พนักงานไทย 66% อยากย้ายไปทำงานต่างประเทศ คาดหวังความก้าวหน้า-ค่าตอบแทน สัญญาณเตือนสมองไหล

66% ของพนักงานไทยพร้อมย้ายไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะ ‘กลุ่มอายุน้อย’ ที่พร้อมย้ายมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ส่วนใหญ่คาดหวังคุณภาพชีวิตและค่าตอบแทนที่ดีขึ้น โอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและการทำงานระดับนานาชาติ ส่งสัญญาณเตือนปรากฎการสมองไหลอีกรอบ

Alexander Suhorucov / Pexels

Jobsdb by SEEK เปิดเผยข้อมูลตลาดแรงงานจากผลสำรวจ Global Talent Survey 2024 ที่สำรวจพนักงานกว่า 150,000 คนจาก 180 ประเทศทั่วโลก จัดทำโดย JobStreet และ Jobsdb ภายใต้กลุ่มบริษัท SEEK ร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) และ The Network โดยมีหนึ่งในใจความสำคัญพูดถึง ‘การโยกย้าย’ ถิ่นฐานเพื่อทำงานของผู้คนทั่วโลกและไทย

พนักงานไทย 66% อยากย้ายไปทำงานต่างประเทศ สัญญาณเตือนสมองไหล

ผลสำรวจบอกว่า 66% ของผู้ตอบแบบสอบถามคนไทยสนใจย้ายไปทำงานต่างประเทศ โดยกว่า 79% ของคนกลุ่มนี้เป็นคน ‘อายุน้อย’ และปัจจัยที่ทำให้สนใจย้ายไปทำงานต่างประเทศ คือ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน และโอกาสทำงานในระดับนานาชาติ

แม้สถิติ 66% จะยังไม่มากเท่ากับก่อนโควิด แต่คนที่สนใจอยากย้ายไปทำงานต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีที่ผ่านมา เป็นสัญญาณเตือนถึง ‘ปรากฏการณ์สมองไหล’ ในประเทศไทย โดยเฉพาะคนทำงานในกลุ่มการศึกษาและการฝึกอบรม กฎหมาย การจัดการธุรกิจ และไอที

เป้าหมายย้ายงานคนไทย คือ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อเมริกา 

ส่วนถ้าถามว่า “อยากไปไหน?” จุดหมายปลายทางที่แรงงานไทยนิยม ได้แก่ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่จีน ด้วยอิทธิพลจากความสัมพันธ์ระดับภูมิภาค ศักยภาพทางการตลาด และการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม

ถึงอย่างนั้น 60% ของคนที่ได้ไปทำงานในต่างประเทศก็มีความตั้งใจที่จะกลับมายังประเทศไทยในท้ายที่สุด เเละมีเพียง 18% ที่ต้องการอยู่ต่ออย่างไม่มีกำหนด

กลุ่มอยากย้ายมากที่สุด คือ การศึกษาและฝึกอบรม

โดยผลสำรวจบอกว่า 79% ของคนที่อยากย้ายไปทำงานในต่างประเทศเป็น กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มการศึกษาและการฝึกอบรม ตามด้วยกลุ่มงานกฎหมาย บริการธุรกิจ และไอที

  • การศึกษาและการฝึกอบรม : 85% ของอาจารย์เเละผู้สอนในประเทศไทยเชื่อว่าจะได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายเเละเติบโตในหน้าที่จากการสอนระหว่างประเทศ
  • กฏหมาย : 73% ของนักกฎหมายไทยกำลังมองหางานระดับนานาชาติ เพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญทางกฎหมายและสร้างเครือข่ายระดับโลก
  • การจัดการธุรกิจ : นักบริหารธุรกิจต้องการโอกาสการทำงานในต่างประเทศอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง เพื่อการเติบโตด้านการตลาด สื่อดิจิทัล และอุตสาหกรรม AI
  • ไอที : ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีอยากไปทำงานในประเทศที่มีการพัฒนาในด้านเทค อย่าง สหรัฐอเมริกา เพื่อเติมความรู้ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ วิทยาศาสตร์ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการพัฒนาและปฏิบัติการร่วมกั
  • วิศวกรรมและเทคนิค : วิศวกรต้องการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่เเละครบวงจร โดย 69% ของวิศวกรมีความยินดีที่จะย้ายสถานที่ทำงาน

ไม่ใช่แค่ย้ายงานไปต่างประเทศ แต่หางานทางไกลก็เพิ่มขึ้น

ปี 2563 มีคนไทยอยากจะทำงานระยะไกลหรือทำงานแบบไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน 50% และเพิ่มขึ้นเป็น 76% ในปี 2566 สอดคล้องกับสถิติในอาเซียนที่ 66% สนใจทำงานในต่างประเทศแบบไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก และสะท้อนว่าคนที่กำลังหางานตอนนี้มองว่าตัวเองสามารถทำงานจากไกลในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน

โดย 63% ของคนทั่วโลกกำลังหางานในต่างประเทศ ลดลงจากสถิติ 71% ก่อนโควิด ซึ่งกว่า 25% ของคนที่กำลังหางานในต่างประเทศ เพราะคาดหวังโอกาสในการทำงาน คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และรายได้ที่มากขึ้น

คนอื่นก็อยากย้ายมาทำงานใน ‘ไทย’

ในทางกลับกัน ประเทศไทย ก็กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายยอดนิยมของคนที่กำลังหางานเช่นเดียวกัน โดยขยับจากอันดับ 39 ขึ้นมาเป็นอันดับ 31 โดยประเทศไทยดึงดูดผู้ที่มีความสามารถหลากหลายจากทั่วโลกให้เข้ามาทำงาน เพราะชอบในคุณภาพชีวิต วัฒนธรรมที่เป็นมิตรและการไม่แบ่งแยก ควบคู่กับค่าครองชีพที่เอื้อต่อการอยู่อาศั

ผลสำรวจในเดือนมีนาคมปี 2566 บอกว่า ในประเทศไทยมีพนักงานต่างชาติกว่า 2.7 ล้านคน นับเป็น 7% ของแรงงานในประเทศ

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา