ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) มองว่า ในระยะ 3-5 ปี ข้างหน้า ตลาด Health Tech ของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้ แม้การใช้จ่ายใน Health Tech หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ในไทยปี 2564 ยังน้อย อยู่ที่ 300-400 ล้านบาท เพราะสถานการณ์การระบาดของโควิดเร่งให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในบริการสุขภาพมากขึ้น ผนวกกับแนวโน้มที่มีอยู่เดิมอย่างกระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปีหน้า
กระแสสุขภาพใหม่ สังคมสูงวัย และโควิด-19 คือปัจจัยหนุน Health Tech ไทย
มี 2 ปัจจัย ที่ผลักให้ธุรกิจสุขภาพและสถานพยาบาลปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในบริการด้านสุขภาพมากขึ้น คือ
- กระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Healthcare) ที่เน้นให้บุคคลดูแลสุขภาพมากขึ้นควบคู่ไปกับการรักษาโรค
- การเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ของไทยในปี 2565 หรือในอีก 1 ข้างหน้า ที่จะมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 14 ล้านคน
กระแสเหล่านี้ทำให้อุปสงค์ในสินค้าและบริการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ธุรกิจสุขภาพเน้นการรักษาโรคและดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก หลังจากนี้จะต้องให้ บริการด้านสุขภาพแบบครบวงจร ดูแลตั้งแต่ การให้คำปรึกษา การเสริมสร้างสุขภาพ ไปจนถึงการรักษาพยาบาล และ Health Tech ก็คือคำตอบที่จะทำให้ธุรกิจสุขภาพและสถานพยาบาลตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปได้มากขึ้น
และล่าสุด สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ Health Tech ทวีความสำคัญ เพราะช่วยยกระดับบริการด้านสุขภาพให้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และยังตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพ
Health Tech ไทย ยังขึ้นกับรายใหญ่ ระดับเทคโนโลยียังไม่ซับซ้อนนัก
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้จะมีการนำ Health Tech มาใช้ในไทย แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการนำมาใช้สำหรับภาคธุรกิจ (B2B) มากกว่าการใช้งานของผู้บริโภคโดยตรง (B2C) มูลค่าในตลาดเกินครึ่งเกิดจากการที่ผู้เล่นรายใหญ่ และที่สำคัญระดับของเทคโนโลยีสุขภาพยังไม่ได้ซับซ้อนมากนัก
การใช้ Health Tech ของภาคธุรกิจ (B2B) เน้นไปที่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้สำหรับการจัดการภายในองค์กรและยกระดับการบริการ เช่น ระบบจัดการข้อมูลผู้ป่วย ระบบการปรึกษาแพทย์ทางไกล หุ่นยนต์บริการดูแลผู้ป่วย โดยการลงทุนของภาคธุกิจใน Health Tech ส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้เล่นรายใหญ่ เพราะมีความพร้อมในการลงทุน รวมถึงมีความคุ้มค่าในการใช้งานในระยะยาวมากกว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
ที่สำคัญ Health Tech ในไทยทุกวันนี้ยังไม่ใช่ระบบที่ใช้นวัตกรรมซับซ้อนอย่างการใช้ AI วินิจฉัยโรค หุ่นยนต์ผ่าตัด เพราะยังต้องอาศัยการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย และต้องอาศัยเงินลงทุนสูง
ในขณะที่ธุรกิจสุขภาพระดับรองลงมา ไม่ได้ลงทุนใน Health Tech ของตัวเอง แต่อาศัยการใช้งานแพลตฟอร์มกลางในการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มเชื่อมโยงร้านขายยา ร้านสินค้าสุขภาพในเครือข่าย เพื่อสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยในกรณีพบแพทย์ทางไกล
ในขณะที่ การใช้ Health Tech ของผู้บริโภค (B2C) ก็เติบโตเช่นเดียวกัน เพราะผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น เริ่มมีการใช้แอพพลิเคชั่นเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เพื่อตรวจวัดข้อมูลด้านสุขภาพ ไปจนถึงบริการอื่นๆ เช่น คลาสออกกำลังกายออนไลน์ และการนัดหมายและปรึกษาแพทย์ทางไกล
อย่างในช่วงโควิด-19 ก็มีการใช้ Health Tech เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะการติดตามการแพร่ระบาด การประเมิณอาการเบื้องต้น รวมถึงการลงทะเบียนเข้ารับวัคซีน
Heath Tech ไทย มีศักยภาพพอในอนาคต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้การใช้จ่ายใน Health Tech หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ในไทยปี 2564 ยังน้อย อยู่ที่ 300-400 ล้านบาท แถมยังกระจุกตัวอยู่ในการลงทุนแบบ B2B ของรายใหญ่ แต่จากแนวโน้มที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ Health Tech ในไทยก็น่าจะเดินไปในทิศทางบวกมากขึ้น
ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ตลาด Health Tech ของไทยน่าจะเติบโตได้ถึง 10-12% (CGR) เพราะมีจำนวนธุรกิจและผู้ใช้งานเทคโนโลยีสุขภาพเพิ่มขึ้น แต่ยังคงจำกัดแยู่ที่เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน เน้นการพัฒนาฟังก์ชั่นให้ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า ในขณะที่กลุ่มเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนและต้องใช้ความแม่นยำสูง น่าจะยังอยู่ในช่วงการศึกษาเพิ่มเติมและจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง
ในอีกทางหนึ่ง การเติบโตนี้ก็แสดงถึงโอกาสในการเข้าถึงตลาด B2C สำหรับผู้เล่นระดับรองลงมา ทั้งผู้พัฒนาแอปพลิเคชันหรือผู้ให้บริการสุขภาพที่นำ Health Tech มาใช้เป็นจุดขาย ที่จะตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าสำคัญอย่างวัยทำงานที่มีกำลังซื้อและสนใจทดลองใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ
ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา