ไทยอยากส่งสินค้าเกษตรบ้าง! เปิดเดินรถไฟสายจีน-ลาว ดีเดย์ 26 มกรานี้ ส่งจากไทยไปจีน

อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ ระบุว่า วันที่ 26 มกราคมนี้ขบวนรถขนส่งสินค้าจากสถานีเวียงจันทน์ใต้จะออกเดินบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว เข้าจีนที่ด่านรถไฟโมฮ่านตอนใต้ของมณฑลยูนนาน สู่มหานครฉงชิ่งทางภาคตะวันตกของจีน ใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน เร็วกว่าขนส่งทางเรือถึง 4 เท่าตัว

อลงกรณ์ รถไฟส่งผัก

นี่ถือเป็นขบวนรถสินค้าปฐมฤกษ์ ขนส่งสินค้าเกษตรของไทยไปยังจีน ผ่าน สปป. ลาวครั้งแรก ตั้งแต่เปิดเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยสินค้าเกษตรล็อตแรกเป็นข้าวเหนียวหัก 20 ตู้ น้ำหนัก 500 ตัน จากบริษัทกล้าทิพย์ที่จังหวัดหนองบัวลำพู

อลงกรณ์ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีรายงานต่างประเทศคลาดเคลื่อนว่า มีการขนส่งไปฉงชิ่งแล้วเมื่อวันที่ 20 มกราคม แต่เมื่อตรวจสอบย้อนกลับวันเดียวกันทราบว่า ข้าวล็อตดังกล่าวได้ส่งออกจากไทยผ่านด่านหนองคายไปฝั่ง สปป. ลาวที่ท่าบก ท่านาแล้งแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งไปถึงมหานครฉงชิ่ง ต้องรอเคลียร์พิธีการทางศุลกากรและไฟเขียวจากกระทรวงกสิกรรมที่นครเวียงจันทน์ จึงได้ประสานกับนายด่านตรวจพืชหนองคาย ผู้ส่งออก บริษัทชิปปิ้งและบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยและจีน จากนั้นได้ติดต่อกับคุณจันทร สิทธิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์ค และท่าบกท่านาแล้งช่วยสนับสนุนจนเรียบร้อย และได้รับแจ้งว่าจะเคลื่อนย้ายตู้สินค้าไปสถานีเวียงจันทน์ใต้ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ก่อนจะยกขึ้นแคร่รถไฟเพื่อพร้อมในการเดินทางพุธที่ 26 มกราคมนี้

อลงกรณ์ยังระบุอีกว่า เย็นวันนี้จะหารือกับเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทยเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทย-ลาว เรื่องการขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปจีนบนเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว เพื่อความพร้อมสำหรับการขนส่งสินค้าเกษตรอื่นๆ โดยเฉพาะผลไม้ที่ใกล้จะถึงฤดูกาลผลิตปี 2565 เริ่มตั้งแต่มีนาคมนี้ และเตรียมประชุมทางไกลกับสมาคมผลไม้และสมาคมล้งกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกบ่ายนี้ด้วย

ขบวนรถสินค้า
ภาพจากทำเนียบรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 18 มกราคมที่ผ่านมา ครม. มีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอผลการประชุมคณะกรรมการบูรณาการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-ลาวและจีน ครั้งที่ 1/2565 โดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเรื่องแต่งตั้งคระกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน (โดยก่อนหน้านั้น 19 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบร่วมกันในการลงทุนร่วมกันในสะพานแห่งใหม่ระหว่างไทยและลาวและเห็นชอบจัดตั้งคณะทำงานเทคนิคและด้านธุรกิจเพื่อร่วมหารือกันต่อไป)

สถานะการค้าและการขนส่งหลังรถไฟลาว-จีนเปิดให้บริการ ศักยภาพเพิ่มขึ้นราว 8 เท่า

นอกจากนี้ยังรับทราบสถานะการค้าและการขนส่ง หลังรถไฟลาว-จีน เปิดให้บริการ เปรียบเทียบสถิติการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนหนองคายช่วงธันวาคม ปี 2563 กับช่วงธันวาคม 2564

  • ช่วงที่มีการเปิดการให้บริการรถไฟลาว-จีน พบว่า มีปริมาณขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 116,552 ตันเป็น 304,119 ตัน มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.64 พันล้านบาทเป็น 6.91 พันล้านบาท มูลค่านำเข้าส่งออกที่ด่านหนองคายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังมีรถไฟลาว-จีนเกิดขึ้น
  • ปัจจุบันมีการเพิ่มรถไฟจาก 4 ขบวนต่อวันเป็น 14 ขบวนต่อวัน
  • จากการขนส่งขบวนละ 12 แคร่เป็น 25 แคร่ จะมีศักยภาพเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เท่า
ขบวนรถสินค้า
ภาพจากทำเนียบรัฐบาล

แผนดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน

  • แผนการก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย และโครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย
  • การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพาน ได้แก่ การบริหารจัดการสะพานเดิม ระหว่างรอก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ และก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่
  • การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้า พื้นที่ด่านศุลกากรหนองคาดคาดว่ามีความสามารถในการรองรับรถบรรทุกสูงสุด 650 คันต่อวัน โดยแนวทางพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าของฝั่งไทย-ลาว เพื่อเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อ

ในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

  1. ระยะเร่งด่วน การพัฒนาย่านสถานีหนองคายเป้นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า
  2. ระยะยาว การพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า (เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต)

ที่มา – ทำเนียบรัฐบาล (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา