สินค้าไทยจะไปนอกได้ ต้องมีจุดขาย มีความเป็นไทย ใช้งานได้จริง Amazon บอกปีนึงสินค้าไทยขายได้ทะลุล้านชิ้น

รู้หรือไม่ว่าหนึ่งในช่องทางการส่งออกของ ‘สินค้าไทย’ โดยเฉพาะสินค้าจากผู้ประกอบการเจ้าเล็กๆ ย่อมๆ หรือเหล่า SME ทั้งหลายคืออีคอมเมิร์ซ (E-Commerce)

รายงานล่าสุดจาก Access Partnership ที่ได้สำรวจโอกาสของธุรกิจส่งออกผ่านอีคอมเมิร์ซในไทย (The E-commerce Export Opportunity for Thailand) บอกว่า ในปีที่แล้ว (2023) ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกของตลาดอีคอมเมิร์ซมากถึง 209,500 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตเป็น 313,800 ล้านบาทในปี 2028 หรือเติบโตมากถึง 1.5. เท่าใน 5 ปี

ที่สำคัญ คือ 38% ของมูลค่าการส่งออกผ่านอีคอมเมิร์ซมาจากการส่งออกของกลุ่ม SME และรายงานยังคาดว่ามูลค่าการส่งออกผ่านอีคอมเมิร์ซของ SME จะเพิ่มถึง 50% ภายในปี 2028 เช่นกัน

จึงไม่แปลกที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซกว่า 87% ของผู้ประกอบการจะมองว่าอีคอมเมิร์ซเป็นตัวช่วยให้สามารถส่งออกแบบข้ามพรมแดนหรือส่งออกไปต่างประเทศได้ รวมถึง 57% มองว่าอีคอมเมิร์ซช่วยให้เจาะตลาดต่างประเทศได้ ทำให้มีตลาดกว้างขึ้น

จีน อเมริกา ญี่ปุ่น จุดหมายใหญ่ส่งออกอีคอมเมิร์ซไทย

นอกจากนั้น รายงานยังบอกอีกว่า ประเทศที่ SME ไทยส่งออกสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซไปมากที่สุด (ตัวเลขในวงเล็บคือประเทศที่อยากจะให้ความสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า) ได้แก่

  1. จีน 76% (76%)
  2. อเมริกา 53% (65%)
  3. ญี่ปุ่น 50% (59%)
  4. อาเซียน 37% (43%)
  5. สหราชอาณาจักร 18% (36%)
  6. สหภาพยุโรป 16% (41%)

โดยจะเห็นว่า แม้ตลาดที่ SME ให้ความสำคัญที่สุดในเวลานี้จะเป็นจีน อเมริกา และญี่ปุ่น แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้ากลุ่มที่ได้รับความสนใจมากขึ้นมากๆ คือ อเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป

ค่าใช้จ่ายสูง ขาดความรู้ ขาดทักษะ ทำ SME ไทยส่งออกยาก

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ‘อุปสรรคกีดกวางการส่งออก’ ของ SME ไทย โดย 4 ประเด็นหลักๆ ที่ถูกพูดถึง คือ

  • 88% ปัญหาค่าใช้จ่าย หนักสุดคือค่าขนส่งข้ามพรมแดน ค่าศุลกากร ค่าธรรมเนียม
  • 89% ปัญหาขาดความรู้ ทำธุรกิจอย่างไรจึงจะเอื้อกับการส่งออกข้ามพรมแดน
  • 91% ปัญหาขาดทักษะความเชี่ยวชาญ ทั้งด้านการตลาดดิจิทัล ซัพพลายเชน และโลจิสติกส์
  • 93% ปัญหากฎระเบียบในการส่งออก ที่สำคัญมากๆ กับตลาดอียูกับ เมกา และจีน

ทำให้ผู้ประกอบการอยากได้การสนับสนุนใน 4 ด้านหลัก ได้แก่

  • ช่วยเพิ่มความรู้เกี่ยวกับตลาดต่างประเทศ ผู้บริโภคชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
  • ช่วยเพิ่มทักษะความสามารถฝึกอบรม จัดอบรมสัมมนาเกี่ยวกับทิศทางตลาด
  • ช่วยสร้างอีโคซิสเตมให้คนค้าขายทำงานง่ายขึ้น
  • ช่วยด้านกฎระเบียบ อาทิ อยากให้มีข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคีเพิ่มขึ้น

สินค้าไทยไปนอกได้ ต้องมีจุดขาย มีความเป็นไทย ใช้ได้จริง

หนึ่งในบริษัทที่คว่ำหวอดทางด้านการส่งออกผ่านอีคอมเมิร์ซ คือ Amazon โดย ‘อนันต์ ปาลิต’ หัวหน้า Amazon Global Selling ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่าว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยบนแพลตฟอร์ม Amazon มากกว่า 1,000 เจ้าที่มียอดขายรวมกันมากกว่า 1 ล้านชิ้นต่อปี

กลุ่มสินค้าจากไทยที่ขายดีบนแพลตฟอร์ม ได้แก่

  • ของใช้ในบ้าน
  • เสื้อผ้า
  • อาหารเครื่องดื่ม
  • สินค้าสุขภาพความงาม
  • สินค้ากีฬา

‘อนันต์’ ได้ยกตัวอย่างสองแบรนด์ที่ขายดีบนแพลตฟอร์มอย่างกางเกงมวยแบรนด์ ’Tuff’ และขนมจากผลไม้ฟรีซดรายแบรนด์ Well-B

โดยมองว่า สินค้าไทยที่จะสามารถสร้างยอดขายเติบโตในต่างประเทศได้จะต้องมีจุดขายเฉพาะตัว มีอัตลักษณ์ความเป้นไทย ไปพร้อมๆ กับมีฟังก์ชันที่ดี ใช้งานได้จริง และมีราคาที่คุ้มค่าด้วย และสินค้าไทยก็ขายดีบน Amazon หลายๆ ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริ จีน สิงคโปร์ หรือเวียดนาม

Amazon เองก็ได้นำเสนอบริการ Fulfilment by Amazon เปิดให้ผู้ประกอบการนำสินค้ามาฝากไว้กับ Amazon โดย Amazon จะทำหน้าที่เป็นคลังฝากสินค้าและจัดส่งสินค้าให้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการที่ต้องการจะส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มของ Amazon ไม่ต้องกังวัลเรื่องการจัดส่งสินค้า มีเวลาไปโฟกัสการสร้างแบรนด์และพัฒนาสินค้ามากขึ้น

โดยปัจจุบัน Fulfilment by Amazon ใช้เวลาจัดส่งสินค้าประมาณ 2 วันและยืนยันว่าสามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้ผู้ประกอบการมากกว่า 20-25% และช่วยลดค่าใช้จ่ายลง 30% รวมถึงมีตลาดในหลายประเทศทั่วโลก

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา