สรุปเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3: โต 4.5% นักท่องเที่ยว 3.6 ล้านคน โรงแรมโตพุ่ง 1,300%

เศรษฐกิจไทยโตถึง 4.5% ในไตรมาส 3 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามา ที่พัก-ร้านอาหารฟื้นตัว ประชาชนเริ่มใช้จ่ายตามปกติ แต่ยังมีเรื่องเงินเฟ้อให้กังวล

เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 เติบโตถึง 4.5% เพราะไทยเข้าสู่ระยะหลังระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม ทำให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ ผู้ประกอบการกลับมาเร่งธุรกิจ ประกอบกับนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง ดีกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ไทยโตได้ 2.5%

ในปีนี้ ประเทศไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้วกว่า 7.6 ล้านคน จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (และในไตรมาส 3 มีนักท่องเที่ยว 3.6 ล้านคน จากข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ)

และเมื่อถึงสิ้นปี คาดว่าประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 10 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยที่ GDP ราว 18% มาจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ส่วนปีต่อไปก็คาดกันว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 18 ล้านคน โดยในช่วงก่อนโควิดปี 2019 ไทยมีนักท่องเที่ยวกว่า 39 ล้านคน 

ภาพอัตราการขยายตัวของ GDP ไทย Q3/2565 โดย สภาพัฒน์ฯ

ทั้งนี้ มีข้อมูลสำคัญที่น่าจับตา 3 เรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจในตอนนี้ จากรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3/2565 ของสำนักงานสภาพัฒน์ฯ ได้แก่

ที่พัก-ร้านอาหาร ฟื้นตัว

ในไตรมาส 3 การผลิตในภาคบริการในภาพรวมเติบโตได้ 5.3% แต่การให้บริการที่พักแรมโตได้ถึง 93% ในช่วงที่ผ่านมา จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในไตรมาสเดียวก็มีต่างชาติเข้ามาเที่ยวกว่า 3.6 ล้านคน อัตราการเข้าพักเติบโต 730%

นอกจากนี้ การให้บริการอาหารก็เติบโตได้ถึง 44.6% จากไตรมาสก่อนที่โตได้ราว 23.8% เห็นได้ชัดว่าเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่เปิดขึ้น การเติบโตของที่พักและร้านอาหารที่สูงลิบและยืนเหนือภาคบริการโดยรวมทำให้เห็นชัดว่าธุรกิจเหล่านี้กำลังกลับมา

คนกลับมาใช้จ่ายปกติ

ช่วงที่ผ่านมา ตลาดแรงงานฟื้นตัว มาตรการเริ่มผ่อนคลาย ผู้คนจึงเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ การใช้จ่ายในการบริโภคกลับมาเร่งตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะในหมวดภัตตาคารและโรงแรมที่โตขึ้น 88.4% โดยรวม และหากแยกดูต่างหากจะพบว่าบริการโรงแรมโตขึ้นถึง 1,309.4% ส่วนบริการภัตตาคารโตขึ้นราว 53.3% 

hotel ohospitality โรงแรม บริการ

เงินเฟ้อ ของแพง ยังเป็นปัญหา

จากสถานการณ์ระดับโลก กระทบราคาอาหารสด อาหารสำเร็จรูป และพลังงาน กระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพของภาคครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น 9% นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็เคยพุ่งไปแตะ 7.86% สูงสุดในรอบกว่า 14 ปี แต่อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ฯ คาดว่าเงินเฟ้อเมื่อสิ้นปี 2022 จะอยู่ที่ 6.3% และจะลดลงมาอยู่ในช่วง 2.5% ถึง 3.5% ในปีหน้า

ที่มา – NESDC, Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา