ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2566 ลงมาสู่ระดับ 2.5 – 3.0% (ค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ 2.8%) จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ในเดือน พ.ค. ที่ระดับ 2.7 – 3.7% (ค่ากลางประมาณการอยู่ที่ 3.2%)
อย่างไรก็ตามปี 2566 นี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 1.7 – 2.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2% ของ GDP เทียบกับการขาดดุล 3.0% ของ GDP ในปี 2565
ทั้งนี้ มองว่าสาเหตุหลักที่ต้องปรับลด GDP ไทยปี 2566 มาจาก 3 ด้าน ดังนี้
เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน
เศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยมีการปรับลดประมาณการการส่งออกสินค้าให้สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณการส่งออกสินค้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ที่ปรับตัวลดลง 6.1% รวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของปริมาณการค้าโลกท่ามกลางความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มที่จะยกระดับความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้
ในการประมาณการครั้งนี้คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะติดลบ 1.8% เทียบกับการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะติดลบ 1.1%
การเบิกจ่ายภาครัฐ
การเบิกจ่ายภาครัฐจะได้รับผลกระทบในไตรมาส 4 ปีนี้ ประเมินว่าแนวโน้มการเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่จะต่ำกว่าที่คาดภายใต้ความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลและกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจ่าปี 2567 โดยคาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2566 จะอยู่ที่ 18.7% ของงบประมาณทั้งหมด ต่ำกว่าระดับ 20% ที่คาดไว้เดิม
ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 17.2% จำแนกเป็น การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ (20%) และรายจ่ายลงทุน (6%)
นอกจากนี้ ยังคาดว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจจะอยู่ที่ 65% ของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุน ต่ำกว่า 70% ที่คาดไว้เดิมส่งผลให้ในการประมาณการครั้งนี้คาดว่าการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐจะลดลง 3.1% เทียบกับ 2.6% ในการประมาณครั้งก่อน ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 2.0% ลดลงจาก 2.7%ในการประมาณการครั้งก่อน
การปรับลดสมมติฐานประมาณการรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
การปรับลดสมมติฐานประมาณการรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 1.03 ล้านล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.27 ล้านล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อหัวที่ลดลง โดยแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มที่เดินทางระยะใกล้และพำนักระยะสั้นจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม ลาว และสิงคโปร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อหัวไม่สูงเท่ากลุ่มที่พำนักระยะยาวและเดินทางระยะไกลโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันตก
นอกจากนี้ ไตรมาส 2 ปี 2566 นี้ GDP ไทยขยายตัวที่ 1.8% ถือว่าต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และเมื่อรวมกับการขยายตัวในไตรมาส 1 ปีนี้ (ที่ระดับ 2.6%) ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัว 2.2% ซึ่งทำให้การขยายตัวทั้งปีมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าขอบล่างของการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สาเหตุที่ GDP ไทยเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ยังคงมาจาก 1) การส่งออกไทยในไตรมาส 2 ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาด ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าส่าคัญๆ และ 2) การเบิกจ่ายงบลงทุนอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐในไตรมาส 2 ต่ำกว่าที่คาดไว้
ที่มา – NESDC
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา