ปัญหาประมงเกินขนาด (overfishing) กำลังสั่นคลอนความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าในปี 2562 ปริมาณการจับสัตว์ทะเลทั่วโลก มีจำนวน 92.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 820% จากปี 2493 และในจำนวนนี้เป็นประมง overfishing กว่า 34.2% ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีการเดินเรือและการขยายตัวของอุตสาหกรรมประมง ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของประชากรที่มากขึ้น
FAO คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการอาหารทะเลจะเพิ่มขึ้นจาก 20 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เป็น 25.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปี 2593 ซึ่งหากไม่มีการจัดการทรัพยากรทางทะเลที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ก็อาจจะนำไปสู่ความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมประมงเอง
สหภาพยุโรป (อียู) ในฐานะกลุ่มประเทศผู้นำเข้าสินค้าประมงรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ออกกฎระเบียบ Illegal, Unreported and Unregulated Fishing (IUU Fishing) หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหา overfishing ให้ทุกประเทศที่ส่งออกสินค้าประมงไปยังอียูดำเนินการแก้ไขปัญหา IUU Fishing อย่างจริงจัง โดยไทยในฐานะประเทศที่มีการส่งออกสินค้าประมงสูงสุดเป็นอันดับ 7 ของโลก ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกในปี 2564 จำนวน 1.95 แสนล้านบาท และมีการจับสัตว์ทะเลเป็นอันดับ 15 ของโลก ได้ถูกเพ่งเล็งด้านปัญหา IUU Fishing จากอียู
จนในปี 2558 อียูได้ประกาศให้ใบเหลืองไทย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการใช้มาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าสินค้าประมงจากไทย หากทางการไทยยังคงเพิกเฉยต่อปัญหาดังกล่าว ทำให้มีความพยายามด้านกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาตามคำแนะนำของอียู เช่น การบังคับใช้ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 รวมทั้งแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย (Marine Fisheries Management Plan of Thailand, FMP) พ.ศ. 2558 – 2562 ที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์อ้างอิงระดับผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield, MSY) ในการกำหนดปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทำการประมงในน่านน้ำไทย และ ทำให้การลงแรงประมง และปริมาณการจับปลาในน่านน้ำไทยปัจจุบันต่ำกว่าค่า MSY จนอียูปลดใบเหลืองประมงไทยเมื่อ 8 มกราคม 2562
ผลกระทบของการทำประมงที่เกินศักยภาพหรือ overfishing ที่ผ่านมา ส่งผลให้สถิติปริมาณการประมงในธรรมชาติของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมีระดับต่ำที่สุดในปี 2560 โดยมีจำนวน 1.49 ล้านตัน ลดลงครึ่งหนึ่งจากปริมาณผลผลิตประมงที่เคยจับได้ในปี 2543 ที่มีจำนวน 3 ล้านตัน
ทั้งนี้ ความพยายามด้านการปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา IUU Fishing ที่ผ่านมาของภาครัฐ และการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทยในฉบับปัจจุบัน (FMP พ.ศ. 2563 – 2565) ที่เน้นพัฒนาแนวทางการปฏิรูปการประมงจากความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา IUU Fishing และเสริมสร้างความยั่งยืนแก่ทรัพยากรประมงเพิ่มเติมจาก FMP ฉบับเดิม เช่น การขยายการทำประมงอย่างยั่งยืนเข้าสู่ระดับ MSY ไปยังเขตทะเลน้ำลึก และนอกน่านน้ำ การใช้แนวทางปฏิบัติว่าด้วยความสมัครใจเกี่ยวกับความปลอดภัยและความยั่งยืนของการทำการประมงขนาดเล็กเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงชายฝั่ง ประกอบกับสถานการณ์ COVID-19 ที่กลายเป็นโอกาสให้ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศน์ได้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น จนทำให้ปริมาณผลผลิตประมงเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.63 ล้านตันในปี 2564
ทั้งนี้ ปริมาณผลผลิตทางการประมงที่จับได้ในธรรมชาติที่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลจากการกำหนดกฎระเบียบ ทำให้มีการรายงาน และการควบคุมการทำประมงตามช่วงเวลาและปริมาณที่เหมาะสม อย่างไรก็ดีผลผลิตทางการประมงอาจยังไม่สามารถฟื้นฟูได้ถึงในระดับที่ทรัพยากรธรรมชาติยังคงอุดมสมบูรณ์เช่นในอดีตได้ในระยะอันใกล้นี้ ดังนั้น อุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ยังคงต้องรักษามาตรฐานการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องตามกฎหมายและปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป
เนื่องจากจะมีการบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เช่น การดำเนินมาตรการตามร่างแผนบริหารจัดการประมง พ.ศ. 2566 – 2570 ของทางการไทย ที่ต้องการให้อุตสาหกรรมประมงของไทยปลอดสินค้าสัตว์น้ำจาก IUU Fishing ควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้มีความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งในอนาคตการทำประมงพาณิชย์ในแหล่งน้ำธรรมชาติคงจะเผชิญกับข้อจำกัดที่มากขึ้น จากปริมาณทรัพยากรทางทะเลที่ลดน้อยลง ประกอบกับความพยายามในการอนุรักษ์และสร้างความยั่งยืนให้แก่ทรัพยากรทางทะเลที่เพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดทางออกของอุตสาหกรรมประมงที่ยั่งยืน อาจเหลือเพียงการอนุญาตให้ทำประมงพื้นบ้านในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งที่ผ่านมามักได้รับผลกระทบจากการทำประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำภายใต้การควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สามารถควบคุมและติดตามได้ง่าย
นอกจากนี้ ทรัพยากรทางทะเลยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่น ๆ จากการกระทำของมนุษย์อีก เช่น ปัญหาขยะ สารเคมี รวมทั้งผลกระทบทางอ้อมที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน ดังนั้นต้องรณรงค์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริโภคทุกคนควรช่วยกันหาหนทางรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลก รวมทั้งทรัพยากรทางทะเลให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคตต่อไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา