ครม. ออกมาตรการเยียวยา COVID-19 เน้นลูกจ้าง-อาชีพอิสระ แจกเงิน 5 พัน มีสินเชื่อพิเศษ

คณะรัฐมนตรีได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยชุดนี้จะเน้นไปที่ลูกจ้าง-อาชีพอิสระ โดยมาตรการสำคัญคือการแจกเงินเดือนละ 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน

Thai People Waiting Bus COVID-19 masks
ภาพจาก Shutterstock

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม และการแพร่ระบาด COVID-19 ขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ทำให้กระทรวงการคลังจัดทำมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรเทา ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนต่อไปได้

มาตรการดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

เยียวยา “แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบ ประกันสังคม”

โดยมาตรการดังกล่าวมี 8 มาตรการดังนี้

  1. สนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) ผ่านการลงทะเบียนแสดงความจำนงตรวจสอบคุณสมบัติและการโอนเงินผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน โอนเข้าบัญชีธนาคาร กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
  2. โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.10% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท
  3. โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน โดยมีหลักประกัน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท
  4. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ย ต่ำสำหรับโรงรับจำนำ วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยในอัตรา 0.10% ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี
  5. มาตรการเสริมความรู้ พิจารณาดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพเพื่อเสริมสร้างความรู้
  6. มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563
  7. เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ โดยวงเงินหักลดหย่อนไม่เกิน 25,000 บาท จากเดิม 15,000 บาท
  8. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากร ทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ หรือผู้ที่เกียวข้องที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข

มาตรเยียวยา “ผู้ประกอบการ”

ประกอบด้วย 7 มาตรการ

  1. สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19  กู้ต่อรายได้ไม่เกิน รายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 3% สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี
  2. มาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและ ผลิตภัณฑ์น้ำมัน จากเดิมยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วันเป็นภายในวันที่ 15 ของเดือน โดยมีระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)
  3. เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้ นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้
    • รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563
    • รอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563
  4. เลื่อนเวลายื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี โดยเลื่อนเวลา การยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีทุกประเภทที่กรมสรรพากรจัดเก็บ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่
    • ผู้ประกอบการที่ต้องปิดสถานประกอบการตามคำสั่งของทางราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
    • ผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เฉพาะที่มีเหตุอันสมควรให้เลื่อนเวลาออกไป โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณา เป็นรายกรณี เพื่อเป็นการลดภาระในการจัดทำเอกสารและการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ดังกล่าว
  5. เลื่อนการยื่นภาษีสำหรับกิจการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด COVID-19 เช่น ผับ ไนท์คลับ บาร์ ที่ปิดทำการหลังเวลา 24.00 ให้ยื่นแบบรายการและชำระภาษีภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563
  6. ยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกัน COVID-19 ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
  7. มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้สำหรับ เงินได้ที่ได้จากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้ รวมไปถึงการโอนและการจำนอง จนถึงปลายปี 2564

สำหรับรายละเอียดเต็มๆ สามารถอ่านได้ที่เว็บไซต์รัฐบาลไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ