เจาะอสังหาเกิดใหม่ – ส่งออกไปต่างประเทศ ทางออกผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไทย

ช่วงเศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ ผู้บริโภค และองค์กรต่างๆ ค่อนข้างรัดเข็มขัดกันพอสมควร จนเหตุการณ์นี้กระทบไปหลากหลายอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะจนแล้วจนรอด ถ้าเฟอร์นิเจอร์ขายแพงเกินไป ผู้ซื้อก็ตัดสินใจซื้อแค่สิ่งที่เอามาใช้งานจริงมากกว่า

ดีไซน์อาจช่วยไม่ได้ทั้งหมด

ไชยยงค์ พงศ์สุทธิมนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แนะนำว่า ในยุคที่ทุกคนต้องการซื้ออะไรที่จำเป็น การเน้นดีไซน์เพื่อขายในราคาสูงอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะถึงกำลังซื้อของกลุ่มผู้ซื้อระดับไฮเอนด์ไม่ได้ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก แต่กลุ่มผู้ซื้อหลักที่เป็นองค์กร และผู้บริโภคกลุ่มกลางถึงล่าง ยังต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์เพื่อนำไปใช้งานจริง และไม่อิงกับดีไซน์มากนัก ทำให้ภาพรวมตลาดเฟอร์นิเจอร์ครึ่งปีแรกหดตัว 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีมูลค่าราว 70,000 ล้านบาท

“ครึ่งแรกมันหดตัวจากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจไม่มาเต็มที่ ดังนั้นกลุ่มผู้ผลิตทั้งที่เป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ และเอสเอ็มอีรายย่อยต้องคิดให้ออกว่าจะเดินไปทางไหนต่อ เช่นจะไปขายออนไลน์แทนไหม หรือจะเน้นสร้างแบรนด์ให้แข็งขึ้นเพื่อนเจาะตลาดส่งออกไปเลย เพราะถ้าพูดถึงส่งออก สินค้าไทยยังเป็นที่นิยมของลูกค้าต่างชาติ ผ่านการใช้ไม้จริง เช่นไม้สัก และไม้ยางพารา ประกอบกับดีไซน์ที่แตกต่าง ทำให้ผู้ซื้อจากประเทศจีน, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาชื่นชอบสินค้าของไทย”

tfec
ไชยยงค์ พงศ์สุทธิมนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เข้าโปรเจคคอนโดช่วยแก้วิกฤติได้

อย่างไรก็ตามในวิกฤติเรื่องเศรษฐกิจซบ ยังมีโอกาสของกลุ่มผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์อยู่ เพราะปัจจุบันมีโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งหมู่บ้าน, คอนโดมีเนียม และออฟฟิศสำนักงาน ซึ่งเจ้าของโครงการเหล่านี้ต้องการเฟอร์นิเจอร์แบบยกชุด และเหมารวมทั้งโครงการ และถึงผู้เล่นในตลาดเฟอร์นิเจอร์จะมีมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของโครงการต่างๆ แต่การจะเข้าไปรับผิดชอบโครงการเหล่านี้ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์จำเป็นต้องศึกษาการบริหารต้นทุน และการออกแบบ รวมถึงการสร้างแบรนด์เพื่อไปแข่งขันกับผู้เล่นรายอื่นด้วย

ทั้งนี้ทางกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตฯ มีการเข้าไปช่วยเหลือผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์โดยตลอด เช่นเป็นตัวกลางในการหาแหล่งเงินทุนให้กับผู้ผลิต รวมถึงการติดต่อกับผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อส่งงานให้กับผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนี้การที่ภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2559 เริ่มฟื้นตัวเล็กน้อย ทำให้เมื่อรวมปัจจัยทั้งหมด ภาพรวมการบริโภคเฟอร์นิเจอร์น่าจะกลับขึ้นมาเติบโตถึง 5% ส่งผลถึงผู้ผลิตรายย่อยต่างๆ จะรับงานมากขึ้น และมีเงินหมุนเวียนไปต่อยอดในอนาคต

เมียนมาคือเป้าหมายใหม่ของผู้ส่งออก

สำหรับมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไทยปัจจุบันอยู่ที่ 1,200 ล้านดอลลาส์สหรัฐ หรือประมาณ 41,000 ล้านบาท มาจากตลาดสหรัฐอเมริกา 32% ญี่ปุ่น 23% พื้นที่อาเซียน 20% ยุโรป 10% จีน 7% และที่เหลือคือกลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งหลังจากประเทศเมียนมาเปิดประเทศ และเกิดการลงทุนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากที่นั่น ทำให้เมียนมากลายเป็นโอกาสสำคัญของผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไทยในการเข้าไปทำตลาด เพราะด้วยการขนส่งที่ใกล้ และตัวสินค้าที่มีคุณภาพ ทำให้เจ้าของโครงการหลายรายเลือกผู้ผลิตจากประเทศไทย

“ถึงกำลังซื้อในพื้นที่อาเซียนจะมีไม่มาก เพราะเป็นประเทศกำลังพัฒนา เทียบอะไรไม่ได้กับสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว แต่ด้วยวัฒนธรรมที่คล้ายกัน ประกอบกับไทยมีวัสดุจากธรรมชาติจำนวนมาก และฝีมือก็ดีกว่าชาติอื่นๆ ทำให้ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่พลาดโอกาสอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ ก็สามารถขยายตลาดออกมาต่างประเทศได้ง่ายขึ้น และถ้ารองจากเมียนมา ก็ยังมีเวียดนาม และอินโดนีเซียที่ชื่นชอบสินค้าไทยรองรับอยู่เช่นกัน”

ย่างกุ้ง อีกหนึ่งเมืองเศรษฐกิจของเมียนมาที่เริ่มมีการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

สรุป

อสังหาริมทรัพย์ทั้งหมู่บ้าน และคอนโดที่เกิดใหม่ อาจช่วยกระตุ้นยอดซื้อให้กับผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ได้ แต่เมื่อเจาะไปที่กลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อย โอกาสเหล่านั้นอาจมาไม่ถึง และถึงจะเข้าโปรเจคขนาดใหญ่ได้ ก็มีเปอร์เซนต์สูงที่จะหมุนเงินไม่ทัน ผ่านการที่เจ้าของโครงการคำนวนมูลค่าเฟอร์นิเจอร์ไว้กับค่าผ่อนคอนโด หรือเช่าสำนักงานไว้แล้ว ดังนั้นคงไม่แปลกที่จะเห็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ข้างถนนยังคงเงียบเหงาจนถึงทุกวันนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา