ถ้าพูดถึงธุรกิจแข่งขันเดือดที่ตอนนี้หลายบริษัทในตลาดยังคงไม่สามารถทำกำไรได้ หนึ่งในธุรกิจที่เราคิดถึง คือ ‘ธุรกิจขนส่งพัสดุ’
ย้อนไปปี 65 คนมีกำไรคือ เจ้าของอีคอมเมิร์ซ
เมื่อปีก่อน ‘ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ’ ซีอีโอของ Creden.co ผู้คร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซไทยมายาวนานเคยให้มุมมองประกอบงบกำไรขาดของบริษัทขนส่งไทยว่า ความเป็นเจ้าของ ‘อีคอมเมิร์ซ’ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการการแข่งขันในธุรกิจ จึงทำให้ SPX Express ของ Shopee และ Lazada Logistics ของ Lazada และ J&T Express ที่ทำงานร่วมกับ TikTok Shop สามารถทำกำไรท่ามกลางการแข่งขันได้
แต่ขณะนั้นเป็นการวิเคราะห์จากงบกำไรขาดทุนจากปี 2565 เมื่อเวลาผ่านไป Brand Inside จึงได้รวบรวมงบกำไรขาดทุนย้อนหลัง 3 ปีของบริษัทขนส่งพัสดุในไทย โดยรวมปี 2566 หรือปีล่าสุดที่บริษัทต่างๆ ได้เปิดเผยงบกำไรขาดทุนกับกระทรวงพาณิชย์แล้ว
โดยเรียงลำดับบนลงล่างตามรายได้ประจำปี 2566 ของแต่ละบริษัท ได้แก่
– ไปรษณีย์ไทย : บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
– Flash Express : บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด
– J&T Express : บริษัท โกลบอล เจท เอ็กซ์เพรส (ไทยแลนด์) จำกัด
– Lazada Logistics : บริษัท ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส จำกัด
– Shopee Express : บริษัท เอสพีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด
– KEX Express (อดีต Kerry Express) : บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
– DHL E-Commerce : บริษัท ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด
– Ninja Van : บริษัท นินจา โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
– Best Express : บริษัท เบสท์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
ไปรษณีย์ไทยพลิกกำไร ขนส่งเจ้าของอีคอมเมิร์ซยังแข็งแรง
สิ่งที่น่าสนใจ คือ ปี 2566 ถือเป็นการพลิกกลับมาทำกำไรครั้งแรกของ ‘ไปรษณีย์ไทย’ หลังขาดทุนต่อเนื่องมาสองปี
ขณะที่ SPX Express ของ Shopee และ Lazada Logistics ของ Lazada ก็ยังทำได้ดีต่อเนื่อง สามารถทำกำไรได้ในปี 2566 แม้ว่า SPX Express จะมีกำไรลดลงจากปีก่อนหน้า
แต่บริษัทที่เคยทำกำไรได้หลักพันล้านในปี 2565 อย่าง J&T Express กลับขาดทุนมากถึง 7 พันล้านบาทในปีเดียว
ส่วน Flash Express และ KEX Express ยังคงขาดทุนต่อเนื่องติดกันเป็นปีที่ 2 ขณะที่ DHL E-Commerce, Ninja Van และ Best Express ขาดทุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 4
เปิดงบ 67 แล้ว 2 บริษัท เจ้าหนึ่งกำไร เจ้าหนึ่งขาดทุน
ฟากบริษัทที่เปิดเผยงบกำไรขาดทุนของปี 2567 แล้วมีเพียง Lazada Logistics ที่มีกำไร 1,742 ล้านบาท และ Ninja Van ที่ขาดทุน 940 ล้านบาท
ด้าน ‘ไปรษณีย์ไทย’ เปิดเผยว่า งบ 9 เดือนแรกของปี 2567 มีกำไรอยู่ 31 ล้านบาท ส่วน KEX Express ที่มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่จนนำมาสู่การเปลี่ยนชื่อแบรนด์และบริษัทในเวลาต่อมา มีงบ 9 เดือนปี 2567 ขาดทุนอยู่ 3,286 ล้านบาท
โดยสรุป ไปรษณีย์ไทย’ พี่ใหญ่ของตลาดกลับมามีกำไรและมีกระแสเชิงบวกอีกครั้งในปีที่ผ่านมา รวมถึงเจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee และ Lazada ยังคงทำกำไรได้ต่อเนื่อง ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ต้องเรียกได้ว่าหืดขึ้นคอ เกมการแข่งขันในตลาดขนส่งยังคงเดินต่อและในปี 2568 นี้ เราคงเห็นชัดขึ้นว่าใครจะอยู่ ใครจะไป
รวบรวมข้อมูลงบกำไรขาดทุนจาก Corpus X
ภาพโดย Punyada Udompreecha
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา