เรื่องผลิต ‘ซีรีส์วาย’ ไม่มีใครเก่งเกินเรา! ตอนนี้ ‘ไทย’ คือเบอร์ 1 ของเอเชีย

รู้หรือไม่ว่าในปีๆ หนึ่งประเทศไทยของเราสามารถผลิตซีรีส์วายได้มากกว่าปีละ 50 เรื่อง และถ้ารวมคอนเทนต์อื่นๆ อย่างภาพยนตร์และภาพยนตร์สั้นสายวายด้วยแล้ว ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ไทยของเรานั้นสามารถผลิต ‘ซีรีส์วาย’ ออกมามากกว่า 340 เรื่อง!

จึงไม่แปลกที่ ‘ไทย’ จะสามารถครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ในซีรีส์วายเอเชียได้ ทั้งประเภท Boy Love ที่ครองส่วนแบ่งมากถึง 53% และประเภท Girl Love ที่ครองส่วนแบ่งมากถึง 63% ทิ้งห่างจากคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกันแบบไม่เห็นฝุ่น

โดย ‘มูลค่าตลาดซีรีส์วายไทย’ ในช่วงหลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดปีละมากกว่า 20% เรียกว่าเป็นอัตราการเติบโตที่มากกว่าอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทยในภาพรวมค่อนข้างมาก และด้วยการเติบโตแบบนี้นี่แหละที่ทำให้ภายในปี 2025 นี้ทาง SCB EIC คาดว่า ตลาดซีรีส์วายไทยจะมีมูลค่าเกือบ 5,000 ล้านบาท

คำถามของหลายๆ คนคือ ทำไม ‘ซีรีส์วายไทย’ ถึงสามารถโตไกลทั่วโลกได้?

จากรายงาน ‘ไขความลับซีรีส์วายไทย เหตุใดจึงติดเทรนด์โลก’ ของ SCB EIC แบ่งเหตุผลที่ทำให้ซีรีส์วายไทยสามารถเติบโตในระดับโลกออกเป็น 3 เหตุผลหลัก ได้แก่

1) ตัวละครรักกันได้เปิดเผย : วัฒนธรรมไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศ เปิดกว้างให้ LGBTQ+ สามารถแสดงตัวตนบนสื่อบันเทิงได้ รวมกับกลยุทธ์ ‘แฟนเซอร์วิส’ แสดงออกถึงความสนิทสนมของนักแสดงได้อย่างเปิดเผย ทำให้แฟนๆ ได้ ‘จิ้น’ หรือจินตนาการต่อ

2) เนื้อเรื่องแปลกใหม่ : ผลงานออกใหม่ปีละ 50 เรื่อง ทำให้การแข่งขันสูงมาก ผู้ผลิตซีรีส์วายไทยที่มีมากกว่า 100 เจ้า จึงต้องทำผลงานให้แตกต่างและมีคุณภาพในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่อง บทละคร และเทคนิคการถ่ายทำ นอกจากรักวัยรุ่นสดใสแล้ว ยังมีแนวดรามา แอคชัน สืบสวน และแฟนตาซีด้วย

3) แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งฮิต : ทำให้เข้าถึงผู้ชมได้หลากหลายมากขึ้น ข้อมูลจาก Rocket Media Lab บอกว่า ซีรีส์วายไทยเคยออกอากาศมาแล้วมากถึง 30 ช่องทาง ตั้งแต่ YouTube, Netflix, Max, Disney+, WeTV, iQYI และอื่นๆ อีกมากมาย

นอกจากนั้นยังมีเหล่า ‘สาววาย’ ที่คอยสนับสนุนผู้ผลิต ทีมงาน และนักแสดงซีรีส์วายอย่างต่อเนื่อง แม้เราจะไม่มีรายงานใหม่ๆ ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับกลุ่ม ‘สาววาย’ ว่าเธอและเขาเหล่านี้เป็นใคร แต่รายงาน YEconomy Study ของ LINE TV เมื่อปี 2020 เคยรวบรวมข้อมูลของกลุ่มผู้สนับสนุนซีรีส์วายในไทยเอาไว้ เท่าที่เราทราบคร่าวๆ คือ

– สาววายกว่า 78% เป็นผู้หญิง
– สาววายกว่า 77% จบปริญญาตรีหรือสูงกว่า
– สาววายกว่า 54% ยังเป็นโสด
– สาววาย กลุ่มหลักๆ แบ่งเป็นคนทำงาน 57% และ 14% นักเรียน
– รายได้ครัวเรือนของสาววายในกลุ่มตัวอย่างของ LINE TV ถึง 49% สูงกว่า 5 หมื่นบาท

โดยนอกจากสนับสนุน ‘ซีรีส์วาย’ ผู้ผลิต ทีมงาน และนักแสดงโดยตรงแล้ว ยังมีมากกว่า 4 ธุรกิจที่สาววายช่วยให้เติบโตตาม ‘ซีรีส์วายไทย’ ไปด้วย

1) ธุรกิจหนังสือ : เพราะซีรีส์วายไทยมากถึง 49.28% สร้างจาก ‘นิยายวาย’ หลังซีรีส์ออกฉายจึงทำให้หลายคนกลับมาตามหาต้นฉบับและนิยายหลายเรื่องก็กลับมาเป็นหรือกลายเป็นนิยายขายดี

2) ธุรกิจโฆษณา : เพราะซีรีส์วายไทยได้ปั้นนักแสดงให้กลายเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์’ มากมาย หลายคนมีจำนวนผู้ติดตามหลักล้าน และกลายเป็น Presenter หรือ Brand ambassador ของแบรนด์สินค้ามากขึ้น

3) ธุรกิจคอนเสิร์ตและอีเวนท์ : เพราะความโด่งดังของซีรีส์วาย ทำให้ผู้ผลิตสามารถขยายผลความสำเร็จสู่คอนเสิร์ต แฟนมีท อีเวนท์พบปะอีกมากมาย จึงทำให้เกิดแรงกระเพื่อมถึงวงการอีเวนท์ด้วย ยกตัวอย่าง GMMTV ที่ผู้ผลิตซีรีส์วายรายใหญ่ของไทยมีการจัดอีเวนท์ในประเทศมากกว่า 35 งานในช่วงเวลาเพียง 2 ปี (2023-2024)

4) ธุรกิจท่องเที่ยวและอื่นๆ : เพราะปรากฏการณ์ซีรีส์วายทำให้คนทั่วโลกรู้จักประเทศไทยมากขึ้น ดึงดูดให้แฟนๆ ต่างชาติมาเที่ยวไทย รวมถึงให้ผู้ผลิตซีรีส์วายไทยสามารถไปจัดคอนเสิร์ตและแฟนมีทในต่างประเทศได้ด้วย โดยซีรีส์วายไทยเคยไปเยือนมาแล้วทั่วอาเซียน รวมถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกงด้วย

ถึงตอนนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เห็นถึง ‘พลัง’ ของซีรีส์วายว่า สามารถเติบโตและสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่านี้ จึงทำให้มีผู้ผลิตซีรีส์วายในเอเชียหลายๆ ประเทศที่เริ่มโดดลงมาในตลาดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ การรักษาส่วนแบ่งในตลาดซีรีส์วายเอเชียจึงเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ

ในฐานะผู้ติดตาม เราพัฒนาการของเหล่าผู้ผลิตซีรีส์วายอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในแง่การพัฒนาเนื้อหาและโปรดักชัน ไปจนถึงความพยายามในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศให้กว้างขวางมากขึ้น

ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ‘ซีรีส์วายไทย’ ในฐานะของ Soft Power ตัวสำคัญ จึงจำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐ ทั้งในแง่เงินทุน แง่ผลประโยชน์ทางภาษี หรือแง่กระจายเนื้อหาสู่ต่างประเทศ เพื่อให้ Soft Power ที่เรียกว่าเป็น Soft Power ตัวจริงตัวนี้ไปต่อได้ไกลกว่าเดิม

ขอบคุณข้อมูลจาก SCB EIC, Rocket Media Lab และ LINE TV

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา