่ใช่ช่างภาพก็ได้ เพราะฉะนั้น เราเอง เราคิด เราสร้างสรรค์ เราพยายาม เราทำให้งานของเรามันดี แต่มันไปไม่สุด เพราะว่ารูปของเราจำนวนมากถูกทิ้งไว้ แล้วก็ไม่ได้ใช้

ย่างก้าวใหม่

เส้นทางของเอจนซี่ภาพข่าวสัญชาติไทยเริ่มขึ้น เมื่อภาณุมาศอยู่ที่บางกอกโพสต์ แล้วเห็นมีช่องว่างเล็กๆ ในช่วงที่หนังสือพิมพ์เริ่มลดความนิยมและสื่อออนไลน์กำลังเกิดชึ้น

พอออนไลน์มันเริ่มดีขึ้นโอกาสในการทำงานที่มีความเป็นอิสระมากขึ้นก็พอเป็นไปได้ คือจริงๆ เรื่องการสร้างโฟโต้เอเจนซี่มันมีมานานแล้วล่ะในวงช่างภาพข่าว เพียงแต่ว่าปัจจัยของคนที่คิดถึงมัน และอยากจะทำมัน มันยากมากในช่วงที่สื่อส่วนใหญ่เป็นหนังสือพิมพ์

เหตุผลส่วนหนึ่งที่เอเจนซี่ภาพข่าวไม่เคยมีอยู่ในไทย เนื่องจากสื่อสิ่งพิมพ์สมัยก่อน ค่อนข้างเป็นธุรกิจที่ดี มีเม็ดเงินเยอะ ทำให้แต่ละสื่อก็จะมีงบประมาณในการจ้างคน มีช่างภาพจำนวนมาก มีทรัพยากรเยอะ หากจะสร้างโฟโต้เอเจนซี่มาแข่ง หรือว่ามาเป็นพาร์ทเนอร์ จึงเป็นไปได้ยาก เพราะทุกองค์กรก็มีช่างภาพ

พอมันเริ่มมีออนไลน์ มันก็เริ่มมีสื่อเล็กๆ ค่อยๆ เกิดขึ้น มีกองบรรณาธิการเล็กๆ ที่ต้องการช่างภาพเพียงหนึ่งคน แล้วต้องการการซื้อภาพอีกเล็กน้อย เพื่อใช้ในสื่อของเขา ผมก็เลยเห็นว่ามันเป็นโอกาสที่ดี

ภาณุมาศจึงเริ่มพูดคุยกับช่างภาพที่อยู่ในบางกอกโพสต์ว่า ถ้ามีใครสักคนตัดสินใจออกมา แล้วลองเริ่มต้น ทดลองทำ สิ่งนี้จะเป็นไปได้จริงหรือไม่ เนื่องจากภาณุมาศก็ฝันไว้ว่าหากมีโฟโต้เอเจนซี่ภาพข่าวในไทยเกิดขึ้น จะช่วยทำให้วงการภาพข่าวไทย มันขยับไปได้ ผ่านการเปิดโอกาสให้ช่างภาพข่าวได้เป็นตัวเอง ได้สร้างสรรค์ผลงานอยากเป็นอิสระมากขึ้น

เราเริ่มตั้ง TNP ช่วงครึ่งปีแรกก็คือทุลักทุเลมาก คิดง่ายๆ ว่าเราอยู่บนสื่อใหญ่มาตลอด มีหัวโขน ไปไหนก็บอกเขาได้ว่าเออ เป็นสื่อมวลชน คนก็จะรู้จัก พอมาทำ Thai News Pix ครั้งแรก เขิน บอกว่าอยู่ Thai News Pix คนไม่รู้จัก คือไรวะ แล้วเราก็จะไม่รู้จะนิยามตัวเองว่าอะไร

ในวันนั้นพื้นที่สื่อมีอยู่  ภานุมาศต้องต้องอาศัยความพยายามมาก และเขาพบว่าคอนเนคชั่นเก่าๆ ที่เคยมีมาสมัยเป็นช่างภาพในหัวใหญ่หายไปหมด มีอยู่แค่ไม่กี่คนที่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา พวกเขาก็ต้องสู้ ด้วยโอกาสการทำงานในพื้นที่ข่าวที่ยังคงน้อยอยู่ ค่อยๆ ขยับสร้างตัวเองมากขึ้น พิสูจน์ด้วยผลงาน แต่ปัญหาใหญ่คือการไม่มีทุน ทุกคนในทีมตอนนั้นต่างต้องทำงานอื่นๆ ผ่านการเป็นฟรีแลนซ์

เราต้องหาเงินด้วยตัวเองจากการไปรับงานส่วนตัว แล้วเอาเงินนี้มาต่อทุนในการทำงาน ทำแบรนด์ Thai News Pix คือเราก็คิดกันว่าต้องสร้างแบรนด์ให้ได้ก่อน รวมทีมให้ได้ วันหนึ่งพอมันทำได้ เราจะค่อยๆ มีค่าตอบแทนในแต่ละคน ตอนนั้นก็ลำบาก แต่ก็ได้เห็นในมุมหนึ่งคือ ได้เห็นเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เรียกว่าคนที่รักกัน

บรรยากาศเป็นกันเองของทีมงาน Thai News Pix ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ หรือ FCCT หลังงานพูดคุยที่พวกเขาร่วมจัดขึ้นเพื่อให้ช่างภาพข่าวได้พบเจอกันนอกพื้นที่การทำงาน

เส้นทาง 5 ปี

พอผ่านช่วงแรกมาและจดทะเบียนบริษัทได้ ภาณุมาศเริ่มเห็นโอกาสในการทำงานมากขึ้น การมีตัวตนแบบเป็นทางการซึ่งคาดหวังไว้ก็เริ่มลงหลักปักฐาน

เพราะแรกเริ่มเดิมทีการวางตัวเป็น News Photo Agency หรือเอเจนซี่ภาพข่าวของ Thai News Pix นั้นเต็มไปด้วยความมึนงงของคนในแวดวงข่าว เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ภานุมาศเล่าว่า กรมประชาสัมพันธ์ก็ไม่รู้และไม่เข้าใจว่าคืออะไร กว่าจะจดทะเบียนได้ต้องใช้เวลาอธิบายทำความเข้าใจ แม้แต่องค์กรสื่อมวลชนต่างๆ เองก็เช่นกัน

ก่อนนี้หากมีฟรีแลนซ์ก็จะเป็นไปในลักษณะของคนๆ เดียว แต่ว่าเมื่อเป็นเอเจนซี่ภาพข่าวแล้ว การทำความเข้าใจต่อคนในวงการข่าวจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อยืนยันตัวตน และทำให้องค์กรยืนอยู่ได้

โดยลูกค้ารายแรกที่เปิดอกรับ Thai News Pix คือ Workpoint online ที่รีแบรนด์เป็น Workpoint Today และ Today ตามลำดับ

เราก็ต้องบอกว่าเราถ่ายภาพแล้วก็ขาย เรามีพื้นที่ของเรา เราต้องการหาลูกค้าที่เป็นสื่อออนไลน์ที่อาจจะมีช่างภาพหนึ่งคน แล้วก็ต้องการเพิ่มหน่อย ก็ต้องหาสเปคลูกค้า แต่โชคดีที่มีคนสนใจ มีลูกค้าอยู่บ้าง แต่เราก็รับงานฟรีแลนซ์ไปด้วย เพื่อต่อชีวิต เพราะเงินจากการขายรูปมันน้อย รายได้อุตสาหกรรมข่าวถ้าไม่ได้พึ่งพาลูกค้ารายใหญ่ๆ มันก็เหนื่อย ถามว่าอยู่ได้ไหมก็อยู่ได้ แต่รายได้จากการขายรูปอย่างเดียวไม่พอ

ในมุมมองของภาณุมาศการเป็นฟรีแลนซ์แบบคนเดียวอยู่รอดได้ง่ายกว่า เพราะแบกเพียงมาตรฐานของตนเองไว้บนบ่า ไม่ต้องแบกแบรนด์ไปด้วย การสร้างแบรนด์ขึ้นมาได้ต้องทำให้คนในทีมเข้าใจเหมือนกัน ต่างจากการไปสังกัดองค์กรใหญ่ ที่มีแบรนด์ดิ้งของตนเองชัด คนเชื่อมั่นในแบรนด์ คนเชื่อมั่นในงาน ที่ถูกวางมาตรฐานไว้อยู่ก่อนแล้ว

เราต้องสร้างทั้งแบรนด์ ทั้งมาตรฐานของตัวเอง แล้วก็ยังต้องรักษามันไว้ด้วย เพราะฉะนั้นมันเกิดไม่ได้แค่ตัวผม แต่เกิดขึ้นจากทีมทุกคนที่เขารู้ว่าเขาทำงานไม่ว่าจะดี จะร้ายอย่างไร มันส่งผลต่อแบรรนด์ของเรา ถ้าช่างภาพคนหนึ่งถ่ายรูปแล้วคนชื่นชมมันไม่ใช่แค่ตัวเขาได้ แบรนด์เราก็ได้ด้วย ในขณะที่งานออกมาห่วยลูกค้าคอมเพลนด์มาแบรนด์มันก็เสียหายความเชื่อมั่นในแบรนด์ก็ต่ำลง ถ้าทุกคนเข้าใจในจุดนั้นมันก็เหมือนกับว่าต่างคนต่างมีส่วนช่วยให้มันมีความน่าเชื่อถือ และมีความเชื่อมั่นในการใช้งานทีมเรามากขึ้น

แต่ด้วยความที่ช่องว่างทางธุรกิจของภาพข่าวนั้นเล็ก และยังมีความไม่เข้าใจจำนวนมาก ทำให้คนที่ต้องการซื้อภาพข่าวจริงๆ น้อยมาก เทียบกับราคาที่ไม่อาจขายได้ราคาที่แพงมากนัก ประกอบกับการที่คนในสังคมอาจไม่ได้เข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ภาพ และมูลค่า ซึ่งเมื่อเกิดจากแรงงานและความสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้ก็ควรค่าแก่การมีราคา

และเมื่อตลาดรวมยังไม่ได้เข้าใจ “ราคา” ของภาพข่าวมากนัก การให้ความอิสระ และโอกาสในการจัดการชีวิต จึงเป็นตัวเลือกสำคัญในการต่อเติมรายได้จากเงินเดือนที่ไม่ได้มากมายนัก

“Thai News Pix มันมาแก้โจทย์ปัญหาของการที่ทำงานในองค์กรใหญ่ๆ คือทุกคนมีอิสระในการทำงานพอสมควร แต่ก็แลกมาด้วยข้อจำกัดเรื่องเงิน เราก็แก้โจทย์ด้วยการให้ข้อจำกัดเรื่องเงิน มีช่องว่างที่สามารถขยับขยายไปรับงานนอกได้ มีเวลาที่จะดีไซน์ตารางของตัวเองได้ วันนี้ไม่ว่าง วันอื่นมาทำงานชดเชยได้ไหม วันนี้ติดงานหยุดไปก่อน มีโอกาสค่อยมาชดเชย ยืดหยุ่นเรื่องวันหยุด แม้แต่เรื่องเงินก็ยืดหยุ่น มีโปรเจคข้างนอกก็มีเงินพิเศษเพิ่มบ้าง ถ้ามีช่วงที่อยากจะหยุดยาวๆ ก็ดีไซน์ได้ ว่าอยากจะวางแผนการหยุดอย่างไร”

ภาพถ่ายทีมงานของ Thai News Pix เรียงจากซ้ายไปขวา ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ, กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร (สมาชิกยุคบุกเบิก ปัจจุบันเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ให้ Thai News Pix ตามแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย), ภานุมาศ สงวนวงษ์, ธนัท ชยพัทธฤทธี, และ เจมส์วิลสัน

ปัจจุบัน Thai News Pix มีทีมงานประจำ 4 คน รวมภานุมาศ แต่ก็มีจะมีช่างภาพข่าวที่เคยร่วมหัวจมท้ายและเปลี่ยนงานไปแล้วมาช่วยในบางโอกาส

คือ 5 ปีเวลามันสั้น ไวนะ ผมไม่เคยคิด 5 ปี ผมคิดปีต่อปีมากกว่า จริงๆ แล้วข้อจำกัดเรื่องทุนเป็นเงื่อนไขใหญ่ เพราะเรามีรายจ่ายประจำ คือเราก็มีโชคดี แต่มันก็ต้องพิสูจน์ว่าโชคมันอาจจะทำให้คุณมีโอกาส แต่การรักษาโอกาสในระยะยาว มันต้องมีอย่างอื่นร่วมด้วย มีผลงานที่มีคุณภาพ มีงานที่โดดเด่น น่าเชื่อถือ ซึ่งทีมอาจจะเปลี่ยนคนไปได้ แต่แบรนด์ก็ไม่เปลี่ยนแล้ว ต่างคนต่างมีคาแรคเตอร์ต่างกัน มีข้อจำกัดต่างกัน มีสไตล์ต่างกัน มุมมองต่างกัน ก็มาอยู่ภายใต้แบรนด์เดียวได้ คอนเซปของงานคืออะไร แล้วก็ผลิตงานไป คือมันก็ยาก ผมไม่เคยคิดว่าจะทำได้ ทุกวันนี้ก็ยังงงๆ อยู่

Photojournalist ไม่ใช่แค่ช่างภาพ แต่คือชีวิต

การเป็นเอเจนซี่ภาพข่าวที่ไม่ถูกผูกติดกับสำนักสื่อไหน ภาณุมาศมองว่ามันเป็นโอกาสที่เปิดกว้างให้ช่างภาพข่าวได้สร้างสรรค์งานที่ไม่ถูกคุมด้วยเงื่อนไขเดิมๆ ซึ่งจะทำให้ช่างภาพข่าวแต่ละคนได้สร้างตัวตน ได้ออกแบบ คิดสร้างสรรค์เรื่องราว มุมมองการถ่ายภาพ และใช้เทคนิควิธีคิด ที่แต่ละคนคิดว่ามันจะสื่อสารได้ดีที่สุด

การสร้างสรรค์งานและตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์ผ่านมุมมองในภาพข่าวนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อภาณุมาศ ซึ่งเขาได้วาดหวังให้ Thai News Pix เป็นองค์กรที่จะเปิดโอกาสให้ช่างภาพข่าวไทย ได้ที่ทางแบบช่างภาพข่าวต่างประเทศ หรือที่เรียกกันว่า Photojournalist ไม่ใช่ Photographer

ผลงานภาพถ่ายของ Thai News Pix เรื่องเสรีภาพในการแต่งกายและการไว้ทรงผลอิสระของนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ซึ่งธนัท ชยพัทธฤทธี ได้ออกแบบและสร้างสรรค์งานให้มีองค์ประกอบทางศิลปะไว้อย่างน่าสนใจ หลังจากภาพถ่ายชุดนี้ได้รับการเผยแพร่มีโมเดลิ่งติดต่อหาหานักเรียนคนดังกล่าว เพื่อทาบทามให้มาแคสติ้ง อ้างอิงจากคำพูดเขาว่า “อยากเป็นนายแบบ”

ภานุมาศอธิบายว่าตลอดช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมข่าวประเทศไทย คำว่าช่างภาพข่าว ไม่ได้มีลักษณะชัดเจนแบบในต่างประเทศ

ในบ้านเรามันไม่ค่อยชัดตรงที่ว่า ส่วนใหญ่เราทำงานไปนานๆ เราทำไปตามหมายงาน คือหัวหน้าสั่งงานมา เราก็ไปทำตามนั้น หมายมาไงก็ไปทำตามนั้น แต่ Photojournalist มันมากกว่านั้น มันคล้ายกับที่เราทำข่าว เราสามารถแตกประเด็น หาข้อมูล หาแหล่งข่าว มองหาสิ่งที่มันมากกว่าสิ่งที่เป็นหมายงานรายวัน สกิลพวกนี้มันถูกท้าทายด้วยเงื่อนไขที่มากกว่าเวลาทำงานให้กับสื่อฯ ในบ้านเรา

ซึ่งภานุมาศได้อธิบายต่อว่า Photojournalist ในไทยใช้ได้ในบางคน หรือบางสื่อเท่านั้น อาจเป็นแบบสไตล์ไทยๆ เนื่องจากเมื่อช่างภาพข่าวทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ ก็จะทำในกรอบของสื่อที่ทำงานด้วย และขอบเขตของงานมันอาจจะไม่ได้กว้างมากนัก

บางคนอาจจะคิดว่า Photojournalist ต้องแบบช่างภาพสงครามเปล่าวะ ต้องลุยในที่ที่มีความเสี่ยง อยู่ในที่ธุระกันดาร อยู่ในสภาพแวดล้อมท้าทาย หรือว่าไปแผ่นดินไหวน้ำท่วมใหญ่ๆ อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่างภาพข่าวเราก็ทำอยู่แล้ว มันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ความเป็น Photojournalist คือมีพื้นที่ให้เราสร้างสรรค์ มันเปิดพื้นที่ให้เราทำงานได้เป็นมืออาชีพมากขึ้น ไม่ได้ทำงานแค่ตื่นเช้ามาทำงานตามหมายงาน แล้วก็กลับบ้าน

ผมว่ามันไม่ได้ต้องไปขึ้นอยู่กับนิยาม ผมวัดกันที่ใจมากกว่า คุณตระหนักหรือเปล่าว่าคุณกำลังทำข่าวอยู่ หรือแค่เป็นช่างภาพคนหนึ่งที่บังเอิญไปอยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น

เพราะสำหรับภานุมาศ Photojournalist คือนักข่าวที่เล่าด้วยภาพ แทนตัวอักษร

“Photojournalist มันต้องเป็นทั้งชีวิต มันก็เหมือนนักข่าวคือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนคุณก็คือนักข่าว ที่พร้อมที่จะออกมาเล่าเรื่องราว พร้อมที่จะตั้งคำถามกับสังคม พร้อมที่จะพูดถึงสิ่งเหล่านั้น แล้วผลิตมันออกมาให้กลายเป็นสื่อ ถ้าสิ่งนี้มันอยู่ในตัวช่างภาพแต่ละคน ผมก็ว่ามันก็เป็นความมืออาชีพที่เราจะเรียกตัวเองว่าเป็น Photojournalist”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา