เจาะอนาคต ไทยลีก 1 จากที่สมาคมบริหารจนลิขสิทธิ์เหลือ 50 ล้านบาท สู่การให้สโมสรไปขายกันเอง

เป็นบทสรุปออกมาแล้วว่า ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล ไทยลีก 1 ฤดูกาล 2023/24 สโมสรทั้ง 16 ทีม จะเป็นผู้นำสัญญาณไปถ่ายทอดในช่องทางสโมสร หรือนำไปเผยแพร่เพื่อสร้างรายได้ในการสนับสนุนสโมสร

ง่าย ๆ คือ เอาไปรับผิดชอบกันเอง เพราะ ไทยลีก 1 มีกำหนดจะเปิดฤดูกาลวันที่ 11 ส.ค. 2023 แต่ถึงตอนนี้ยังไม่มีบทสรุปเรื่องใครได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และก่อนหน้านี้มีแค่ผู้ประสงค์ยื่นประมูลในราคา 50 ล้านบาท เท่านั้น

ทำไม ไทยลีก 1 จากที่เคยเป็นกระแสในกลุ่มผู้หลงใหลฟุตบอล และคนขาจร ทั้งเคยขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดได้หลัก 1,000 ล้านบาท ถึงมีบทสรุปแบบนี้ brand inside อยากชวนมาติดตามเรื่องนี้ด้วยกัน

ไทยลีก 1

จุดเริ่มต้นของไทยลีกที่มาจากทีมองค์กร

จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 1996 ที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความพยายามพัฒนากีฬาฟุตบอลให้เป็นอาชีพมากขึ้น จึงเกิดฟุตบอลลีกอาชีพครั้งแรกของประเทศไทยขึ้นมา โดยขณะนั้นมีทีมเข้าแข่งขัน 18 ทีม และเกือบทั้งหมดเป็นทีมจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนชั้นนำของประเทศ

เมื่อเป็นอย่างนี้ทำให้ทีมต่าง ๆ ยังไม่ถูกปรับให้เป็นอาชีพเต็มที่ จึงไม่แปลกที่จะไม่ได้รับความสนใจจากผู้ชม ถึงขั้นต้องจ้างตลกเข้ามาเล่นช่วงพักครึ่งเพื่อดึงดูดคนเข้าสนาม ซึ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ที่ไม่เป็นที่สนใจของกลุ่มทุนต่าง ๆ อยู่แล้ว

ฟุตบอล ไทยลีก 1 ใช้เวลาตั้งไข่เกือบ 10 ปี จนปี 2007 เริ่มมีกระแสการรับชม ไทยลีก 1 ขึ้นมา โดยทีมที่จุดกระแสคงไม่พ้น ชลบุรี เอฟซี ผ่านการทำกองเชียร์ในสนามให้คึกคัก กระตุ้นให้ทีมอื่นเพิ่มความจริงจังของความสนุกในสนาม และการคัดเลือกนักกีฬาลงฟาดแข้ง ทั้งยังเริ่มดึงดูดผู้สนใจนำสัญญาณภาพไปถ่ายทอดบางนัดการแข่งขัน

เข้าสู่ยุคอาชีพ และความรุ่งเรืองของลีก

กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อนักกีฬาที่เก่ง, มีผู้ลงทุน, ผู้ชม และผู้สนับสนุน ไทยลีก 1 จึงได้รับความนิยมมากกว่าเดิม สวนทางกับกระแสฟุตบอลทีมชาติไทยที่ช่วงนั้นประสบปัญหาอย่างหนัก ทั้งตกรอบซีเกมส์ และนักเตะเล่นไม่เป็นทีม จนสมาคมฟุตบอลฯ ถูกกดดันจากหลายฝ่าย โดยขณะนั้น วรวีร์ มะกูดี เป็นนายกสมาคมฟุตบอลฯ

ปี 2011 เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ กลุ่มทรูเซ็นสัญญาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล ไทยลีก 1 รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท กินเวลา 3 ฤดูกาล หรือตั้งแต่ฤดูกาล 2011-2013 โดยเป็นการเซ็นสัญญาต่อจากกลุ่มสยามสปอร์ตที่เพิ่งสิ้นสุดสัญญาไป แต่ยังเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของฟุตบอลอาชีพ และกิจกรรมอื่น ๆ ของสมาคมฟุตบอลฯ

ด้วยความสนุกของ ไทยลีก 1 และความนิยมที่ไม่ได้กระจุกแค่แฟนฮาร์ดคอร์ แต่รวมถึงขาจรด้วย กลุ่มทรูจึงทุ่มเงินอีก 1,800 ล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล 4 รายการ ประกอบด้วย ไทยลีก 1, ลีก 1, เอฟเอ คัพ และลีกคัพ 3 ฤดูกาล หรือ 2014-2016 และมีกลุ่มสยามสปอร์ตเป็นผู้รับผิดชอบผลประโยชน์

เจอโควิด และการเปลี่ยนขั้วขัดขวาง

ทุกอย่างยังไปได้สวย เพราะในปี 2015 กลุ่มทรู มีการเซ็นสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดอีกครั้ง มีมูลค่ากว่า 4,200 ล้านบาท กินระยะเวลา 4 ฤดูกาล หรือ 2017-2020 ครอบคลุมการแข่งขัน 4 รายการ และมีตัวละครอย่างสยามสปอร์ต, วรวีร์ มะกูดี และกลุ่มทรูเช่นเดิม

อย่างไรก็ตามในปี 2016 เกิดการเปลี่ยนขั้วของสมาคมฟุตบอลฯ เพราะ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมฟุตบอลฯ คนใหม่ เกิดเหตุการณ์ที่น่าสนใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนผู้รับผิดชอบงานบริหารลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ของฟุตบอลไทยที่กลายเป็น บมจ. แพลน บี มีเดีย ได้ไปแทน

ทั้งยังตัดสินใจเปลี่ยนตารางการแข่งขันจากจบในแต่ละปี เป็นเตะระหว่างปี หรือเริ่มเดือน ก.ย. จบเดือน พ.ค. ส่งผลกระทบกับปัญหาลิขสิทธิ์กับกลุ่มทรูที่ตกลงกันเป็นปี ทำให้ โดยเหตุการณ์นี้มาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงต้นปี 2020 ทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ไทยลีก 1 เริ่มเสื่อมความนิยมหลังจากนั้น

ได้รับผู้ถือลิขสิทธิ์ใหม่ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นดังหวัง

เมื่อเปลี่ยนขั้ว การจำหน่ายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจึงเปลี่ยนมือไปที่ เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ ที่ทุ่มเงิน 12,000 ล้านบาท (แบ่งจ่าย 8 ปี) เพื่อได้สิทธิ์บริหารลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเป็นเวลา 8 ฤดูกาล หรือตั้งแต่ฤดูกาล 2021/22-2028/29 มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่พิษโรคโควิด-19 ที่ไม่หายง่าย ๆ สุดท้ายดีลนี้จึงล่ม

เพราะปี 2021 ทางสมาคมฟุตบอลฯ ประกาศยกเลิกสัญญากับ เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ เพราะคู่สัญญาไม่ทำตามที่ตกลง จนสมาคมฟุตบอลฯ ต้องไปหาใครสักคนมาช่วย ซึ่งสุดท้ายเป็น AIS ที่เข้ามาอุ้ม และมีรายงานว่า AIS ได้สิทธิ์ไปในราคาราว 800 ล้านบาท กินระยะเวลาเพียง 1 ฤดูกาล หรือ 2021/22

ส่วนฤดูกาล 2022/23 ทาง AIS ได้สิทธิ์ไปอีกเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่มีการเปิดเผยค่าลิขสิทธิ์ ส่วนฤดูกาล 2023/24 ที่จะเริ่มการแข่งขันในวันที่ 11 ส.ค. 2023 ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่ามีผู้เสนอราคามาเพียง 50 ล้านบาท/ฤดูกาล ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบมูลค่าลิขสิทธิ์ก่อนหน้านี้

ตกต่ำจนต้องให้สโมสรไปบริหารเอง

AIS รายงานว่า ตัวเลขผู้ชมฟุตบอลสด และย้อนหลังของการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติไทยและไทยลีก ผ่านการรับชมจากแพลตฟอร์ม AIS PLAY ในทั้ง 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา มียอดคนดูกว่า 11.66 ล้านคน และยอดวิวรวมกว่า 1,000 ล้านวิว ทั้งยังมีเรตติ้งเฉลี่ยมากกว่าลีกสูงสุดฟุตบอลอังกฤษ และลีกสูงสุดฟุตบอลเยอรมนี

อย่างไรก็ตามแม้จะมากขนาดนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครสนใจจนสมาคมฟุตบอลยินดีมอบลิขสิทธิ์ให้สโมสร ไทยลีก 1 ทั้ง 16 ทีม เป็นผู้นำสัญญาณไปถ่ายทอดในช่องทางของสโมสร หรือนำไปเผยแพร่เพื่อสร้างรายได้ในการสนับสนุนสโมสรตามเงื่อนไขที่สมาคมกำหนด และเห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์กรบริหารฟุตบอลไทยลีก 1 

ส่วนลีกล่าง หรือรายการอื่น ๆ ทางสมาคมจะพยายามหาช่องทางการถ่ายทอดสดให้ได้ ซึ่งน่าสนใจว่า การตัดสินใจแบบนี้ของสมาคมจะช่วยให้ทั้ง 16 สโมสรสามารถสร้างรายได้จากค่าลิขสิทธิ์มากแค่ไหน เพราะตัวราคา 50 ล้านบาท ที่ยื่นเข้ามา ยังมีราคาน้อยกว่าค่าตัว เมสซี่เจ ที่ย้ายจากญี่ปุ่นมาร่วมทีมบีจี ปทุม ด้วยราคา 70 ล้านบาท

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา