ไทยน่าห่วง! ทุนสำรองลดลงมากสุดในตลาดเกิดใหม่เอเชีย ผลแทรกแซงค่าเงินหนักสู้ดอลลาร์แข็งค่า

ไทยน่าห่วง Bloomberg รายงาน ทุนสำรองลดลงมากสุดในตลาดเกิดใหม่เอเชีย ผลแทรกแซงค่าเงินหนักสู้ดอลลาร์แข็งค่า หลังจากนี้จะพยุงค่าเงินได้จำกัดกว่าเดิม

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่เอเชียหลายประเทศกำลังเผชิญภาวะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างหนัก อาจบั่นทอนศักยภาพในการพยุงค่าเงินในอนาคต ท่ามกลางบรรยากาศของการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าต่อเนื่อง

หนึ่งในชี้วัดสำคัญในการชี้วัดปริมาณเงินสำรองคือ จำนวนเดือนที่แต่ละประเทศสามารถรองรับการนำเข้าด้วยปริมาณเงินตราต่างประเทศที่มีอยู่ 

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ข้อมูลจาก Standard Chatered ชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขนี้ลดลงเหลือ 7 เดือนในตลาดเกิดใหม่เอเชีย ต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤติการเงินระดับโลกในปี 2008 ทั้งนี้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 10 เดือน และเคยแตะจุดสูงสุดที่ 16 เดือน ในเดือนสิงหาคม 2020 

ด้วยปริมาณเงินสำรองที่ลดลงเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าศักยภาพในการป้องกันค่าเงินได้ถูกบั่นทอนลงอย่างหนัก Divya Devesh หัวหน้าฝ่ายวิจัยอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศของ Standard Chatered สิงคโปร์ระบุว่า “ปริมาณทุนสำรองที่ลดลงหมายความว่า ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ จะสามารถแทรกแซงค่าเงินเพื่อพยุงค่าเงินของตนเองได้จำกัดกว่าเก่า และในภาพร่วมเราหวังว่าธนาคารกลางจะมีนโยบายพยุงอัตราแลกเปลี่ยนออกมาน้อยลง”

Thai Bank Note ธนบัตรไทย
ภาพจาก Shutterstock

ประเทศไทย คือประเทศที่ทุนสำรอง (เมื่อเทียบกับ GDP) ลดลงมากที่สุด จาก 48.6% เหลือ 43.1% ตามมาด้วยมาเลเซียและอินเดีย จากข้อมูลที่รวบรวมโดย Bloomberg

“ด้วยตัวเลข ณ ตอนนี้ ประเทศไทย ถือว่าน่ากังวลเหมือนกับฟิลิปปินส์ อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย” Vishnu Varathan หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์จากธนาคาร Mizuho สิงคโปร์ ระบุ

Varathan กล่าวต่อไปว่า หลายประเทศกำลังอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก ทั้งค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ความเสีย่งจากภาวะถดถอย และภาวะเงินเฟ้อ ถูกทำให้แย่ขึ้นไปอีกจากราคาสินค้าที่พุ่งทะยาน หมายความว่าธนาคารกลางของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียไม่สามารถเชื่อมั่นได้เต็มที่ว่าพวกเข้าได้ผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาแล้ว

ที่มา – Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน